
“เมื่อเป็นริดสีดวงทวารต้องผ่าตัดเท่านั้น” นี่คือความเข้าใจผิดที่ทำให้หลายคนไม่กล้ามาพบแพทย์ เพราะกังวลกับการต้องผ่าตัด ทั้งที่จริงๆ แล้วการรักษาริดสีดวง “ไม่จำเป็น” ต้องผ่าตัดเสมอไป ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนว่ารุนแรงแค่ไหน ว่าแต่ริดสีดวงระยะไหนกันนะ...ที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด สังเกตอาการของคุณให้ดีแล้วมาประเมินไปพร้อมๆ กัน!!!
ลักษณะอาการแบบนี้...ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจทวารหนัก!
- มีเลือดออกหลังถ่ายอุจจาระ
- มีก้อนยื่นออกมาขณะถ่ายอุจจาระ
- ทวารหนักเปียกแฉะ คันรอบๆ ปากทวารหนัก
- มีการอักเสบของริดสีดวง และเจ็บบริเวณทวารหนัก
- เวลาคลำจะพบก้อนบริเวณทวารหนัก
คุณกำลังเป็น...ริดสีดวงระยะไหนนะ?
- ระยะที่ 1 : มีเลือดออกหลังขับถ่ายอุจจาระ แต่หัวริดสีดวงจะอยู่ภายในรูทวารหนัก...ยังไม่ยื่นออกมา
- ระยะที่ 2 : หัวริดสีดวงโผล่ออกมาในขณะขับถ่ายอุจจาระ และหดกลับได้เอง
- ระยะที่ 3 : หัวริดสีดวงยื่นออกมาขณะขับถ่ายอุจจาระ และต้องใช้มือดันให้หดกลับเข้าไป
- ระยะที่ 4 : หัวริดสีดวงยื่นออกมา และใหญ่เกินกว่าจะหดกลับเข้าไปได้
แนวทางการรักษา...ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง
- ระยะที่ 1-2 อาการยังไม่รุนแรง : สำหรับผู้ป่วยที่เข้ามาพบแพทย์ในขณะที่ริดสีดวงยังอยู่ในระยะไม่รุนแรง การรักษา...อาจจะไม่ต้องถึงขั้นผ่าตัด!! แต่อาจมีการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น กินอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว เลี่ยงพฤติกรรมนั่งเล่นโทรศัพท์ในขณะขับถ่าย อาจมีการให้ยาระบายอ่อนๆ เพิ่มเติม หรือฉีดยาเพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อ ควบคู่กับการทานอาหารกากใยสูง
- ระยะที่ 3-4 อาการมีความรุนแรง : สำหรับผู้ป่วยที่มาด้วยริดสีดวงระยะที่ 3-4 จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น! ซึ่งในปัจจุบันมีเทคนิคมากมาย ทั้งการใช้ยางรัดริดสีดวง การเย็บผูกริดสีดวง หรือการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือผ่าตัดแบบเย็บอัตโนมัติ
การตรวจประเมินภาวะริดสีดวง ด้วยเครื่อง Procto scope
เพราะริดสีดวงมีอยู่ด้วยกันหลายระยะ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความรุนแรงของริดสีดวงของคุณกำลังอยู่ในระยะไหน ดังนั้น การตรวจประเมินจึงเป็นเหมือนการตรวจหาระยะของริดสีดวง โดยการใช้เครื่อง Procto scope สอดเข้าทางทวารหนัก เมื่อแพทย์ทราบถึงระดับความรุนแรง ก็จะทำการวางแผนการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมในขั้นตอนต่อไป
ข้อดีของการเข้ามารับการตรวจ ไม่เพียงเพื่อเช็คระดับความรุนแรงของโรค แต่อาจจะค้นพบความจริงที่ว่าคุณไม่ได้เป็นริดสีดวงก็ได้นะ!!! เพราะการถ่ายเป็นเลือดอาจไม่ใช่ริดสีดวงเสมอไป และในบางครั้ง ก็อาจร้ายแรงถึงขั้นเป็น “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ได้เลยทีเดียว