(PMR)นพ. พิษณุ สุนทรปิยะพันธ์

(PMR)นพ. พิษณุ สุนทรปิยะพันธ์

(PMR)นพ. พิษณุ สุนทรปิยะพันธ์


ความชำนาญ
เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง
เวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ
สาขา

ข้อมูลทั่วไป


เราต้องทำความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานการเจ็บป่วยของคนไข้ และพิจารณาว่าสิ่งที่คนไข้ทำแล้วอาการดีขึ้นคืออะไร ประเมินว่าคนไข้ฟื้นตัวในระดับไหน เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการฟื้นฟูให้เหมาะสมกับคนไข้ได้มากที่สุด โดยพิจารณาที่เป้าหมายของคนไข้กับสภาพโรคที่คนไข้เป็น ที่สำคัญคือจะต้องทำให้คนไข้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีกำลังใจ และมีความพึงพอใจในการรักษา


ตั้งแต่ นพ. พิษณุ สุนทรปิยะพันธ์ เป็นนักศึกษาแพทย์ก็มีความสนใจเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และการกีฬาอยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสจึงได้ศึกษาต่อในสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหมอบอกว่า. . .

“หมออยากเป็นหมอตั้งแต่เด็ก คือน่าจะมาจากการความชอบจริงๆ เพราะตั้งแต่เด็ก เมื่อถูกถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ทุกครั้งก็จะตอบว่าอยากเป็นหมอ แม้กระทั่งตอนเขียนเรียงความส่งครูก็เขียนเรื่องอยากเป็นหมอ ทั้งๆ ที่ทางบ้านไม่มีใครเป็นหมอเลย”

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ช่วยให้คนไข้กลับมามีคุณภาพชีวิตได้ดีกว่าเดิม

ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อแพทย์รักษาคนไข้ให้หายแล้ว ก็มักจะรอเวลาให้คนไข้ฟื้นตัวขึ้นเอง หรืออาจมีการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วยบ้าง ต่อเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมาได้มีศาสตร์สาขาใหม่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศาสตร์นี้จะเจาะลึกในการดูแลคนไข้กลุ่มโรคต่างๆ โดยเป็นการฟื้นฟูทางด้านการแพทย์ 4 ด้าน คือ 1. การป้องกัน 2. การส่งเสริม 3. การรักษา และ 4. การฟื้นฟู

เพราะการที่คนไข้ได้รับการรักษาจากอาการหรือโรคใดๆ จนหายดีแล้ว ร่างกายอาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวหรือกลับมาสู่สภาพปกติได้เต็ม 100% คนไข้จะต้องอาศัยการฟื้นฟูร่ายกายด้วยการดูแลจากสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้กลับมาแข็งแรง และสามารถใช้อวัยวะต่างๆ ที่บกพร่องไปให้ได้ดีเหมือนเดิม ซึ่งคุณหมอยกตัวอย่างไว้ว่า. . .

“อย่างในอดีต เมื่อคนไข้โรคหัวใจทำการรักษาและมีอาการที่ดีขึ้นแล้ว แพทย์ก็มักไม่ให้คนไข้ออกแรงทำอะไรหนักๆ เป็นเดือนๆ คนไข้จึงฟื้นตัวช้า แต่ปัจจุบัน เพียงแค่ 1-2 วัน หลังจากได้รับการรักษาและอาการเริ่มคงที่แล้ว เราจะเริ่มให้ทำกิจกรรมตามโปรแกรมที่ออกแบบสำหรับคนไข้เฉพาะราย โดยมีแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่จะใช้ทั้งความรู้ นวัตกรรม รวมถึงอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อการช่วยให้คนไข้ฟื้นฟูสุขภาพได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย สามารถใช้อวัยวะและร่างกายให้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม”

ดูแลคนไข้ วางเป้าหมายร่วมกับทีมแพทย์

เมื่อมีคนไข้ที่ต้องได้รับการฟื้นฟู คุณหมอพิษณุจะทำการวินิจฉัยถึงอาการโดยรวม เพื่อวางโปรแกรมการฟื้นฟู โดยมีเป้าหมายร่วมกันกับแพทย์เจ้าของไข้ คนไข้ และครอบครัวของคนไข้ ทั้งนี้จะพิจารณาถึงปัจจัยและข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมจริงเมื่อคนไข้กลับบ้าน ต้องไปเรียน ไปทำงาน เพราะสิ่งสำคัญคือการมีผู้ดูแลต่อเนื่องเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วหรือไม่ คนไข้สามารถดูแลตนเองได้ในระดับไหน ต้องก็นำมาพิจารณาให้ครอบคลุม เพื่อออกแบบกิจกรรมบำบัดและฟื้นฟูที่เหมาะสมด้วย. . .

