ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arryhythmia) คืออะไร ?
คือภาวะที่เกิดความผิดปกติขึ้นในการนำไฟฟ้าของหัวใจ โดยหัวใจอาจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ และมีจังหวะสม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอก็ได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดและเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ (Bradyarrhythmia) และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachyarrhythmia)
“อาการแบบไหน” คือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ?
เราสามารถแบ่งอาการที่บ่งบอกว่าเป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะออกได้เป็น 3 แบบ คือ
- กรณีที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป คือ ชีพจรเกิน 80 ครั้ง/นาทีในผู้ใหญ่ขณะพัก ถือว่าเร็วกว่าปกติ บางคนอาจมีอาการใจสั่น วิงเวียน หน้ามืด แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย เป็นลม อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) และเสียชีวิต
- กรณีหัวใจเต้นช้าเกินไป คือ ชีพจรในผู้ใหญ่ขณะพักน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที (ยกเว้นในนักกีฬาที่ฝึกซ้อมสม่ำเสมอสุขภาพแข็งแรง หัวใจอาจเต้นช้าได้มาก ๆ เช่น 50 ครั้ง/นาที ก็ยังถือว่าปกติ) ซึ่งถ้าหัวใจเต้นช้ามาก จะทำให้เลือดที่บีบจากหัวใจไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้วิงเวียน หรือหน้ามืดเป็นลมได้
- นอกจากเต้นเร็วหรือช้าเกินไปแล้ว หัวใจอาจจะเต้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เลือดที่บีบออกจากหัวใจไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะสมอง และหัวใจเอง ทำให้ขาดเลือดจนส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
สาเหตุและปัจจัย ที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้อีก เช่น ความผิดปกติของระบบการนำไฟฟ้าในหัวใจ ที่อาจเกิดจาก โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจจากเชื้อไวรัสบางชนิด ภาวะที่ผู้ป่วยมีโรคหัวใจเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดต่าง ๆ โรคลิ้นหัวใจตีบ หรือรั่ว การถูกกระตุ้น ด้วยคาเฟอีนหรือยากระตุ้นประสาท แอมเฟตามีน (Amphetamine) แอลกอฮอล์ ยาลดน้ำหนักบางประเภท ยาขยายหลอดลม อายุที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าหัวใจได้เหมือนกัน นี่จึงเป็นสาเหตุที่โรคนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุ และโรคบางชนิดก็อาจกระตุ้นให้เกิดการเต้นผิดจังหวะได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคเบาหวาน และ ผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม เป็นต้น
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย การตรวจชีพจร วัดความเร็วความสม่ำเสมอของการเต้น ความแรงของชีพจรการตรวจฟังเสียงเต้นหัวใจ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วมักมาร่วมกับการเต้นผิดจังหวะเร็วที่เกิดจากหัวใจห้องบน เป็นต้น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) หาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และชนิดของการเต้นผิดจังหวะของหัวใจขณะนั้น
- การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest x-ray) ดูขนาดและห้องหัวใจ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24-48 ชม. (Holter) เนื่องจากในบางครั้งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทไม่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จึงต้องติดเครื่องตรวจไว้กับตัวผู้ป่วยครบ 1-2 วัน จึงถอดข้อมูลมาแยกชนิดของคลื่นหัวใจ โดยเครื่องวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง
- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง/อัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram)
- การตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ (Cardiac electrophysiology study)
- ตรวจภาพหลอดเลือดด้วยการสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram)
- การตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อดูความเข้มข้นของเลือดเพื่อดูภาวะซีด การทำงานของไต ไทรอยด์ฮอร์โมน เกลือแร่ในเลือด สารบ่งภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
โรคหัวใจกับวิธีรักษา
- การให้ยา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป (Rate control) เพื่อควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้สม่ำเสมอ (Rhythm control) ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนป้องกันภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันในอวัยวะสำคัญส่วนอื่นของร่างกาย
- การนวดจุดประสาทที่คอ กรณีที่เป็นการเต้นเร็วผิดจังหวะจากหัวใจห้องบน แพทย์อาจนวดจุดประสาทที่ลำคอ เพื่อกระตุ้นระบบประสาท พาราสิมพาธิติค (Parasympathetic nervous system) ที่ควบคุมการเต้นของหัวใจให้หัวใจเต้นช้าลง
- การใช้ไฟฟ้ากระตุก เพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (Cardioversion) ให้กลับเต้นปกติ การเต้นผิดจังหวะชนิดที่เกิดจากหัวใจห้องล่าง ทำให้เลือดออกจากหัวใจน้อย อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การช่วยชีวิตที่ได้ผลดี คือการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจ (Defibrillator) ยิ่งรักษาได้เร็ว ยิ่งได้ผลดี
- การจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency ablation) แพทย์จะใส่สายสวนหัวใจเข้าไป เพื่อทำลายความผิดปกติที่ตรวจพบจากการทำ EP (Electrophysiologic study) ซึ่งวิธีนี้จะทำลายจุดกำเนิด หรือตัดเส้นทางลัดวงจรไฟฟ้าที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะให้หมดไป ทำให้มีอัตราการหายขาดจากโรคค่อนข้างมาก