โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)

พญาไท 3

2 นาที

27/03/2020

แชร์


Loading...
โรคพาร์กินสัน  (Parkinson’s Disease)

โรคพาร์กินสัน คืออะไร?

พาร์กินสัน เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์
โรคพาร์กินสัน เป็นการเสื่อมของเซลล์สมองบริเวณแกนสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โดปามีน (Dopamine) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อสารเคมีในสมองเสียสมดุลไป จึงทำให้การเคลื่อนไหวผิดปกติ

อัตราการเกิดโรคพาร์กินสัน

พบผู้ป่วยพาร์กินสันได้ 1 คนในประชากร 1,000 คน สัดส่วนผู้ชายเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิง 1.1:1 และมักพบโรคพาร์กินสัน ได้ในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป

ปัจจัยเสี่ยงของโรคพาร์กินสัน

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ใช้ยาทางจิตเวชบางประเภท
  • ผู้ที่มีประวัติอุบัติเหตุทางศีรษะ
  • อาชีพที่เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนศีรษะ เช่น นักมวย นักฟุตบอล
  • พันธุกรรม พบเป็นส่วนน้อย

อาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

  • อาการสั่น จะสั่นในขณะอยู่เฉยๆ หรือขณะพัก
  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง การเคลื่อนไหวช้า
  • ก้าวขาลำบาก ก้าวเท้าสั้นๆ หกล้มง่าย

อาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

  • นอนละเมอ ฝันร้ายบ่อยๆ
  • ท้องผูก เรื้อรัง
  • ภาวะซึมเศร้า
  • พูดเสียงเบา พูดช้าลง
  • ผู้ที่เป็นมากอาจมีปัญหาการกลืนลำบาก สำลักบ่อย

ผลกระทบจากโรคพาร์กินสัน

  • ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เนื่องจากเคลื่อนไหวลำบาก อาจทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองไม่ได้ดีเหมือนเดิม
  • เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่นการหกล้ม ทำให้ได้รับบาดเจ็บ
  • ผลกระทบทางจิตใจ เมื่อทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองไม่ได้ เข้าสังคมไม่ได้
  • มีผลกระทบทางสังคม เข้าสังคมลำบากขึ้น อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการพูดการสื่อสาร มีอาการสั่นทำให้เสียบุคลิก
  • ผลกระทบต่อครอบครัว ที่ต้องสละเวลามาช่วยดูแล อาจเพิ่มความกังวลของคนในครอบครัว
  • กระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากทำงานไม่ได้เหมือนเดิม และต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา

การตรวจวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน

  • จากการซักประวัติ ตรวจอาการ ตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • เอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Brain) เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายพาร์กินสัน
  • การตรวจ PET Brain F-Dopa เป็นการตรวจการทำงานของสมองตรวจวัดความผิดปกติของสารโดปามีนในสมองซึ่งไม่จำเป็นจะต้องตรวจทุกราย แพทย์อาจพิจารณาเฉพาะราย

การรักษาโรคพาร์กินสัน

  • การรักษาด้วยยา
    เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เป็นยาที่ทดแทนหรือปรับสมดุลย์ของสารโดปามีนในสมอง แต่ไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่เสื่อมฟื้นตัวมาได้ ต้องมาพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อปรับยาให้สอดคล้องกับอาการและกิจวัตรประจำวัน

การทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน

เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย เช่น การฝึกเดิน การฝึกพูด การฝึกกลืน วิ่ง ปั่นจักรยาน

การผ่าตัดรักษาพาร์กินสัน

เมื่อการรักษาด้วยยาไปนานๆ อาจเกิดการดื้อยา หากแพทย์ปรับการให้ยาแล้วทำให้อาการดีขึ้น ก็จะรักษาด้วยยาต่อไป แต่หากรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จะพิจารณาการผ่าตัด ด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS)

 

การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS)


แพทย์จะพิจารณาผ่าตัด (DBS) ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติด้วยยาได้แล้ว ยาอาจหมดฤทธิ์เร็วเกินไป มีอาการยุกยิกจากยา หรือผู้ป่วยมีผลข้างเคียงจากยามาก

การผ่าตัด (DBS) เป็นการรักษาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก โดยแพทย์จะเจาะรูเล็กๆที่กะโหลกศีรษะ 2 รู ใส่สายไฟไว้ที่ในสมองโดยมีสายเชื่อมต่อผ่านใต้หนังศีรษะผ่านลงมาที่คอและหน้าอก เชื่อมเข้ากับตัวเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังไว้ที่หน้าอก ทำหน้าที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกไปกระตุ้นสมอง
ในขณะผ่าตัด เจาะรูกะโหลก แพทย์ให้ยาที่ทำให้หลับในระยะแรก และจะรู้สึกตัวในระหว่างฝังเครื่อง เพื่อให้แพทย์ทดสอบว่าเมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นแล้วอาการผู้ป่วยดีขึ้นจริงหรือไม่ ก่อนที่จะทำการเย็บปิดแผล

 

ข้อดีของการผ่าตัด (DBS) แพทย์สามารถปรับตั้งเครื่องได้ หลังจากผ่าตัดเพื่อให้สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย

  • การดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน
    นอกจากการรักษาของแพทย์โดยการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย หรือการผ่าตัด ก็ตามแต่ส่วนสำคัญที่จะขาดไม่ได้ คือการดูแลเมื่อกลับบ้านและบุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยดูแลนั้นก็คือคนในครอบครัวเนื่องจาก อาการของโรคที่ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกายแล้ว ยังมีอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจ อีกด้วยทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคม การดูแลมีดังนี้

การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจาก เคลื่อนไหวลำบากและสูญเสียการทรงตัว เช่น

  • การเลือกรองเท้า ที่พื้นรองเท้าไม่ลื่น
  • ไม่ควรมีสิ่งกีดขวางทางเดิน
  • ในห้องน้ำ ควรมีราวจับ และพื้นห้องน้ำไม่ลื่น
  • ผู้ป่วยเดินตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เช่น การยกเท้าสูงๆก้าวยาวๆ ให้เดินช้าลง
  • การบริหารร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ
  • หากเป็นมากอาจมีปัญหาการกลืน ควรเลือกอาหารที่เคี้ยวง่าย ตักพอดีคำ รอให้กลืนหมดก่อนจึงป้อนคำต่อไป
  • การดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยา และพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อประเมินอาการและปรับขนาดยา หรือการปรับ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ที่ฝังไว้ในร่างกาย ให้สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย
  • ญาติควรให้กำลังใจผู้ป่วย ช่วยอำนวยความสะดวก ในการพาไปพบแพทย์ การฟื้นฟูร่างกาย การจัดอาหารให้เหมาะสม การจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย

โรคพาร์กินสันป้องกันได้ไหม?


เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคทางการแพทย์ยังไม่สามารถทราบชัดเจน แต่มีการสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ เพื่อชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง ฉะนั้นเราควรลดปัจจัยเสี่ยงด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ การพักผ่อนให้เพียงพอ การผ่อนคลายเครียด หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ หมั่นสังเกตตนเองหรือคนในครอบครัวว่ามีอาการผิดปกติ หรือไม่ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีอาการบางอย่างที่คล้ายโรคพาร์กินสัน แต่อาจจะอันตรายมากกว่าพาร์กินสัน จะได้รักษาแต่เนิ่นๆ

 


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...