“เสน่ห์ของเวชศาสตร์ฟื้นฟู คือเราต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม มีแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด เราต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ เพื่อวางแผนร่วมกัน ไม่ใช่ One Man Show เราจะให้เกียรติซึ่งกัน รวมถึงต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยด้วย”

เพื่อการฟื้นฟูคนไข้ให้กลับมามีคุณภาพชีวิต

ผู้ป่วยที่แพทย์เวชศาสตร์ดูแล แยกออกได้เป็นหลายลักษณะ เช่น ผู้ป่วยเด็กเล็กที่เป็นโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุกระดูกหักซึ่งจะพบได้ในทุกช่วงอายุ ถัดมาก็จะเป็นการดูแลการบาดเจ็บของนักกีฬาหรือของคนไข้ทั่วไป ซึ่งคนไข้ประมาณ 80% ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องผ่าตัด แต่ต้องพัก รักษา ทำกายภาพบำบัด ปรับยา และต้องได้รับคำแนะนำในการดูแลตัวเองให้สามารถเลือกการออกกำลังกายเองที่บ้านได้อย่างเหมาะสม

ส่วนกลุ่มที่พบมากจะเป็นผู้ที่มีอายุหน่อย ก็จะเป็นผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต กลุ่มหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่หลังจากทำการรักษาแล้วยังมีความพิการหลงเหลือในระบบสมองและระบบประสาท ก็ต้องรักษาต่อด้วยการฟื้นฟูระบบประสาท หรือในกลุ่มโรคหัวใจที่มีความเสี่ยงสูง การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหัวใจก็ต้องใช้ความละเอียดอ่อน และจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินความเสี่ยง รวมถึงการสั่งการรักษา แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้งในการวางโปรแกรมการฟื้นฟูให้คนไข้ เพื่อความปลอดภัยและเป็นไปอย่างราบรื่น

ช่วงเวลาทองของการฟื้นฟูของคนไข้ระบบประสาท

คนไข้ระบบประสาท จะมีเวลาทอง (Golden Period) ในการฟื้นตัวในช่วง 3 เดือนแรกหลังการรักษา คือจะฟื้นได้ตัวเร็วและดีกว่าการไปบำบัดภายหลัง คุณหมอจะวางโปรแกรมเพื่อกระตุ้นให้คนไข้ทำตามได้และฟื้นตัวให้ได้มากที่สุด เพราะหากปล่อยไว้การฟื้นตัวจะเริ่มช้าลงเรื่อยๆ ซึ่งคุณหมอได้เล่าให้ฟังถึงกรณีนี้ว่า. . .

“มีคนไข้อายุ 50 กว่าท่านหนึ่ง เป็นคุณครูภาษาไทยมาด้วยอาการอัมพฤกษ์ มีปัญหาในเรื่องการสื่อสาร การเขียน และการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการยืนการเดินก็ไม่ปกติ หมอก็ปรึกษากับทีมแพทย์และรีบวางแผนการฟื้นฟู ฝึกการลุก นั่ง ยืน เดิน เรื่องของการเคลื่อนไหวร่างกาย การพูด การเขียนต่างๆ ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งก็ทำการรักษาร่วมกันไปกับการให้ยาของแพทย์ระบบประสาทและสมอง จนคนไข้ฟื้นตัวดีถึง 90% ทั้งการพูด การใช้มือทั้ง 2 ข้าง คนไข้สามารถใส่เสื้อ ติดกระดุม อาบน้ำ ทำกับข้าว และใช้โทรศัพท์มือถือได้อย่างดี และหลังจากฟื้นฟูแล้วประมาณ 2 เดือน ก็สามารถกลับไปสอนหนังสือได้ตามเดิม”

การตรวจและการรักษาจากแพทย์ยังสำคัญเสมอ

แม้ในกรณีมีอาการปวดหลัง หลายคนอาจจะคิดว่าแค่ซื้อยามากิน ปรับพฤติกรรม และบริหารร่างกายให้เหมาะสมก็หายเองได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคให้พบว่าเป็นอะไรแน่ยังสำคัญอยู่เสมอ. . .

