นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล

นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล

นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล


ความชำนาญ
จิตเวชศาสตร์
ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง
จิตเวชศาสตร์
สาขา

ข้อมูลทั่วไป

นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล เป็นหัวหน้าแผนกจิตเวชประจำโรงพยาบาลพญาไท 2 ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปัญหาคู่สมรสและสุขภาพทางเพศ มีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้มาอย่างยาวนานจากการเป็นจิตแพทย์ที่ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยามากว่า 12 ปี และที่โรงพยาบาลพญาไท 2 กว่า 16 ปี

 

 

นอกจากการรักษาคนไข้แล้ว คุณหมอสุกมลเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารเรื่องเพศ และมักจะได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในการบรรยายเรื่องต่างๆ ได้แก่ การช่วยเหลือทางด้านจิตใจ (Psychological), การให้การปรึกษา (Counseling), ปัญหาสุขภาพทางเพศ (Sexual Dysfuctions), เรื่องรัก เรื่องใคร่. . . ในวัยรุ่น (เพศศึกษาฉบับวัยรุ่น)ฯลฯ และยังมีอีกหลายบทบาทที่ช่วยสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องเพศให้กับสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวิทยากรรายการทีวีหลายรายการ เช่น ชูรักชูรส (ช่อง 3) สยามทูเดย์ (ช่อง 5) เป็นนักจัดรายการวิทยุ จ. ส. 100 และรายการ Hot wave กับน้าเน็ก และคุณหมอยังถ่ายทอดวิชาความรู้ที่สั่งสมมาออกมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คกว่า10 เล่ม ได้แก่ เพศศึกษา ฮา. . . สุดขีด, ติวรักเต็มร้อย, 108 คำถามเรื่องเซ็กซ์, เรื่องวุ่นวายของนายจุ๊ดจู๋ ฯลฯ

 

 

จากความชอบ สู่ความเชี่ยวชาญ

แรงบันดาลใจที่ทำให้คุณหมอสุกมลเลือกเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช มาจากความชอบและความสนใจตั้งแต่สมัยเรียน คุณหมอเล่าว่า

 

“ตอนเรียนแพทย์ปีสุดท้ายผมชอบอยู่ 2 วิชาคือวิชาผ่าตัดและจิตเวช ตอนที่จะเรียนต่อก็ลังเลใจมากว่าจะเลือกอะไรดี แต่เท่าที่ผมเห็นอาจารย์หมอผ่าตัดพออายุมากขึ้นร่างกายก็จะทำงานไม่ค่อยไหวและโทรมลงเรื่อยๆ เพราะทำงานหนักกันมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ แต่ถ้าเป็นจิตแพทย์ยิ่งแก่ก็ยิ่งขลัง เพราะเป็นสาขาที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือเยอะ และไม่ต้องโหมงานหนักมาก เน้นการคุยกับคนไข้และให้คำปรึกษามากกว่าและยิ่งเรามีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นเราก็ยิ่งเข้าใจคนไข้ได้มากขึ้นด้วย บวกกับความสนใจส่วนตัวที่ผมสนใจศิลปะ วัฒนธรรม ชอบดูหนัง ชอบฟังเพลงอยู่แล้ว ผมจึงคิดว่าความชอบตรงนี้สามารถเอามาใช้กับการรักษาโรคทางจิตเวชได้ดีมากกว่าด้วย”

 

 

ถอดรหัสอุปนิสัยเพื่อไขปัญหาชีวิตคู่

เทคนิคหนึ่งที่คุณหมอสุกมลมักจะใช้ในการทำความรู้จักและเข้าใจคนไข้คือ ‘รหัสอุปนิสัย MBTI (Myers-Briggs Type Indicator)’ ซึ่งเหมาะกับการทำความเข้าใจคนไข้ที่มีปัญหาครอบครัว ในประเด็นทัศนคติไม่ตรงกัน, เข้ากันไม่ได้

 

“ปัญหาที่คนไข้มักจะมาพบผมบ่อยๆ คือปัญหาครอบครัว และสุขภาพทางเพศ บางคู่แต่งงานกันแล้วสามารถทะเลาะกันได้ทุกวันถ้าไม่มีเหตุปัจจัยภายนอกอื่นๆ ก็ต้องมาดูว่าเป็นที่นิสัยด้านไหนที่ทำให้เป็นแบบนี้ การถอดรหัสอุปนิสัยจะทำให้เขารู้ว่าเขาต่างกันยังไง และผมก็จะแนะนำเรื่องการปรับตัวให้เขาได้ง่ายขึ้น สามีภรรยาบางคู่หลังจากแต่งงานกันแล้วคิดว่าชีวิตจะต้องผูกติดกันตลอดเวลาแต่ผมกลับมองว่าไม่ใช่เสมอไป อะไรที่ชอบเหมือนกันก็ทำร่วมกันได้ แต่อะไรที่ชอบต่างกันก็ควรเป็นชีวิตส่วนตัวของเรา”

 

 

ใช้ ‘หนัง’ เป็นสื่อนำทางคนไข้

ด้วยความสนใจส่วนตัวที่คุณหมอสุกมลชอบดูหนัง ชอบฟังเพลง และสนใจศิลปะวัฒนธรรม ทำให้มักจะหยิบจับสิ่งเหล่านี้มาแนะนำคนไข้ที่กำลังต้องการคำตอบหรือหาทางออกให้ชีวิตเสมอ

 

