
มะเร็งหลังโพรงจมูก โรคที่พบได้ในกลุ่มผู้ชายอายุ 40-50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ และเพื่อให้เรารู้จักโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกมากยิ่งขึ้น พญ.จันทิมา อารยางกูร แพทย์ประจำคลินิก หู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไท 2 จึงมาให้ความรู้เรื่องของโรคมะเร็งโพรงจมูก เพราะหากเราเข้าใจโรค..เราก็จะรู้ทันสัญญาณเตือนและได้รับการรักษารวดเร็วขึ้น
อาการเบื้องต้นของมะเร็งหลังโพรงจมูก
- มีเสลดปนเลือด
- มีเลือดกำเดาไหล
- หูอื้อเรื้อรัง
- มีก้อนที่คอ
ระยะการเติบโตของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก
มะเร็งโพรงจมูก มีระยะการเติบโตของโรคเหมือนกับโรคมะเร็งทั่วไป แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
- ระยะที่ 2 : ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ
- ระยะที่ 3 : ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง
- ระยะที่ 4 : ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่โตมาก และลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะข้างเคียง
การตรวจวินิจฉัยค้นหาสาเหตุ
หากสงสัยว่าเป็นมะเร็งโพรงจมูกและมาเข้าพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกาย ดังนี้
- ตรวจระบบ หู คอ จมูก
- ส่องกล้องเพื่อหาความผิดปกติของก้อนเนื้อในโพรงจมูก ถ้าพบก้อนเนื้อ จะต้องตัดชิ้นเนื้อออกไปตรวจว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่
- หากคนไข้มาด้วยอาการก้อนที่คอ แพทย์จะต้องเจาะก้อนในคอไปตรวจ
- ตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือด
- X-ray เพื่อแบ่งระยะโรคและรักษาตามระยะ
แนวทางการรักษาโรคมะเร็งโพรงจมูก
การรักษาโรคมะเร็งโพรงจมูกมี 2 วิธีคือ
- ในระยะเริ่มต้น จะใช้วิธีการฉายแสง ให้เคมีบำบัด
- การผ่าตัดจะเริ่มในระยะที่ 3 เป็นต้นไป คือ เมื่อคนไข้เริ่มหายใจไม่ได้ เพราะก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจ
อันตรายที่เกิดขึ้นได้หากปล่อยไว้ไม่รักษา
หากคนไข้ปล่อยให้มะเร็งเติบโตต่อไปโดยไม่เข้ารับการรักษา มะเร็งหลังโพรงจมูกสามารถลุกลามขึ้นสมองได้ คนไข้อาจมีอาการปวดศีรษะ มีอาการทางระบบประสาท ตาพร่ามัว มองไม่ชัด มีเลือดกำเดาไหลได้ ถ้าไม่รักษาสุดท้ายก็อาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก
การดูแลร่างกายที่ดีที่สุด คือการลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี
ถ้าคนไข้มีอาการหูอื้อ มีเลือดไหลอยู่บ่อยๆ บ้วนน้ำลายออกมาแล้วมีน้ำมูกปนเลือด หรือหูอื้อเรื้อรัง อาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ดีที่สุด เพราะยิ่งเริ่มวินิจฉัยเร็ว...ก็จะยิ่งได้รับการรักษาเร็ว โอกาสในการหายก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
ข้อมูลโดย
พญ.จันทิมา อารยางกูร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโสต ศอ นาสิก และการผ่าตัดมะเร็งศีรษะและลำคอ
ศูนย์ศัลยกรรมศีรษะและลำคอ โรงพยาบาลพญาไท 2
โทร. 0-2617-2444 ต่อ 1235,1236