“หมอเคยรักษาอยู่เคสหนึ่ง เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส อายุ 23 ปี ตอนแรกคนไข้มีอาการปวดหลังแต่คิดว่าเป็นเพราะออกกำลังกายหนัก ด้วยความที่พอจะมีความรู้ในวิทยาศาสตร์การกีฬา ก็เลยประเมินตัวเองและซื้อยามากินเอง พร้อมกับพักการออกกำลังกาย แต่พอผ่านไป 1 เดือนอาการก็ยังไม่ดีขึ้น คนไข้จึงมาพบแพทย์ เราก็ตรวจพบก้อนที่เยื่อหุ้มเส้นประสาทใหญ่เท่าลูกมะนาวอยู่ที่หลัง ซึ่งอาการจะคล้ายๆ กับหมอนรองกระดูกทับเส้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ หมอเลยอยากฝากไว้ว่า ใครก็ตามที่มีอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะเมื่อเป็นสักพักแล้วไม่ดีขึ้นควรมาพบแพทย์จะดีกว่า เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนโรคลุกลามหนักก็อาจจะเสียโอกาสในการรักษาให้หายขาด”

การผ่าตัดยุคใหม่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

สิ่งที่คนไข้มักกลัวและมีความลังเลก็คือการรักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากในอดีตอาจเคยได้ยินหรือมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในการผ่าตัดมาก่อน เรื่องนี้คุณหมอแนะนำไว้ว่า การที่คนไข้ปฏิเสธการผ่าตัดก็อาจทำให้เสียโอกาสในการรักษา เพราะการบาดเจ็บบางอย่าง หากไม่ได้รับการผ่าตัด อวัยวะนั้นก็ไม่สามารถกลับมาหายดีได้อย่างที่ควรจะเป็น เช่น กรณีได้รับอุบัติเหตุแล้วมีการบาดเจ็บร่างแหประสาทที่แขนฉีกขาด เมื่อแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูทำการตรวจประเมินด้วยการทำ EMG คือ การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าแล้ว ทำกายภาพบำบัดแล้ว กระตุ้นกล้ามเนื้อ กระตุ้นเส้นประสาทแล้ว ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัดของแพทย์เฉพาะทางด้านกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ที่เชี่ยวชาญทางด้านศัลยกรรมมือและแขนเพื่อต่อเส้นประสาท แต่หากคนไข้ปฏิเสธการผ่าตัดก็จะทำให้เส้นประสาทไม่ได้รับการซ่อมแซมที่ดีพอ คนไข้ก็จะฟื้นตัวได้ไม่มาก ทำให้มือและแขนใช้งานได้ไม่ดีเท่าที่ควร นับเป็นการเสียโอกาสในการรักษาอย่างหนึ่ง

ไม่เพียงแค่รักษา แต่ยังทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม

ด้วยคุณหมอพิษณุ เป็นแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาในการใช้ร่างกาย คุณหมอจึงมีความเข้าใจ มีความเห็นอกเห็นใจ และมีจิตใจที่พร้อมดูแลผู้ป่วยที่หลากหลาย ซึ่งรวมไปถึงผู้ป่วยที่มีภาวะพิการในด้านต่างๆ คุณหมอจึงตั้งใจนำความรู้ความสามารถทางการแพทย์ที่มีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับคนกลุ่มนี้ จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมในการดูแลนักกีฬาคนพิการร่วมกับสมาคมนักกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ดูแลนักแบดมินตันคนพิการระดับนานาชาติ (BWF) รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของชมรมป้องกันและฟื้นฟูหัวใจแห่งประเทศไทยอีกด้วย ความเป็นแพทย์ที่พร้อมดูแลคนไข้ของคุณหมอ จึงไม่ใช่เพียงการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งสมกับที่คุณหมออยากเป็นแพทย์มาตั้งแต่เด็กจริงๆ


  • 2546 – 2552 แพทยศาสตรบัณฑิต, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
  • 2555 – 2557 วว.เวชศาสตร์ฟื้นฟู, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่พบตารางนัดหมาย

กรุณาโทร 1772


Loading...
Loading...