การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อ (Arthroscopic Surgery) หรือการผ่าตัดส่องกล้องรักษาข้อ คือการผ่าตัดภายในข้อ โดยใช้กล้องขนาดเล็กส่องเข้าไปในข้อนำภาพภายในข้อมายังจอรับภาพ เพื่อแพทย์จะได้เห็นพยาธิสภาพในข้อได้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็จะใช้เครื่องมือขนาดเล็กเท่าปากกาสอดเข้าไปในข้อเพื่อทำการผ่าตัด แก้ไขพยาธิสภาพนั้นๆ ดังนั้นการผ่าตัดในลักษณะนี้จึงมีแผลที่ข้อขนาดเล็กเพียง 0.5 ซม. 2 แผล ซึ่งต่างกับการผ่าตัดแบบเดิมที่มีแผลขนาดใหญ่ และต้องเปิดเข้าไปในข้อ ทำให้เกิดข้อติดยึดในภายหลัง
ข้อดี ของการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อ
- สามารถเห็นพยาธิสภาพในข้อได้ทั้งหมด และชัดเจนกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
- แพทย์สามารถใช้เครื่องมือขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพ ทำการผ่าตัดแก้ไขพยาธิสภาพในข้อได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว
- สามารถบันทึกรายละเอียดการผ่าตัด เป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ให้คนไข้เก็บเพื่อประโยชน์ในการรักษาในภายหลัง
- แผลมีขนาดเล็ก นอกจากด้านความสวยงามแล้ว ข้อยังได้รับบาดเจ็บน้อยทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดจึงสามารถทำกายภาพหลังผ่าตัดได้ดี และฟื้นตัวเร็ว
- มีโอกาสติดเชื้อจากการผ่าตัดและข้อติดยึดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก
- ระยะเวลาที่ต้องนอนโรงพยาบาลสั้น มีตั้งแต่ทำผ่าตัดและกลับในวันเดียวกันหรืออยู่โรงพยาบาล 1-2 วัน
ผ่าตัดกล้องส่องข้อในการผ่าตัดข้อเข่าใช้ได้กรณีไหน?
- เอ็นข้อเข่าขาด, หมอนรองเข่าฉีก เช่น เอ็นไขว้ในเข่าขาด (ACL,PCL) หมอนรองเข่าฉีกขาด (Meniscus) จากการเล่นฟุตบอล. ประสบอุบัติเหตุรถยนต์, รถชน, ตกบันได เป็นต้น
- กระดูกอ่อนผิวข้อแตก สามารถใช้กล้องส่องข้อในการผ่าตัด ปรับสภาพผิวข้อ รวมถึงการปลูกถ่ายกระดูกอ่อนผิวข้อ
- กระดูกข้อเข่าแตกเข้าข้อ สามารถใช้กล้องส่องข้อช่วยในการจัดกระดูกให้กลับสู่สภาพเดิมได้ดีก่อนทำการยึดด้วยโลหะ
- ข้อเข้าเสื่อม ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุไม่มาก (น้อยกว่า 60 ปี) มีแกนข้อเข่าดี แต่ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่ามากก็สามารถเลือกใช้การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อเพื่อลดอาการปวดจากข้อเสื่อมได้
ผ่าตัดกล้องส่องข้อในการผ่าตัดข้อไหล่
- ไหล่หลุดบ่อยไม่มั่นคง (Shoulder Instability)
- ไหล่ติด รักษาโดยยาและการทำกายภาพแล้วไม่ดีขึ้น (Frozen Shoulder)
- เอ็นรอบข้อไหล่อักเสบหรือฉีกขาด (Rotator Cuff Lesions)
- หินปูนจับที่เอ็นรอบข้อไหล่ (Calcifying Tendinitis)
- หมอนรองเบ้าฉีกขาด (Labral Lesions)
- กระดูกไหล่หักแตกเข้าข้อ (Intraarticular GH joint Fracture)
- ข้อบริเวณไหล่เสื่อม (OA of GH joint, AC joint)
ผ่าตัดกล้องส่องข้อในการผ่าตัดข้อศอก
- ข้อศอกติดยึดจากพังผืดภายในข้อ
- เยื่อหุ้มข้ออักเสบรุนแรง
ผ่าตัดกล้องส่องข้อในการผ่าตัดข้อเท้า
- เอ็นข้อเท้าฉีกเข้าไปขวางในข้อทำให้ปวดข้อเท้าไม่หายหลังข้อเท้าเคล็ด
- เยื่อหุ้มข้ออักเสบรุนแรง