รศ. นพ.  กิตติชัย เหลืองทวีบุญ

รศ. นพ. กิตติชัย เหลืองทวีบุญ

รศ. นพ. กิตติชัย เหลืองทวีบุญ


ความชำนาญ
ศัลยศาสตร์
ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง
ศัลยศาสตร์หัวใจหลอดเลือดและทรวงอก
สาขา

ข้อมูลทั่วไป

การเป็นศัลยแพทย์ทรวงอกต้องมีทัศนคติที่ดีและมีความรักในวิชานี้ เพราะในทุกการรักษาและผ่าตัดมีความท้าทายต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของคนไข้ เราต้องใส่ใจดูแลสุขภาพของคนไข้ทั้งก่อนการผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังการผ่าตัด และเพราะการผ่าตัดหัวใจหรือทรวงอกมักเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการทำหัตถการนานหลายชั่วโมง แพทย์จึงต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ มีความมั่นใจในความรู้ที่ศึกษามา รู้จักเลือกใช้เทคนิคและเครื่องมือต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาในการแก้ปัญหา ซึ่งต้องมีความละเอียดรอบคอบและมีสมาธิเป็นอย่างมาก

 

 

รศ. นพ. กิตติชัย เหลืองทวีบุญ เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้นมีความสนใจด้านศัลยกรรม (การรักษาโรคด้วยวิธีผ่าตัด) เมื่อสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในปี พ. ศ. 2523 แล้ว จึงได้ศึกษาต่อในสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป และต่อเนื่องอนุสาขาศัลยศาสตร์ทรวงอก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ. ศ. 2531

 

 

ในระหว่างที่เป็นแพทย์อยู่นั้น คุณหมอได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาเพิ่มเติมด้านศัลยกรรมทรวงอก ที่ Harefield Hospital กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Royal Brompton และ Harefield NHS Foundation Trust ศูนย์หัวใจและปอดที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรและในยุโรป เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นได้ศึกษาต่อที่ Baylor College of Medicine และ Texas Heart Institute เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา แห่งละ 1 ปี รวมเวลาที่ศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น 3 ปีเต็ม

 

 

เมื่อกลับมาเป็นแพทย์ชำนาญการด้านศัลยกรรมทรวงอก ที่ รพ. จุฬาลงกรณ์ ยังได้ทำงานด้านการสอนและวิชาการที่คณะแพทย์จุฬาฯ รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษทางศัลยกรรมหัวใจและหลอดเลือดที่ รพ. ราชวิถี รพ. ชลบุรี รพ. หัวหิน รพ. นครราชสีมา รพ. สรรพสิทธิประสงค์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนนักศึกษาแพทย์ด้านการผ่าตัดหัวใจและทรวงอกที่ รพ. สุรินทร์ โดยตำแหน่งทางวิชาการล่าสุดคือ รองศาสตราจารย์

 

 

รศ. นพ. กิตติชัย เหลืองทวีบุญ นอกจากเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศัลยศาสตร์หลอดเลือดและทรวงอก รพ. พญาไท 2 แล้ว ยังทำหน้าที่บริหาร ดูแลและรักษาคนไข้ที่ รพ. พญาไท 1 และ รพ. เปาโล พหลโยธิน ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาล PMC อีกด้วย

 

 

ความเชี่ยวชาญคือหัวใจสำคัญ

เนื่องจากคุณหมอดูแลคนไข้ทั้งโรคทรวงอกและโรคหัวใจจึงคาบเกี่ยวกับการรักษาโรคในหลายๆ อวัยวะ การจัดทีมแพทย์หลายสาขาให้ทำงานร่วมกันก็เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างปลอดภัยและดีที่สุด เพราะการรักษาโรคหัวใจก็ยังต้องอาศัยแพทย์ที่ชำนาญการลงลึกแตกต่างกันไป อย่างการรักษาคนไข้หลอดเลือดหัวใจที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการใส่ขดลวดขยายหลอดเลือด ก็จะทำโดยแพทย์ที่ชำนาญด้านการสวนหลอดเลือดหัวใจโดยตรง หรือกรณีคนไข้ลิ้นหัวใจตีบ แม้โดยทั่วไปจะจำเป็นต้องผ่าตัด แต่บางรายก็สามารถใช้การรักษาด้วยการใส่ลิ้นหัวใจเทียมโดยสอดเข้าไปจากทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบได้ การเลือกการรักษาให้เหมาะสมจากแพทย์ชำนาญการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัว หรือมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เกินจำเป็น

