พญ. นิลวรรณ นิมมานวรวงศ์

พญ. นิลวรรณ นิมมานวรวงศ์

พญ. นิลวรรณ นิมมานวรวงศ์


ความชำนาญ
เวชศาสตร์ครอบครัว
ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง
เวชศาสตร์ครอบครัว
สาขา

ข้อมูลทั่วไป

“การดูแลแบบประคับประคอง ไม่ได้หมายถึงการดูแลเพียงช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น หลายคนยังเข้าใจผิดว่า เมื่อได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หมายความว่าจะเขาใกล้การเสียชีวิตเร็วขึ้น จริงๆ แล้วการดูแลคนไข้แบบประคับประคองสามารถทำไปพร้อมกับการรักษาหลักได้ตั้งแต่แรกเริ่มวินิจฉัยโรค เช่น คนไข้โรคมะเร็ง เราสามารถให้การดูแลแบบประคับประคองตั้งแต่ต้นควบคู่ไปกับการทำเคมีบำบัด การฉายแสง หรือแม้แต่การผ่าตัดได้เลย”

 

 

หลังจาก พญ. นิลวรรณ นิมมานวรวงศ์ สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว คุณหมอได้ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ รพ. ศูนย์บุรีรัมย์ และได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อนจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขา Cancer Palliative and End of care, University of Southampton ประเทศอังกฤษ

 

 

ปัจจุบันคุณหมอมาออกตรวจทั้งที่ศูนย์ชีวีสุข รพ. พญาไท 1 และที่ศูนย์มะเร็ง รพ. พญาไท 2 โดยทำหน้าที่แพทย์ให้การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ร่วมกับทีมแพทย์ท่านอื่นๆ เพื่อช่วยให้คนไข้สุขกายสบายใจมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

 

คนไข้หลักๆ ที่คุณหมอดูแลจะเป็นคนไข้กลุ่มโรคมะเร็งที่มีการแพร่กระจาย โรคปอดเรื้อรังระยะท้าย โรคไตวาย กลุ่มผู้สูงวัย เช่น ผู้ป่วยนอนติดเตียง ผู้ป่วยมีโรคทางสมอง และผู้ป่วยสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ซึ่งคุณหมอเล่าที่ถึงเหตุผลที่มาสนใจศาสตร์การดูแลแบบประคับประคองไว้ว่า. . .

 

“ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ ก็เห็นคนไข้ หอบเหนื่อยใกล้จะเสียชีวิต แต่แทบจะไม่มีใครสนใจดูแล เพียงเพราะทีมแพทย์พยาบาลไม่รู้ว่า “โรค” ของเขารักษาไม่ได้ แต่เราอาจช่วย “บรรเทา” อาการได้ ตอนนั้นก็ได้แต่เฝ้ามองด้วยความทุกข์ใจ ตอนทำงานที่บุรีรัมย์ หมอได้เห็นคนไข้ส่วนหนึ่ง ที่ต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวดจากอาการของโรคมะเร็งที่ลุกลาม หรือมีอาการของโรคที่รักษาต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องกลับบ้านไปโดยไม่มีการดูแลต่อเนื่อง ซึ่งหมอมองว่าเราไม่ควรจบการดูแลรักษาแค่นั้น มันน่าจะมีขั้นตอนการดูแล หรือการบรรเทาความเจ็บปวดทรมานของเขา แม้จะเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต

 

ต่อมา หมอพบว่าในทางการแพทย์เรามีศาสตร์ที่จะช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการดูแลผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กันที่เรียกว่า. . . การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care หมอจึงตัดสินใจศึกษาต่อในสาขานี้ โดยได้รับความรู้และฝึกฝนประสบการณ์การดูแลแบบประคับประคองจากทั้งขณะเรียนต่อยอดเวชศาสตร์ครอบครัว และยังได้ไปเรียนรู้ที่ประเทศอังกฤษเพิ่มเติมด้วย”

 

 

เชี่ยวชาญในศาสตร์การดูแลแบบประคับประคอง

การแพทย์แบบเดิมจะมุ่งเน้นให้คนไข้หายจากโรคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องยอมรับว่า โรคบางโรคมีความซับซ้อน บางโรคมีความเรื้อรัง และในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถหายขาดจากโรคได้ แพทย์จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี นี่คือเป้าหมายใหม่ และเป็นเป้าหมายของการดูแลแบบประคับประคอง

