นพ. สาธิต ศรีมันทยามาศ

นพ. สาธิต ศรีมันทยามาศ

นพ. สาธิต ศรีมันทยามาศ


ความชำนาญ
02.ศัลยกรรม
ความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง
อนุสาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา
สาขา

ข้อมูลทั่วไป

การผ่าตัดมะเร็งเต้านม นอกจากจะมุ่งหวังให้โรคหายแล้ว หมอจะทำควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพชีวิตให้กับคนไข้ด้วย คือไม่ใช่เพียงแค่เอาก้อนมะเร็งออกเท่านั้น แต่ต้องทำให้คนไข้มีเต้านมอยู่เหมือนเดิมหรือให้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด การเสริมเต้านมแบบอองโคพลาสติกจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ การผ่าตัดไม่ใช่แค่การรักษาโรคแต่ยังเป็นศิลปะด้วย คือไม่ได้ทำเพื่อให้มีเต้านมเท่านั้น เพราะเต้านมของแต่ละคนนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน ต้องวางแผนและดูว่าจะเสริมอย่างไรให้ออกมาสวย ใช้เทคนิคแบบใด ซิลิโคนขนาดเท่าไหร่ รูปทรงไหนที่เหมาะ หรือจะใช้เนื้อเยื่อหน้าท้องจะดีกว่าไหม เต้านมอีกข้างหนึ่งที่ไม่ได้เป็นมะเร็งจะต้องแก้ไขอะไรไปพร้อมกันด้วยหรือไม่ ต้องดูเป็นภาพรวม เพื่อให้การรักษาได้ผลดีทั้งทางร่างกาย จิตใจ และรูปลักษณ์

 

 

นพ. สาธิต ศรีมันทยามาศ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้ศึกษาต่อวุฒิบัตรศัลยศาสตร์ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และยังได้ต่อยอดในอนุสาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย คุณหมอได้เล่าถึงประสบการณ์ในการศึกษาว่า. . .

 

“ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ก็ต้องวนเรียนในทุกวอร์ด พอมาถึงแผนกศัลยกรรมหมอก็รู้สึกชอบ เพราะมีทั้งการตรวจโรคและการผ่าตัด (หัตถการ) ที่ชอบการผ่าตัดก็เพราะเป็นการรักษาที่ชัดเจน ผ่าตัดเสร็จวันรุ่งขึ้นคนไข้ก็ดีขึ้นเลย ตอนนั้นจึงตั้งใจไว้ว่าจะเป็นศัลยแพทย์ หลังจากเรียนจบจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกลับมาเป็นศัลยแพทย์และอาจารย์แพทย์ ที่คณะแพทยศาสต์วชิรพยาบาล ด้วย
หลังจากเป็นศัลยแพทย์เต็มตัวแล้ว หมอเห็นว่าคนไข้มะเร็งเต้านมนั้นมีจำนวนค่อนข้างมาก แล้วที่น่าสนใจก็คือ โรคมะเร็งเต้านมมีโอกาสรักษาหายค่อนข้างสูง สูงกว่ามะเร็งอื่นๆ ผนวกกับวิธีการรักษาก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผ่าตัดหรือการให้ยา และยังมีเรื่องของ Body Image ก็คือความสวยงามและคุณภาพชีวิตด้วย หมอจึงเลือกศึกษาต่อในอนุสาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อีก 2 ปี ซึ่งได้ศึกษาถึงการรักษามะเร็งเต้านมเป็นหลัก รวมถึงมีเรื่องของมะเร็งอื่นๆ และมะเร็งของศีรษะและลำคอด้วย”

 

 

ศัลยกรรมมะเร็งวิทยา ผ่าตัดมะเร็งเต้านม

การรักษามะเร็งเต้านม อันดับแรกคือต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่ โดยการตรวจเอกซเรย์เต้านม อัลตร้าซาวด์ และเจาะชิ้นเนื้อ หลังจากวินิจฉัยแล้ว ต้องดูว่าเป็นระยะไหน ระยะเริ่มต้น ระยะลุกลาม หรือแพร่กระจาย ถ้าเป็นระยะเริ่มต้นส่วนใหญ่ก็สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นระยะลุกลาม คือเริ่มเป็นก้อนใหญ่ เริ่มมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง อาจต้องรักษาด้วยการให้คีโมก่อนเพื่อทำให้ก้อนมะเร็งยุบลงแล้วค่อยผ่าตัดออก แต่ถ้ามีการแพร่กระจายของมะเร็งไปอวัยวะอื่นๆ การผ่าตัดจะไม่ใช่ทางเลือกหลักแล้ว จะเป็นเรื่องของการให้ยาหรือการให้คีโม เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือตัวมะเร็งที่กระจายไปในอวัยวะอื่นๆ จะไม่ได้อยู่ที่เต้านมแล้ว

 

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่สามารถผ่าตัดได้ ปัจจุบันก็มีนวัตกรรมและเทคนิคในการผ่าตัดที่หลากหลายขึ้น เช่น การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม การตัดเต้านมออกและเสริมสร้างเต้านมใหม่ด้วยซิลิโคน หรือการเอาเนื้อที่บริเวณหน้าท้องหรือเนื้อส่วนอื่น ๆ ของคนไข้เองมาเสริมแทน ซึ่งทำให้หลังจากผ่าตัดและให้คีโมเรียบร้อยแล้ว คนไข้ก็จะสวมใส่เสื้อผ้าได้สวยงาม กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นใจ ทั้งนี้ คุณหมอสาธิต ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า. . .

