
ผู้ป่วยโรคเบาหวานกับการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมการดูแลตนเองที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันลดลง, ปรับสมดุลความดันโลหิต และลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ โดยการเลือกประเภทของการออกกำลังกายขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
- • ผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานขึ้นตาให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีแรงต้านมาก เช่น การยกน้ำหนัก วิดพื้น ซิทอัพ
- • ผู้ป่วยที่มีภาวะปลายประสาทอักเสบ มีอาการชา ควรสวมใส่รองเท้ากีฬาที่เหมาะสมขณะออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ โดยชนิดการออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน การออกกำลังกายกล้ามเนื้อเท้า(กระดกปลายเท้าขึ้น-ลง, ขยุ้มฝ่าเท้า) เพื่อเพิ่มระบบไหลเวียนโลหิตและกระตุ้นปลายประสาท
- • ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า หรือข้อเท้าควรเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีการกระแทก เช่น การวิ่ง หรือกระโดด ควรจะออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำ เดินในน้ำ ปั่นจักรยาน หรือกายบริหารในท่านั่งหรือยืน
- • ผู้ที่มีปัญหาด้านหัวใจ ควรจะพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการออกกำลังกาย เพื่อความปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก หรือเหนื่อยมากเกินไป
ประเภทการออกกำลังกาย
- • การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เป็นการออกกำลังกายที่มีความต่อเนื่อง 30 นาทีขึ้นไปต่อครั้ง รวมกันได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ สามารถแบ่งทำ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ มีความหนักระดับปานกลาง ได้แก่ การเดิน การวิ่ง การเต้นแอโรบิค การปั่นจักรยาน เป็นต้น
- • การออกกำลังกายแบบเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นการออกกำลังกายที่มีแรงต้าน โดยสามารถใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย โดยแต่ละท่าการออกกำลังกาย ให้ทำ 8-12 ครั้งต่อรอบ และ 3-5 รอบต่อวัน 3-5 วันต่อสัปดาห์เริ่มจากน้ำหนักน้อย และค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักขึ้นช้า ๆ ตามความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- • การออกกำลังกายแบบยืดเหยียด เป็นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรวมถึงเนื้อเยื่อรอบข้อต่อ เป็นการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อก่อนการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบข้อต่อมีความยืดหยุ่นและสามารถป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้
ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน
- • ลดระดับความดันโลหิต
- • ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด
- • ช่วยลดน้ำหนัก และลดไขมันส่วนเกิน
- • ช่วยลดความเครียด และทำให้จิตใจแจ่มใส
- • เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- • ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และทำงานของระบบประสาท

การใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวาน
นอกจากผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องทานยาเบาหวานตามที่แพทย์สั่งแล้ว ต้องได้รับการติดตามปริมาณน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิดอีกด้วย เพราะการทานยาเบาหวานอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการรักษาโรคเบาหวาน แต่ต้องควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารด้วย อีกทั้งยาเบาหวานที่ได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์เฉพาะทางนั้น ใช้ได้เฉพาะบุคคลเท่านั้น เพราะแพทย์จะวินิจฉัยอาการและโรคเป็นรายบุคคล ก่อนที่จะสั่งยาให้ตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย บางรายต้องทานยา หรือ บางรายต้องฉีดยาเพื่อรักษาอาการ ทำให้ไม่สามารถใช้ยาร่วมกันได้ แม้จะเป็นโรคเบาหวานเหมือนกัน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานหลายท่านที่เป็นโรคเบาหวาน มีความเชื่อที่ว่าการฉีดยาเบาหวาน ได้ผลดี และมีผลเสียต่อไตน้อยกว่าการทานยา ซึ่งความจริงแล้ว การฉีดยา หรือการทานยานั้น สามารถรักษาโรคเบาหวานได้เหมือนกัน เพียงแต่ผู้ป่วยบางรายต้องได้รับการฉีดยาเบาหวานหรือทานยานั้นขึ้นอยู่กับแนวโน้มของอาการและแนวทางการรักษา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยตามความเหมาะสม ซึ่งในตัวยาเบาหวานบางตัวมีผลดีต่อไตผู้ป่วยด้วยซ้ำ เพราะในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ แม้จะรักษาด้วยการให้ทานยาเบาหวาน แพทย์ก็จำเป็นต้องใช้ยาฉีดแทน ฉะนั้นการจะบอกว่าทานยา หรือ ฉีดยา แบบไหนดีกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาที่ได้ผลในแต่ละบุคคล

