
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะแรก สามารถทำได้ด้วยการตรวจเอกเซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-Dose Computed Tomography Scan: LDCT) ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้ปริมาณรังสีน้อย และใช้วิธีการถ่ายภาพสามมิติที่ให้ความละเอียดมากกว่าการตรวจเอกซเรย์แบบธรรมดา ซึ่งจะช่วยตรวจหาภาวะความผิดปกติของโรคมะเร็งปอดระยะแรกได้ดีกว่า และยังบ่งบอกถึงสมรรถภาพปอดเมื่อเทียบกับคนปกติได้ โดยการทำ Spirometry หรือ Lung Function Test ซึ่งจะช่วยในการตรวจหาโรคปอดอื่นๆ เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพองได้เป็นอย่างดี โดยคนไข้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่เป็นประจำทุกวันและบ่อยครั้ง
หรือแม้กระทั่งคนไข้ที่มีสมาชิกภายในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งปอด รวมทั้งคนทำงานที่ได้รับสารกัมมันตภาพรังสีควันบุหรี่ ฝุ่นละออง ไอระเหยต่างๆ หรือสูดดมสารพิษจากสิ่งแวดล้อมเข้าไปสะสมในปอดไว้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ล้วนจะนำไปสู่การเป็นโรคหอบหืด โรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง จนกระทั่งอาจจะเป็นมะเร็งปอดได้ในที่สุด
สำหรับใครที่มีความเสี่ยงดังที่กล่าวมานั้น แพทย์มักจะแนะนำว่าควรได้รับการตรวจปอดด้วยเทคโนโลยี CT Low Dose โปรแกรมตรวจค้นหามะเร็งปอดระยะแรกที่มีความละเอียด รวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง ไม่ต้องงดอาหารและน้ำ รวมทั้งตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยสมรรถภาพการทำงานของปอดโดย Spirometry ควบคู่กันไป ซึ่งจะได้ผลที่ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น
ประโยชน์จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดอย่างละเอียดนี้ จะช่วยให้พบมะเร็งปอดในระยะแรกได้ดีกว่า ซึ่งทำให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่มะเร็งจะกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย และยังลดความเสี่ยงจากอันตรายที่จะได้รับจากรังสี เนื่องจากใช้ปริมาณรังสีต่ำ หรืออาจสรุปได้ว่า การตรวจคัดกรองสามารถช่วยให้ค้นพบมะเร็งปอดได้เร็วขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิต จากมะเร็งปอดได้ เพราะเมื่อตรวจพบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ในระยะแรก โอกาสรักษาให้หายขาดได้จะมีสูงถึง 90%
ข้อดีของการตรวจเอกเซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ
- ใช้ปริมาณรังสีต่ำ (CT Chest ปกติ 7 mSV แต่ LDCT Chest 1.5 mSV)
- ให้ภาพ 3 มิติมีความละเอียดสูง สามารถทำได้กับก้อนเนื้อที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ซม.
- ตรวจง่าย ใช้เวลาไม่นาน ผลข้างเคียงน้อย ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง
- สามารถตรวจหาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก่อนมีอาการ พบเร็ว รักษาได้ทัน
แนะนำให้ตรวจในผู้ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้
- อายุ 50-74 ปี
- สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง หรือหยุดสูบบุหรี่น้อยกว่า 15 ปี หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่
- มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด
- ได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม การได้รับควันบุหรี่ สารกัมมันตภาพรังสี ฝุ่นไอระเหยจากโลหะต่าง ๆ
*จากการศึกษาของ National Lung Screening Trail (NLST) ของประเทศสหรัฐอเมริกา
การตรวจนี้ไม่เหมาะกับ
- บุคคลที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ที่ไม่มีความเสี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะมีบุตร
*** สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งปอด หรือมะเร็งชนิดอื่นๆ ซึ่งรักษาหายแล้ว แต่น้อยกว่า 5 ปี หากจำเป็นต้องได้รับการตรวจ ควรตรวจด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน เพื่อการวินิจฉัย (CT-Chest)

อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคปอด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คลินิกอายุรกรรมโรคปอด
โรงพยาบาลพญาไท 1
โทร.02-201-4600 ต่อ 2165, 2111
นัดหมายแพทย์