 

“แม้การผ่าตัดมะเร็งเต้านมพร้อมการเสริมสร้างเต้านมใหม่จะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวหลัง ผ่าตัดนานขึ้นบ้าง แต่นับว่าคุ้มค่าและมีประโยชน์ในระยะยาว เพราะการผ่าตัดเต้านมพร้อมตกแต่งเสริมแบบ ‘อองโคพลาสติก’ เป็นการผ่าตัดพร้อมกันในคราวเดียวเลย ซึ่งจะดีกว่าการกลับมาผ่าตัดเพื่อเสริมเต้านมใหม่ภายหลัง เพราะมักจะไม่สวยงามเท่าที่ควรและคนไข้ต้องได้รับการผ่าตัดสองครั้ง ก่อนตัดสินใจผ่าตัดแพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติเพื่อให้ข้อมูลในเรื่องของการผ่าตัด ข้อดีข้อเสียของวิธีการรักษาแต่ละอย่าง เพราะการเสริมสร้างเต้านมเป็นสิ่งที่ดีแต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในผู้ป่วยบางราย ควรให้เวลาผู้ป่วยในการตัดสินใจและปรึกษาญาติ เนื่องจากในวันที่ผู้ป่วยทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านมอาจจะยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาได้ ผู้ป่วยอาจมีความวิตกกังวลความเครียด และสภาพจิตใจที่ยังไม่สมบูรณ์ ผู้ป่วยอาจจะกังวลถึงตัวโรคมากโดยไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์และคุณภาพชีวิตในระยะยาว”

 

 

การสื่อสารที่ดี คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของการรักษามะเร็งเต้านม

คุณหมอสาธิต จะมีแนวทางในการสื่อสารกับคนไข้ด้วยความเข้าใจ ในกรณีที่ตรวจพบว่าคนไข้เป็นมะเร็ง การแจ้งกับคนไข้และการให้ข้อมูลจะสำคัญมาก เพราะถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการเริ่มการรักษา คนไข้จะได้รับทราบความแตกต่างในแต่ละทางเลือก ข้อดีหรือข้อด้อยของการรักษาแต่ละแบบ รวมถึงลักษณะโรคของคนไข้ว่าเหมาะสมกับการรักษาวิธีใด เช่น ถ้าเป็นมะเร็งแบบก้อนใหญ่มากหรือมีหลาย ๆ ก้อนหรือหลายจุดจะไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ ทางเลือกอื่นๆ ที่ทำได้ ได้แก่ การผ่าตัดออกทั้งเต้าอย่างเดียว และการผ่าตัดออกทั้งเต้าแล้วทำการเสริมซิลิโคนหรือเสริมด้วยเนื้อเยี่อจากหน้าท้องภายหลัง คนไข้จะตัดสินใจว่าจะเลือกวิธีไหนตามเหตุผลที่แตกต่างกันไป ซึ่งคุณหมอบอกว่า. . .

 

“ข้อจำกัดของคนไข้แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การผ่าตัดแบบสงวนเต้าที่จะผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออกแล้วเก็บเนื้อเต้านมเอาไว้จะต้องมีการฉายแสงด้วย ซึ่งคนไข้บางคนอาจไม่สะดวกที่จะต้องเดินทางมาฉายแสงทุกวันตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง หากเป็นแบบนี้หมอก็จะมีทางเลือกอื่นให้ เช่น อาจใช้วิธีผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมดแล้วเสริมซิลิโคน หรือผู้ป่วยบางรายอาจไม่ต้องการมีถุงซิลิโคนอยู่ในร่างกาย ก็อาจการผ่าตัดเสริมสร้างด้วยเนื้อเยื่อที่หน้าท้องเป็นต้น ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ผู้ป่วยสะดวกและพร้อมที่จะรักษาวิธีไหนด้วย”

 

 

แม้ว่าโรคมะเร็งจะมีทั้งที่รักษาหายขาด หายแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีก หรือรักษาไม่หาย คุณหมอสาธิต ก็จะให้กำลังใจและอธิบายตามความเป็นจริงจากผลการตรวจและสถิติความเป็นไปได้ต่างๆ เช่น กรณีคนไข้เป็นมะเร็งระยะที่หนึ่ง มีโอกาสหายมากกว่า 90 % แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ 100% หรือไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อผ่าตัดแล้วต้องหายขาดแน่นอน ในเรื่องนี้คุณหมอมองว่า ข้อมูลที่เป็นจริงและถูกต้องนั้นสำคัญกับคนไข้มาก เพราะเป็นเสมือนแนวทางหนึ่งในการตัดสินใจของคนไข้ที่จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับความต้องการของคนไข้เอง


  • 2537 – 2543 แพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • 2548 – 2548 วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ , คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • 2552 – 2552 วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ตารางออกตรวจ

คลินิกHead Neck Breast

(13:30 - 16:00)

คลินิกHead Neck Breast

(13:30 - 16:00)
Loading...
Loading...