 

 

การดูแลแบบประคับประคอง เป็นการดูแลที่มุ่งเน้นบรรเทาอาการเจ็บปวดทุกข์ทรมานทั้งกายและใจจากโรคที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในระยะแพร่กระจาย โรคปอดเรื้อรังระยะท้าย โรคหัวใจวายที่เป็นมาก หรือโรคไตวาย เป็นต้น ซึ่งคุณหมอกล่าวถึงการรักษาในศาสตร์นี้ว่า…

 

“แม้ว่าวันหนึ่งคนไข้ก็จะเสียชีวิตลง แต่ในฐานะแพทย์ เราสามารถช่วยดูแลปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยมีความสุขทั้งจากการรักษาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งจากตัวโรคเอง หรืออาการข้างเคียง คือเป็นการดูแลตามอาการ บรรเทาความทุกข์ทรมาน อย่างในผู้ป่วยมะเร็งไม่ว่าระยะใดก็ตาม เราสามารถรักษาและดูแลแบบประคับประคองไปพร้อมๆ กัน ก็อาจจะมีการให้ยาเพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือให้ยาระงับปวดควบคู่ไปกับการทำเคมีบำบัด ยิ่งไปกว่านั้น การดูแลด้านจิตใจ อย่างภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลของทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนในครอบครัว โดยคำนึงถึงบริบททางสังคม และความเชื่อทางจิตวิญญาณร่วมด้วย นับว่าเป็นส่วนสำคัญในการรักษา ซึ่งการดูแลแบบประคับประคองนี้จะมีบทบาทมากขึ้นเมื่อตัวโรคมีความรุนแรง มีการลุกลามมาก และผู้ป่วยเดินทางมาถึงใกล้ถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต”

 

 

การดูแลแบบประคับประคองต้องเข้าใจความต้องการของคนไข้

การดูแลแบบประคับประคอง จะต้องทุ่มเวลาเพื่อรับฟังทำความเข้าใจคนไข้ หลายคนอาจคิดว่าคนไข้ที่กำลังจะเสียชีวิต เราควรจะเปิดบทสวดมนต์ให้เค้าฟัง ซึ่งที่จริงก็อาจได้ผลกับคนไข้ที่เขาชอบสวดมนต์ ชอบปฏิบัติมาแต่เดิม การน้อมนำศาสนาเข้ามาก็จะทำให้เขามีความสุขมากขึ้นได้ แต่กับผู้ป่วยอื่นๆ เราจะต้องหาว่า เขาอยากได้อะไร เขาอาจจะมีสิ่งที่เขานับถือ ผูกพัน สิ่งที่เป็นเหมือนความหวังและกำลังใจของเขา เช่น ความรักจากคนในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก หลาน หรือคู่ชีวิตที่จะเป็นสิ่งชูใจให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ เขาอยากอยู่ใกล้ชิดใคร ได้พูดคุยกับใคร หรือต้องการอะไร เราต้องหาให้พบ…


“บางครั้ง ข้อมูลเบื้องหลังเหล่านี้ เราจะได้จากการพูดคุยอย่างละเอียดทั้งกับคนไข้และกับครอบครัว การดูแลประคับประคองผู้ป่วยจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อะไรมาก แต่จะเป็นการทุ่มเวลาเพื่อทำความเข้าใจผู้ป่วยว่าเขาต้องการอะไรในใจลึกๆ หมอต้องฟังเยอะๆ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ วางแผน เพื่อหาแนวทางในการรักษาตามอาการและประคับประคองอาการร่วมด้วย ให้เขาทุกข์ทรมานน้อยที่สุดในทุกมิติ หลายครั้งอาจจะต้องใช้ยา เช่น ยามอร์ฟีนแก้อาการปวดที่รุนแรง แต่ทั้งนี้ก็ต้องใช้หลักจิตวิทยาเพื่อปลอบประโลมใจไปพร้อมๆ กันด้วย” 

 

 

