
พังผืดใต้ลิ้น เป็นอุปสรรคอย่างนึงของการให้นมแม่ เจ้าพังผืดเล็กๆนี้ทำให้ลูกน้อยดูดนมได้ไม่ดี เต้านมคุณแม่จึงไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเพียงพอ เมื่อน้ำนมคุณแม่ไหลไม่ดี ปริมาณน้ำนมจึงไม่เพียงพอแก่ลูกน้อยจนต้องเสริมด้วยนมผง แต่ความจริงแล้ว ปัญหาพังผืดใต้ลิ้นของลูกน้อยสามารถแก้ได้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกสามารถกลับไปดูดกระตุ้นเต้าคุณแม่ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อลูกกลับมาดูดได้ดี ปริมาณน้ำนมของคุณแม่ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเพียงพอและไม่จำเป็นต้องเสริมนมผง
รู้จักกับ พังผืดใต้ลิ้น
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ ทารก, คุณแม่, และสิ่งแวดล้อม โดยการการดูดนมแม่ของทารกนั้น จะเริ่มจากการดูดเบาๆ ซึ่งต้องใช้การเคลื่อนไหวของปลายลิ้น (let down reflex) ลิ้นของทารก จะต้องสามารถยก แลบลิ้นออกมา และดึงกลับ เพื่อรีดบนลานนมของคุณแม่ได้ (latching)
ปกติทารกทุกคนจะมีแผ่นเล็กๆ บริเวณโคนลิ้น ที่เรียกว่า พังผืดใต้ลิ้น (lingual frenulum) แต่ในทารกที่มีแผ่นนี้ยึดติดมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะลิ้นติด (tongue-tie หรือ ankyloglossia) ซึ่งพบได้ถึง 16% ของทารกแรกเกิดทั้งหมด แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจ เพราะภาวะพังผืดใต้ลิ้น นับเป็นปัจจัยทางกายภาพที่สามารถแก้ไขได้ง่ายและเร็วที่สุด ในกรณีที่คุณแม่มีหัวนมแบนหรือบุ๋ม การแก้ไขภาวะลิ้นติดในทารกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดนมได้ถึง 50-60% ส่วนคุณแม่ที่มีหัวนมปกติ การผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้นของทารกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดนมทันทีถึง 95%
จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกมีพังผืดใต้ลิ้น
ถ้าคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจมีภาวะลิ้นติด หรือ พังผืดใต้ลิ้น คุณแม่สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ คลินิกศัลยกรรมเด็กและทารก (กุมารศัลยกรรม) หรือคุณแม่สามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากอาการเหล่านี้
- นมแม่มาน้อย
- แม่หัวนมแตก (cracked nipple) เจ็บหัวนม ช้ำ หรือเป็นแผล
- ลูกไม่ยอมดูดเต้า ลูกไม่เข้าเต้า ไม่เอาเต้า ดูดนมช้า (difficult breastfeeding)
- ลูกไม่สามารถแลบปลายลิ้นออกมาพ้นริมฝีปากล่าง
- ลูกตัวเหลืองหลังคลอด (breast feeding jaundice)
- ลูกทำเสียงขณะดูดนมแม่ (googling หรือ clicky sound)
- ลูกน้ำหนักตัวขึ้นน้อย ตกเกณฑ์
- พูดไม่ชัด (speech impediment)
- ฟันผุ
โดยปกติแล้วปริมาณนมแม่จะมากหรือน้อยขึ้นกับความต้องการนมแม่ของลูก ในกรณีคลอดธรรมชาติ ถ้าคุณแม่ไม่มีปัญหาตกเลือดหลังคลอด น้ำนมแม่ควรมาภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กรณีที่ผ่าตัดคลอดน้ำนมก็ควรมาภายใน 72 ชั่วโมง แต่หากลูกเกิดมามีพังผืดใต้ลิ้น ลูกจะดูดนมได้ไม่ดีเท่าที่ควร รีดน้ำนมออกจากเต้าแม่ได้น้อย แม่ก็จะผลิตน้ำนมน้อยลงเรื่อยๆ จนในที่สุดอาจทำให้น้ำนมแม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
เนื่องจากลูกน้อยต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการดูด ต้องใช้แรงมาก เพราะไม่สามารถแลบลิ้นออกมาได้ ลูกจึงใช้เหงือกงับหัวนมแม่ ทำให้คุณแม่รู้สึกว่าเจ็บหัวนม เวลาลูกเข้าเต้า จะเหมือนมีอะไรแข็งๆมางับ ถ้าคุณแม่เจ็บมากแล้วยังอดทนให้นมลูกต่อ จะทำให้หัวนมช้ำและแตกเป็นแผลในที่สุด ซึ่งอาจเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้