 

 

หน้าที่ของศัลยแพทย์ทรวงอกและหลอดเลือด

คุณหมอเล่าถึงการทำงานและการรักษาคนไข้ว่า หน้าที่ของศัลยแพทย์ทรวงอกและหลอดเลือด จะดูแลคนไข้ 3 กลุ่มใหญ่ คือ คนไข้โรคหัวใจ ที่เป็นโรคหัวใจชนิดต่างๆ แต่กำเนิด หรือโรคหัวใจที่เป็นภายหลังเกิด เช่น ลิ้นหัวใจพิการ หลอดเลือดหัวใจตีบ คนไข้โรคทรวงอก เช่น โรคปอด หลอดอาหาร และคนไข้ที่มีปัญหาหลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดส่วนปลาย การรักษาจะทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบเปิด การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือการรักษาโดยใช้สายสวนทั้งในบริเวณทรวงอกและในช่องท้อง

 

 

ในกรณีโรคปอด ก็มีทั้งการพบจุดในปอด ก้อนเนื้อในปอด หรือมะเร็งปอด หากเป็นก้อนใหญ่มากหรือเกิดอยู่ตรงกลางขั้วปอดก็ต้องผ่าตัดแบบเปิด แต่ถ้าเป็นเพียงจุดเล็กๆ ก้อนเล็กๆ ก็สามารถผ่าตัดแบบส่องกล้องได้ ทั้งนี้ยังต้องดูองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย

 

 

อีกอย่างที่พบบ่อย คือคนไข้มีลมรั่วที่ปอด ซึ่งพบในคนหนุ่มสาวมากขึ้น หากเป็นบ่อยหรือเมื่อทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) แล้วพบว่ามีถุงลมโป่งพองเล็กๆ ที่ยอดปอด ก็จะรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อตัดบริเวณที่มีลมรั่วออกและทำการปิดรอยรั่วนั้นพร้อมกับใช้ยาเคลือบป้องกันไว้ไม่ให้เกิดการเป็นซ้ำในอนาคต

 

 

ผ่าตัดมะเร็งปอดให้อยู่รอดปลอดภัย

ในส่วนของมะเร็งปอด การผ่าตัดโรงมะเร็งปอดนั้นหากเป็นมะเร็งปอดแบบเซลล์เล็กซึ่งพบประมาณ 25% กลุ่มนี้มักไม่ต้องผ่าตัด สามารถรักษาด้วยการให้เคมีบำบัด แต่กลุ่มใหญ่อีกราว 75% จะเป็นแบบไม่ใช่เซลล์เล็ก ซึ่งในระยะแรกมันไม่ปรากฏอาการ แต่มักพบจากการเอกซเรย์ปอดในการตรวจสุขภาพประจำปี แต่หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนที่สูบบุหรี่จัดเป็นเวลานานติดต่อกันเป็นสิบๆ ปี พอมีอายุสัก 45 หรือ 50 ปีขึ้นไป ก็ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอดอย่างละเอียด โดยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Low-Dose CT SCAN ซึ่งจะมีความละเอียดกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป หากพบจุดเล็กๆ ในปอดก็ต้องรีบรักษา หรือหากพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นก็มักผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ เพราะเป็นการผ่าเอากลีบปอดในส่วนที่เป็นเซลล์มะเร็งออกทั้งหมด และมีการนำต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดออกด้วย ซึ่งหากติดตามผลต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีแล้วไม่พบโรคมะเร็งกำเริบก็เรียกได้ว่าหายขาด

 

 

การผ่าตัดบายพาสต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)

นอกจากการรักษาผ่าตัดโรคทรวงอกและหัวใจแล้ว รศ. นพ. กิตติชัย เหลืองทวีบุญ ยังเป็นแพทย์ชำนาญการ การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ทำทางเบี่ยงเสริมหลอดเลือดหัวใจ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ การผ่าตัดบายพาส (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG) ซึ่งเป็นการรักษาตัดต่อเส้นเลือดหัวใจที่มีการตีบหรือตัน เพื่อให้เลือดผ่านส่วนที่ตีบหรือตันไปได้ โดยในแต่ละปีคุณหมอได้ทำการผ่าตัดบายพาสหัวใจให้คนไข้กว่า 60-70 ราย และต่อเนื่องยาวนานมาหลายสิบปี