“วิธีที่ผมใช้คือ ผมจะดูว่าปัญหาของคนไข้คืออะไร เหมาะกับหนังเรื่องไหน ถ้าเขาได้ดูแล้วเขาก็จะเห็นเคสที่ใกล้เคียงกับชีวิตตัวเอง และรู้ว่าปัญหานั้นมีทางออกนะ เพราะว่าหนังเรื่องนั้นมันกำลังพูดถึงสิ่งที่ชีวิตของเขากำลังเผชิญอยู่ เช่น บางคนมีปัญหาเรื่องแม่ผัวลูกสะใภ้ ผมก็แนะนำให้ดู Crazy Rich Asian หรือว่าคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากในชีวิต ผมจะแนะนำให้ดู Adrift เป็นหนังที่ตัวละครลอยคออยู่กลางทะเล 41 วัน และรอความช่วยเหลืออยู่ ชีวิตคนไข้บางคนเหมือนตัวละครในเรื่องนี้เลย ช่วงที่เขากำลังเผชิญปัญหาก็เหมือนกับที่ตัวละครกำลังลอยคออยู่กลางทะเล แต่เดี๋ยวสุดท้ายก็จะมีคนเข้ามาช่วยแน่นอนแต่เขาต้องกับอุปสรรคและหาวิธีให้ตัวเองรอดพ้นไปให้ได้”

 

 

หาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อลดการใช้ยา

การรักษาโรคเครียด โรคซึมเศร้า หรือโรคนอนไม่หลับ เป็นที่ทราบกันดีว่าคนไข้จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา แต่ในปัจจุบันนี้มีคนไข้จำนวนมากที่ไม่ต้องการใช้ยา เพราะไม่ต้องการให้ร่างกายต้องเผชิญกับผลข้างเคียงในการรักษา คุณหมอสุกมลจึงมักจะแนะนำทางเลือกอื่นๆ ให้กับคนไข้ เช่น การฟังเพลงปรับคลื่นเสียงเพื่อช่วยการนอนหลับเป็นเรื่องง่ายขึ้น

 

“สำหรับคนไข้ที่มีปัญหาการนอน ถ้าเขาไม่อยากใช้ยาผมก็จะแนะนำให้ฟังเพลงปรับคลื่นเสียงแทน คลื่นสมองของคนเรามันมีช่วงหลับลึกกับหลับตื้น เมื่อไรที่เราได้ยินเสียงนาฬิกาปลุกจะทำให้คลื่นสมองทำงานได้ไม่ดี ถ้าเรานอนหลับคลื่นสมองจะเป็น Delta Wave ถ้าตื่นแบบสบายใจหลังจากหลับสนิทจะเป็น Alpha Wave แต่ถ้าตื่นแบบเครียดๆ เพราะเสียงนาฬิกาปลุกคือ Beta Wave ดังนั้นเสียงจึงมีผลต่อคลื่นสมองของเรา เมื่อได้ยินเสียงรบกวนก็จะทำให้การนอนของเราไม่มีคุณภาพ ผมเองก็เป็นคนที่ตื่นง่ายมาก ทำให้นอนหลับไม่สนิทตลอดทั้งคืนผมเลยทดลองกับตัวเองด้วยการฟังเพลง His Glory Appears ซึ่งเป็นเพลงนมัสการในโบสถ์เป็นประจำทุกคืนมา 5 ปีแล้ว ผมจะวางมือถือไว้บนหัวเตียงแล้วเปิดเพลงเบาๆ ทุกคืน เพลงแบบนี้ให้คลื่นสมองช้าลงและหลับได้สนิทมากขึ้น”

 

 

‘ความเป็นกันเอง’ คือเสน่ห์ของจิตแพทย์

นอกจากการใช้เทคนิคเฉพาะตัวในการให้คำปรึกษาและรักษาคนไข้แล้ว คุณหมอสุกมลยังมีความเป็นกันเองกับคนไข้ สร้างบรรยากาศในการพูดคุย เพื่อทำให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

 

“ผมเป็นคนที่เป็นกันเองกับคนไข้มาก ผมไม่ทำตัวเป็นทางการ ซึ่งจิตแพทย์แต่ละคนก็มีบุคลิกและเทคนิคเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปนะ แต่ผมไม่ใช่คนที่ต้องมีธรรมเนียมปฏิบัติอะไร และไม่ใช่คนที่ทำตัวเคร่งขรึมอยู่แล้ว ผมเลยชอบที่จะพูดคุยกับคนไข้แบบกันเองด้วยหลักวิชาการมากกว่า”

 

“นอกจากการวางตัวแล้วห้องทำงานที่คนไข้ต้องเขามาพบเราก็มีผลเหมือนกัน ห้องผมจะใช้โต๊ะที่เป็นวงกลม เพราะว่าทิศทางการนั่งมีผลกับความรู้สึกของคนไข้ โต๊ะวงกลมจะทำให้คนไข้รู้สึกว่าเรากำลังนั่งล้อมวงคุยกันอยู่ ด้านข้างคือทิศทางของความรู้สึกที่เป็นมิตรภาพ ถ้าคนไข้มาคนเดียวผมก็ต้องย้ายมุมไปนั่งให้ใกล้เขามากขึ้น ให้เขารู้สึกว่าไม่ต้องเผชิญหน้าหรืออยู่ตรงข้ามกับผมมาก”


  • 2525 – 2532 แพทยศาสตรบัณฑิต, ม.ขอนแก่น
  • 2532 – 2532 Internships, รพ.ศูนย์ขอนแก่น
  • 2532 – 2535 ว.จิตเวชศาสตร์, รพ.สมเด็จเจ้าพระยา

ไม่พบตารางนัดหมาย

กรุณาโทร 1772


Loading...
Loading...