เล่น(ของเล่น)อย่างไร ให้ลูกน้อยสนุกและช่วยเสริมพัฒนาการ

พญาไท 2

1 นาที

29/03/2020

แชร์


Loading...
เล่น(ของเล่น)อย่างไร ให้ลูกน้อยสนุกและช่วยเสริมพัฒนาการ

เมื่อพูดถึงการเล่น พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเกิดคำถามว่า “เราควรซื้ออะไรดี” เพราะมีความกังวลว่า..ของเล่นชิ้นไหนถึงจะเหมาะกับลูกของเรา ของเล่นชิ้นไหนถึงจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้เป็นอย่างดี และเมื่อซื้อมาแล้วจะเกิดปัญหาที่ว่า “ลูกไม่เล่น” หรือไม่? ต้องคอยซื้อของเล่นชิ้นใหม่อยู่ตลอดหรือเปล่า? ซึ่งปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ ด้วย 3 หลักการนี้เลย!!

ข้อ 1 ในการเริ่มต้น..ลองเลือกของเล่นชิ้นไหนมาก่อนก็ได้

ในการเริ่มต้นเลือกของเล่นชิ้นแรก..แน่นอนว่าสิ่งสำคัญ คือ เมื่อได้ลองเล่นแล้ว..ลูกหัวเราะ ลูกยิ้ม ลูกรู้สึกสนุก พ่อแม่อย่าเพิ่งวิตกกังวลว่าจะเล่นเป็นหรือไม่ เล่นได้ถูกต้องตามคู่มือหรือเปล่า ขอแค่ลูกมีอารมณ์ร่วมกับการเล่นของเล่นชิ้นนั้น โอกาสในการกลับมาเล่นซ้ำก็จะสูงมาก…เท่ากับเป็นการเริ่มต้นสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูก

ข้อ 2 งานยากของพ่อแม่  คือ ทำยังไง..ให้ลูกเล่นนานๆ

คำว่า “นาน” ของแต่ละบ้านนั้นไม่เท่ากัน วิธีที่ง่ายที่สุดคือ..หลักการ คูณ 3 โดยเอา อายุเด็ก(ปี) x 3 นาที = ช่วงความสนใจที่ควรจะทำได้ของเด็ก เช่น ลูกอายุ 2 ปี ควรจะต้องมีช่วงความสนใจประมาณ 2×3 = 6 นาที เป็นต้น

สำหรับเทคนิคที่จะทำยังไงให้ลูกมีความสนใจได้นาน นั่นก็คือ..ต้องยื้อ อย่าให้ความสนใจหลุดจากของเล่น เช่น เล่นหยอดบล็อกกัน โดยเป้าหมาย 6 นาทีนั้น ให้เน้นความสนุก เน้นสร้างเสียงหัวเราะ อย่างเช่น พ่อแม่อาจจะแกล้งเอาบล็อกซ่อนในพุง ซ่อนในประเป๋า เพื่อให้เด็กตามหา  หรือพ่อแม่อาจจะปิดรูบล็อกไว้ไม่ให้หยอด  เพื่อสังเกตดูว่าเด็กจะทำอย่างไร เพื่อเป็นการยื้อเวลาให้ลูกสนใจเล่นของเล่นได้นานขึ้น

ข้อ 3 ช่วยสอนในครั้งแรก..แล้วปล่อยให้ลูกเรียนรู้

การปล่อยให้เด็กทำด้วยตัวเอง..โดยที่พ่อแม่คอยสังเกตดูอยู่ห่างๆ นั้น นับว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ในกรณีที่ลูกไม่เคยทำสิ่งๆ นั้นมาก่อนเลย เพิ่งเคยเล่น เพิ่งเคยทำ หากพ่อแม่เห็นว่าเด็กทำไม่ได้และมีท่าทีขอความช่วยเหลือ พ่อแม่ควรเข้าไปช่วยสอนโดยการทำให้ดูหรือจับมือเด็กทำ อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะจะทำให้เด็กหมดความสนใจและไม่อยากเล่นของชิ้นนั้นแล้ว และหลังจากการสอนในครั้งแรก พ่อแม่ควรช่วยลูกให้น้อยลงในครั้งต่อๆ ไป จนท้ายที่สุดคือ..ไม่ช่วยเลย เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นใจว่า “หนูทำได้”

และข้อสุดท้ายคือ ควรทำให้สม่ำเสมอ ทำให้เรื่องเล่นเหมือนเรื่องกินกับนอน ให้การเล่นเป็นหนึ่งในกิจกรรมประจำวันของลูก

คุณภูชิชย์ ฝูงชมเชย

นักกิจกรรมบำบัด
ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...