ภาวะลิ้นติดทำให้ลูกดูดนมได้ไม่ดี ดูดไม่ได้ (Pop off) ดูดเต้านานแต่ไม่อิ่มท้อง หิวบ่อย ลูกร้องไห้บ่อย ในช่วงกลางคืนคุณแม่ต้องตื่นมาให้นมลูกบ่อยครั้ง ทุกครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง (ในเด็กที่ไม่มีพังผืดใต้ลิ้น จะตื่นมากินนม โดยประมาณทุก 2-3 ชั่วโมง)
ปลายลิ้นเป็นรูปใบโพธิ์ หรือรูปหัวใจคว่ำ และอาจมีร่องบริเวณกลางลิ้น เนื่องจากพังผืดใต้ลิ้น ทำให้ลูกไม่สามารถกระดกลิ้นไปเลียริมฝีปากบนได้ หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวลิ้นไปข้างๆได้
ส่วนมากสาเหตุของภาวะตัวเหลืองหลังคลอด จะเกิดจากภาวะหมู่เลือดของแม่และลูกไม่เข้ากัน (ABO incompatibility) แต่ในทารกบางคนที่ดูดนมแม่ได้น้อยและไม่เพียงพอ จะทำให้ระบบขนส่งของเสียในลำไส้ทำงานได้ไม่เต็มที่ (enterohepatic circulation) จึงอาจเกิดภาวะตัวเหลืองได้ หากพบว่ามีน้ำหนักลดลงมากกว่าปกติหลังกินนมแม่ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
เป็นเสียงคล้ายกระเดาะลิ้น เนื่องจากลูกไม่สามารถแลบลิ้นเพื่อรีดลานหัวนมได้ ทำให้เต้านมไม่แนบสนิท ทั้งนี้ยังต้องแยกภาวะพังผืดริมฝีปากด้วย (lip tie) สังเกตได้ว่าเวลาที่คุณแม่ให้นมอาจมีน้ำนมไหลออกจากปากลูก และยังอาจทำให้ลูกท้องอืด แหวะนมง่าย และสำลักนมได้ เนื่องจากมีลมแทรกเข้าไปในขณะดูดนม นอกจากนี้อาจสังเกตได้จากการที่ลูกเล่นน้ำลายก่อนอายุ 4 เดือน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการกลืนที่ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
น้ำนมส่วนหลัง หรือ hind milk อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว Linoleic (Ω6) และ Linolenic (Ω3) ที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้าง myelin sheath ในการพัฒนาสมอง และยังมีกรดไขมันอิ่มตัวชนิดสายโซ่ยาว (long-chain polyunsaturated fatty acid) ที่สำคัญ คือ DHA (Docosahexaenoic acid) (Ω3) และ ARA หรือ AA (Arachindonic acid) (Ω6) การดูดนมได้ไม่เพียงพอ ดูดได้ไม่ถึง hind milk ทำให้ทารกน้ำหนักตัวขึ้นน้อย
เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เด็กจะเริ่มหัดออกเสียงภาษา “พังผืดใต้ลิ้น” จะทำให้เกิด “ภาวะลิ้นติด” ปลายลิ้นจึงไม่สามารถขยับได้เต็มที่ ทำให้การออกเสียง พยัญชนะที่มีฐานกำเนิดเสียงจากปุ่มเหงือกและฟัน ทำได้ไม่ชัดเจน ได้แก่เสียง /ซ/ /ด/ /ต/ /ท/ /น/ /ร/ /ล/ โดย พยัญชนะ /ร/ จะสังเกตได้ชัดที่สุด รวมทั้งคำภาษาอังกฤษที่ขึ้นต้นด้วย T, D, Z, S, Th, R, L เช่น lollipop ทำให้เมื่อโตขึ้นลูกอาจเสียบุคลิกภาพ และขาดความมั่นใจ
มักพบในเด็กโต เนื่องจากจากยึดติดของพังผืดใต้ลิ้น จะทำให้เด็กไม่สามารถตวัดปลายลิ้น เพื่อทำความสะอาดเศษอาหารบริเวณซอกฟันด้านในได้ เศษอาหารที่ค้างร่วมกันการแปรงฟันที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดฟันผุตามมาได้ครับ
พังผืดใต้ลิ้นรักษาได้ อย่าปล่อยให้พังผืดใต้ลิ้นขัดขวางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
การผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้น (tongue tie revision) เป็นการผ่าตัดขนาดเล็กโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น กรรไกรปลอดเชื้อเล็กๆตัดขลิบใต้ลิ้น (snip), จี้ไฟฟ้า (electrocauterization), ยิงแสงเลเซอร์ (laser) หรือ ยิงแสงพลาสมา (plasma) หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจมีพังผืดใต้ลิ้น สามารถนัดปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจเช็คและรักษาได้ครับ
ศัลยแพทย์เฉพาะทางเด็กและทารก
ประจำศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง
โรงพยาบาลพญาไท 3
นัดหมายแพทย์