 

 

“โดยมาก… คนไข้หลอดเลือดหัวใจตีบ มาเพราะมีอาการแน่นหน้าอก หากตรวจพบว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ก็ต้องทำการฉีดสีเพื่อดูรอยโรค เพื่อดูบริเวณที่เป็นและระดับความรุนแรง บางกรณีก็รักษาได้ด้วยการสวนหัวใจ การใส่ขดลวด ในกรณีมีการตีบทั้งสามเส้นและมีโรคเบาหวานร่วมด้วย การทำงานของหัวใจก็จะไม่ค่อยปกติอยู่แล้ว อาจต้องพิจารณาทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการรักษาด้วยการใส่ขดลวด และการทำบายพาสสามารถทำได้พร้อมกันทั้ง 3 เส้น และเป็นการทำในบริเวณที่หลอดเลือดแข็งแรงไม่มีรอยโรค เมื่อทำการผ่าตัดและเย็บเส้นเลือดได้อย่างดีแล้วก็มีความปลอดภัยในระยะยาวที่ดี”

 

 

ความประทับใจที่ยาวนานกว่า 30 ปี

แม้จะผ่านมานานกว่า 30 ปี แต่เคสนี้ก็ยังเป็นที่จดจำและประทับใจไม่รู้ลืม นั่นก็คือ การได้มีโอกาสรักษาเด็กหญิงวัย 2 ขวบ ซึ่งเธอเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และมีภาวะปอดติดเชื้อ ตั้งแต่เกิดเด็กคนนี้ไม่เคยได้ออกจากโรงพยาบาลเลย ในขณะที่รักษาตัวอยู่ที่ รพ. มายาวนั้น เกิดเหตุมีเด็กวัยเดียวกัน เลือดกรุ๊ปเดียวกัน จมน้ำในสระว่ายน้ำจนมีภาวะสมองตายและเข้ามารับการดูแลที่ รพ. ซึ่งในทางการแพทย์แล้วไม่สามารถทำให้สมองที่ตายไปแล้วกลับคืนมาเป็นปกติได้ เมื่อเป็นดังนั้นญาติของเด็กจึงยินดีที่จะบริจาคอวัยวะให้กับผู้ป่วยที่รอความหวังอยู่

 

 

เมื่อทีมแพทย์ได้ทำการดูแลปอดของเด็กที่มีภาวะสมองตายให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีเป็นปกติเพื่อพร้อมสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว จึงได้เริ่มทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดให้กับเด็กหญิง ซึ่งในเคสนี้นับว่าเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมๆ กันให้กับคนไข้ที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทยและในเอเชีย และเด็กหญิงคนนี้ก็สามารถมีชีวิตอยู่อย่างปกติได้ยาวนานถึง 28 ปี ซึ่งนับเป็นความคุ้มค่าของตัวคนไขและครอบครัว และเป็นความสำเร็จ ความประท้บใจในฐานะศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัด

 

 

เพราะ “โอกาส คือลมหายใจ มองไม่เห็นแต่เราเชื่อมั่นในสิ่งนั้นได้” ดังนั้น เมื่อการผ่าตัดสำเร็จลุล่วงแล้ว คุณหมอจะดูแลคนไข้ให้ฟื้นตัว และติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เปรียบเสมือนความต่อเนื่องของลมหายใจ และยังเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมว่าหัตถการที่ทำการรักษาโดยมีรายละเอียดต่างกันนั้นได้ผลดีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เพื่อให้การรักษาในครั้งต่อๆ ไปออกมาดีที่สุดเสมอ


  • 2534 Cardiovascular Surgery, Baylor College of Medicine Houston Texas USA
  • 2518 – 2523 แพทยศาสตร์บัณฑิต(เกียรตินิยมอันดับ1), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2524 – 2529 ศัลยศาสตร์ทั่วไป, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 2529 – 2531 ศัลยศาสตร์ทรวงอก, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตารางออกตรวจ

คลินิกผู้ป่วยนอกหัวใจ

(08:00 - 10:00)

คลินิกผู้ป่วยนอกหัวใจ

(08:00 - 10:00)

คลินิกผู้ป่วยนอกหัวใจ

(08:00 - 10:00)

คลินิกผู้ป่วยนอกหัวใจ

(08:00 - 10:00)
Loading...
Loading...