
ในภาวะวิกฤติของสภาพอากาศที่เราต้องเผชิญกันทุกวันนี้ ทำให้เราต้องสัมผัสกับมลพิษที่เจือปนอยู่ในอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มลพิษทางอากาศ มีสารประกอบสำคัญที่ปะปนอยู่ เช่น Carbon monoxide, Nitrogen dioxide, Ozone, Sulphur dioxide รวมทั้งฝุ่น PM10 และPM2.5 ซึ่งอาจมีสารพิษซุกซ่อนอยู่ในฝุ่นอนุภาคขนาดเล็กนี้ ไม่ว่าจะเป็น ปรอท แคดเมียมหรือสารตะกั่ว
เมื่อเราต้องอยู่กับอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นมลพิษเหล่านี้ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดแล้ว ยังมีผลกระทบกับดวงตาของเราด้วยไม่น้อย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะบริเวณเยื่อบุตา กระจกตาที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นละอองโดยตรง ซึ่งตามปกติแล้ว ผิวตาของเราจะมีเพียงชั้นน้ำตาบางๆ ป้องกันอยู่เท่านั้น หากต้องอยู่ในสภาพอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นหนาแน่น โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็กPM2.5 จะทำให้มีอาการผิดปกติโดยทันที คือ เกิดการระคายเคือง ไม่สบายตา อาจทำให้เกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง มีภาวะตาแห้งมากขึ้น ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันหรือติดเชื้อ รวมถึงก่อให้เกิดความผิดปกติของเส้นเลือดในจอประสาทตาได้
มลพิษทางอากาศจะมีผลกระทบกับโรคทางตาอย่างไร
- เยื่อบุตา เป็นบริเวณที่สัมผัสกับปัจจัยภายนอกโดยตรง เมื่อมีความผิดปกติจะมีอาการคันตา น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ เยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งหากต้องเผชิญกับมลพิษเป็นเวลานาน จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ มีรูปร่างผิดปกติไป กระตุ้นการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ เกิดภาวะภูมิแพ้ที่ตา ตาแห้งเรื้อรัง และมีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย
- โรคตาแห้ง ระดับของฝุ่นมลพิษและความชื้นในอากาศ มีความสัมพันธ์กับอาการตาแห้ง ทำให้ชั้นน้ำตาระเหยเร็วกว่าปกติ ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ หรือมีภาวะตาแห้งอยู่เดิม จะมีความไวต่อผลกระทบจากฝุ่นมากขึ้น
- ต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติ (Meibomian gland dysfunction) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะตาแห้ง มีงานวิจัยพบว่าคุณภาพอากาศที่แย่มีผลทำให้ต่อมไขมันอักเสบเพิ่มขึ้น มีการอุดตันของต่อมไขมันตามเปลือกตา
- เปลือกตาอักเสบ สาเหตุจากฝุ่นขนาดเล็ก และควันทำให้เกิดการระคายเคือง ร่วมกับมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดเป็นตากุ้งยิงได้
- ผลกระทบต่อกระจกตา ฝุ่นPM2.5 ทำให้เซลล์ชั้นนอกของกระจกตาเปลี่ยนแปลงและทำงานลดลง มีผลต่อระดับการมองเห็น
- จอประสาทตา มีงานวิจัยพบว่าการสัมผัสกับฝุ่นขนาดเล็กทั้งPM2.5, PM10 และฝุ่นคาร์บอน แม้เพียงระยะสั้น ทำให้เส้นเลือดในจอประสาทตาตีบลง ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติ จอประสาทตาขาดออกซิเจน นำไปสู่การมองเห็นที่ผิดปกติได้
นอกจากนี้ยังพบว่า มลพิษทางอากาศ อาจสัมพันธ์กับการเกิดต้อกระจก และต้อหินอีกด้วย
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เมื่อเราต้องอยู่กับคุณภาพอากาศที่เลวร้าย จึงควรตระหนักถึงความสัมพันธ์กับโรคทางตาด้วย
คำแนะนำในการป้องกัน และดูแลดวงตา
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
- ควรสวมใส่แว่นตา กันลมกันฝุ่นเมื่อต้องออกภายนอกอาคาร
- หยอดน้ำตาเทียมให้สม่ำเสมอเพื่อหล่อลื่นผิวตา และเจือจางสิ่งกระตุ้นจากมลพิษทางอากาศ
- เมื่อมีอาการระคายเคือง ไม่ควรขยี้ตา เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
- หากมีอาการคันตา ตาบวม สามารถประคบเย็น ช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้นได้
- ทำความสะอาดใบหน้าและรอบดวงตาด้วยน้ำสะอาด อาจฟอกขนตาด้วยน้ำอุ่น หรือแชมพูเด็กอ่อน
- ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ หรือมีโรคทางตาอยู่เดิม เช่น มีภาวะตาแห้ง ภูมิแพ้ที่ตา เป็นต้อลม ต้อเนื้อ อาจมีความไวต่อฝุ่นมากขึ้น และเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย หากมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเข้ารับการตรวจตาอย่างละเอียด

แพทย์หญิง กิตติกมล วงศ์ไพศาลสิน
จักษุแพทย์ เฉพาะทางด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คลินิกตา โรงพยาบาลพญาไท 3 ชั้น 18
โทร.0-2467-1111 ต่อ 1839
นัดหมายแพทย์