เฮือกๆๆ…ฟี้…หายใจแรง…คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตอาการเหล่านี้ในขณะลูกน้อยหลับหรือเปล่า ถ้าพบว่าพวกเขากรนมากกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์ มีเสียงเงียบและหยุดหายใจตามมา แล้วยังปัสสาวะรดที่นอนร่วมด้วย ถ้าลูกน้อยมีอาการดังกล่าว ให้คุณพ่อคุณแม่นึกไว้อย่างแรกเลยว่าลูกอาจเริ่มเกิดภาวะการนอนกรนในเด็ก
สาเหตุของการนอนกรนในเด็ก
- โรคอ้วนในเด็ก แป้งและไขมันที่รับประทานเข้าไปจะไปสะสมบริเวณหลอดทางเดินหายใจ
- จะพบต่อมทอนซิลและเหนือต่อมอะดีนอยด์โต โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นหวัดบ่อย
- ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ เยื่อบุภายในบวมทำให้อุตันทางเดินหายใจ
- โรคทางสมองและกล้ามเนื้อทำงานไม่ดีมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ
- โครงหน้าผิดปกติเช่น คางสั้น
โดยหลักๆ แล้วการนอนกรนในเด็กนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้น ภาวะการหยุดหายใจนั้นจะทำให้ออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด “คั่ง” ส่งผลให้ประสิทธิภาพการนอนลดลง และอีกประเภทคือ การตีบของทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น จมูก ช่องคอ โคนลิ้น กล่องเสียง จะเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ
วินิจฉัยอาการของการนอนกรนในเด็ก
ในเบื้องต้นนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้แบบสอบถามจำนวน 18 ข้อ ในการประเมินความรุนแรงอาการ ถ่ายภาพรังสีเพื่อดูขนาดของต่อมอะดีนอยด์ว่ามีการโตหรือไม่และตรวจดูโครงสร้างของกะโหลกศีรษะ ตรวจค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนขณะหลับ หรือตรวจการนอนหลับแบบเต็มรูปแบบซึ่งเป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานแต่จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
รักษาอาการนอนกรนในเด็ก
1. การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ เกิดจากต่อมทอนซิลและเหนือต่อมอะดีนอยด์โต
2. การใช้ยา
- ยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ รักษาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ได้ หรือหลังผ่าตัดยังมีภาวะหยุดหายใจชนิดที่ไม่รุนแรงเหลืออยู่
- ยา Montelukast รักษาในอาการป่วยที่ไม่รุนแรง
3. ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง รักษาในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจหลังการผ่าตัดเหลืออยู่ ที่มีความสัมพันธ์กับภาวะโรคอ้วน โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติและผู้ป่วยที่ปฏิเสธหรือไม่สามารถผ่าตัดได้
4. การรักษาอื่น ๆ เช่น การให้ออกซิเจนขณะหลับ, การใช้ oral appliance, rapid maxillary expansion
คุณพ่อคุณแม่นั้นจะต้องหมั่นสังเกตอาการของเด็ก หากพบพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ แล้วไม่รีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจส่งผลต่อพฤติกรรมในเด็กในระยะยาวได้ เช่น การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ตามวัย สมาธิสั้น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ทางที่ดีหากไม่แน่ใจควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์กุมารเวชเพื่อให้แพทย์วินิฉัยและประเมินอาการดังกล่าว