ลดความทุกข์ทรมานของคนไข้คือหัวใจหลักของการดูแลแบบประคับประคอง

ในกรณีที่แม้ตัวโรคอาจจะรักษาต่อไม่ได้แล้ว แต่คุณหมอนิลวรรณ ในฐานะแพทย์ที่ดูแลรักษาแบบประคับประคอง ก็จะดูแลไม่ให้คนไข้เกิดความเจ็บปวดเกินจำเป็น คุณหมอเน้นย้ำว่า ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่สามารถรักษาได้เสมอ…

 

“หมอรู้สึกมีความสุขทุกครั้ง ที่คนไข้มีอาการทุกข์ทรมานน้อยลง และอยากให้เขาได้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุข ความตายเป็นสิ่งที่เกิดแน่นอน เพียงแต่จะเกิดในวันและเวลาที่ไม่แน่นอน คาดเดายาก สิ่งสำคัญคือการใช้ชีวิตในระหว่างนั้น และเมื่อวันเวลานั้นมาถึง คนไข้ควรจะมีโอกาสได้จากไปอย่างสงบ และมีความสุขแบบที่ไม่ต้องทุกข์ทรมานมากจนเกินไป”

 

 

การดูแลแบบประคับประคองช่วยให้คนไข้และครอบครัวมีความสุข

แม้คุณหมอนิลวรรณ จะคลุกคลีกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่เสมอ แต่นั่นคือความสุขความประทับใจที่ได้ดูแลคนไข้จนถึงวินาทีสุดท้าย อย่างที่คุณหมอเล่าให้ฟังว่า…

 

“มีเคสหนึ่งที่ผู้ป่วยเป็นโรคไตวายและผ่านการฟอกไตมาหลายปี และยังเคยได้รับการผ่าตัดหัวใจ รวมถึงยังมีเส้นเลือดตีบที่ขาด้วย ในขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะที่ดีอยู่นั้น เขาได้เขียนเจตจำนงเกี่ยวกับการดูแลในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างชัดเจน เขาจะขอหยุดการฟอกไตและปล่อยให้ร่างกายหยุดทำงานไปตามธรรมชาติ โดยไตร่ตรองดีแล้วร่วมกับครอบครัวที่ดูแลอย่างดีมาตลอด

 

ตัวหมอเองได้เข้าไปมีบทบาทช่วยประคับประคองรักษาตามอาการ มีการใช้ยาระงับปวดเนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะเส้นเลือดตีบที่ขา ก็จะปวดหลัง ปวดกระดูกสันหลัง ปวดไปทั้งร่างกาย มีการพูดคุยวางแผนล่วงหน้าในสิ่งต่าง ๆ ที่ยังค้างคา พอหลังหยุดฟอกไตก็ยังพูดคุยได้ตามปกติ หลังจากนั้นประมาณสัปดาห์ที่สองที่ยุติการฟอกไต ผู้ป่วยเริ่มหลับมากขึ้น และสุดท้ายก็เสียชีวิตเหมือนคนนอนหลับไป รู้สึกอิ่มใจว่า อย่างน้อยก็ได้ช่วยให้เขาบรรเทาอาการเจ็บปวดทรมานและได้จากไปอย่างสงบ”


  • 2542 – 2548 แพทยศาสตรบัณฑิต, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • 2548 – 2549 Internships, โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์
  • 2551 – 2554 วุฒิบัตรสาขา เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine), คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • 2557 – 2558 Master Degree Clinical Leadership in Cancer Palliative and End of care with distinction, University of Sounthampton United Kingdom

ตารางออกตรวจ

คลินิก โรคมะเร็ง

(09:00 - 15:00)

คลินิก โรคมะเร็ง

(09:00 - 15:00)

คลินิก โรคมะเร็ง

(09:00 - 15:00)

คลินิก โรคมะเร็ง

(09:00 - 15:00)

คลินิก โรคมะเร็ง

(09:00 - 15:00)

คลินิก โรคมะเร็ง

(09:00 - 15:00)

คลินิก โรคมะเร็ง

(09:00 - 15:00)

คลินิก โรคมะเร็ง

(09:00 - 15:00)
Loading...
Loading...