การดูแลรักษาเท้าสำหรับผู้เป็นเบาหวาน
ผู้เป็นเบาหวาน ควรให้ความสำคัญกับการดูแลเท้าเป็นพิเศษ เนื่องด้วยโรคเบาหวานทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายไม่เป็นไปตามปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเท้า ประสาทความรู้สึกจะทำงานได้ไม่ดี โดยเฉพาะความรู้สึกเกี่ยวกับอาการเจ็บปวด การถูกกดทับหรือความร้อน ความเย็น ความเสื่อมนี้จะค่อยเป็นค่อยไป จนทำให้อาจไม่มีความรู้สึกได้เลย เมื่อเกิดบาดแผลประกอบกับการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้เกิดอาการติดเชื้อโรคจากกลุ่มแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่นได้ง่าย ถ้าไม่ทำการรักษาการติดเชื้อจะลุกลามมาก ซึ่งสุดท้ายอาจต้องพิการถูกตัดขา ดังนั้นผู้ที่เป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจสุขภาพเท้าอย่างละเอียด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ผู้เป็นเบาหวานสามารถป้องกันการเกิดบาดแผลที่เท้าได้ โดยการดูแลสุขภาพเท้าอย่างสม่ำเสมอ เลือกรองเท้าที่เหมาะสมและมีการควบคุมเบาหวานที่ดีจะช่วยลดการถูกตัดขาได้
การเกิดบาดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน มีสาเหตุจาการะบบประสาทส่วนปลายที่เท้าเสื่อม หลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน ภาวะแรงกดทับ การติดเชื้อ ส่งผลให้ผู้เป็นเบาหวานเกิดแผลง่าย แผลหายยากอาจมีการติดเชื้อร่วมด้วยนำไปสู่การถูกตัดเท้าตัดขาได้ในที่สุด
การดูแลตนเองเมื่อเกิดบาดแผล
ถ้าแผลเล็กน้อยเป็นตุ่มพองหรือแผลถลอก รักษาให้สะอาด แผลสดทำความสะอาดด้วยน้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้จนเย็นและสบู่อ่อน ซับให้แห้ง ทายาฆ่าเชื้อโรคที่ไม่ระครายเคืองต่อเนื้อเยื่อ เช่น น้ำยาเบตาดีน หรือยาปฎิชีวนะที่เป็นครีม เช็ดจากแผลวนออกมารอบแผล โดยไม่เช็ดซ้ำที่เดิม หลีกเลี่ยงการใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ตรวจดูแผลทุกวันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ถ้าแผลไม่ดีขึ้น มีการอักเสบ บวมแดง จับดูร้อน หรือมีไข้ควรพบแพทย์
ถ้าแผลยังไม่หายดี อย่าเดินไปเดินมา การเดินจะทำให้เท้ารับน้ำหนักตัวปากแผลจะเปิดทำให้แผลหายช้า ให้นอนพักหรือนั่งบนเก้าอี้ รถเข็นหรือใช้ไม้พยุงตัว อย่ายืนจะทำให้แผลหายยาก ในกรณีที่ต้องการออกกำลังกายเลือกชนิดที่ไม่ต้องลงน้ำหนัก ออกกำลังกายด้วยแขน
ถ้าแผลใหญ่ อักเสบมากควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ระยะแรก อย่ารักษาเอง

โรคแทรกซ้อน
“เบาหวาน” เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินสุลิน (Insulin) ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีอินสุลิน เพื่อนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะสมองและกล้ามเนื้อ ในภาวะที่อินสุลินมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของปริมาณอินสุลินในร่างกาย หรือการที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายตอบสนองต่ออินสุลินลดลง (หรือที่เรียกว่า ภาวะดื้ออินสุลิน) จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณน้ำตาลคงเหลือในกระแสเลือดมากกว่าปกติ หากน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง จะทำให้ไตซึ่งปกติจะมีหน้าที่ดูดกลับน้ำตาลจากสารที่ถูกกรองจากหน่วยไตไปใช้ ดูดกลับน้ำตาลได้ไม่หมด ส่งผลให้มีน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคเบาหวาน”
หากเราปล่อยไว้ โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาในที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
เมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเป็นระยะเวลานาน น้ำตาลที่สูงจะส่งผลโดยตรงต่อหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เกิดภาวะอักเสบ และภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยในภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ทำให้น้ำตาลส่วนเกินไปเกาะกับเม็ดเลือดขาวที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อโรค ทำให้เม็ดเลือดขาวมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย
อาการของภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
เมื่อเกิดภาวะเบาหวานเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น
• ภาวะแทรกซ้อนที่ “ไต”
เมื่อมีภาวะเบาหวานแทรกซ้อนที่ไต จะเกิดอาการ ปัสสาวะเป็นฟอง ตัวบวม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ซีด บางกรณีถ้ามีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นไตวายต้องได้รับการฟอกไตได้
• ภาวะแทรกซ้อนที่ “หัวใจ”
เบาหวานที่เป็นระยะเวลานานเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บ หน้าอก เหนือยง่าย นอนราบไม่ได้ ขาบวมได้เช่นกัน
• ภาวะแทรกซ้อนที่ “ตา”
เรียกได้ว่าเป็นอวัยวะที่เกิดโรคแทรกซ้อนของเบาหวานได้บ่อย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้หลายระยะ อาการเบาหวานขึ้นตาระยะแรกๆ อาจไม่มีอาการอะไรเลย แต่สามารถตรวจพบโดยการตรวจจอประสาทตา แต่ถ้าเป็นระยะรุนแรงสามารถทำให้ตาสูญเสียการมองเห็นได้
• ภาวะแทรกซ้อนที่ “เท้า”
ภาวะแผลที่เท้าก็พบบ่อยในโรคเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีแผลเรื้อรัง แผลหายช้า บางรายเป็นแผลลุกลามอย่างรวดเร็ว ถ้ารุนแรงมากอาจถึงขั้นสูญเสียอวัยวะได้
• ภาวะแทรกซ้อนที่ “เส้นประสาท”
ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเป็นระยะเวลานานอาจเกิดเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมได้ ซึ่งมักมีอาการ ชา ปลายมือ เท้า บางรายปวดแสบปวดร้อน เจ็บปวดคล้ายเข็มทิ่มได้
• ภาวะแทรกซ้อนที่ “สมอง”
เส้นเลือดเลี้ยงสมองก็พบการตีบได้บ่อยในโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
จะเห็นได้ว่า เบาหวานทำให้เกิดอาการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการที่เกิดจากระดับน้ำตาลสูงเอง หรืออาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน อาการบางอย่างสังเกตพบได้ยากในระยะเริ่มต้น ดังนั้นการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลในกลุ่มเสี่ยงจึงมีประโยชน์ในการค้นหาโรคเบาหวานได้