การรักษาเอ็นเข่าฉีกขาด แบ่งเป็น 3 กรณีตามความรุนแรง
- กรณีเนื้อเยื่อบางส่วนของเอ็นฉีกขาด แพทย์จะรักษาด้วยยาบรรเทาปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ใส่ผ้าพยุงเข่า หรือทำกายภาพบำบัด และแนะนำให้งดการใช้หัวเข่าชั่วคราว
- กรณีเอ็นฉีกขาดบางส่วน แพทย์จะพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยว่าจะผ่าตัดหรือไม่ ถ้าไม่ผ่าตัด อาจให้พักการใช้เข่า หรือใส่เฝือกไว้ก่อน
- กรณีเอ็นเข่าฉีกขาด แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด เย็บซ่อมเอ็นข้อเข่า หรือสร้างเอ็นขึ้นใหม่
การผ่าตัดซ่อมแซมหรือสร้างเอ็นข้อเข่าขึ้นใหม่
นอกเหนือจากการผ่าตัดแบบเดิม คือการผ่าตัดแบบเปิดแผลที่หัวเข่าแล้ว ปัจจุบันยังมีทางเลือกใหม่ในการผ่าตัดรักษาเส้นเอ็นข้อเข่า นั่นคือการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก
การผ่าตัดรักษาเอ็นข้อเข่าแบบส่องกล้องแผลเล็กดีอย่างไร ?
เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก สามารถรักษาได้ทั้ง การสร้างเอ็นไขว้หน้า (ACL) และ การเย็บ หมอนรองข้อเข่า (Menicus) โดยข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ ผู้ป่วยจะมีแผลเพียงเล็กๆ เจ็บน้อยทั้งขณะผ่าและหลังผ่า แผลหายเร็วกว่า ฟื้นตัวไวกว่า ทำกายภาพบำบัดได้ง่ายกว่าเดิม ทั้งยังกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็ว โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลายคืน
การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดเอ็นหัวเข่า
- ผู้ป่วยจะได้รับการพันเข่าด้วยสำลีหนาๆ แล้วพันด้วยผ้ายืด เพื่อไม่ให้หัวเข่าบวม
- หลังจากแผลหาย จะเริ่มบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า โดยมีนักกายภาพบำบัดเป็นผู้สอนและดูแลร่วมกับแพทย์
- ควรเลือกการบริหารกล้ามเนื้อโดยที่เข่าไม่ต้องเพิ่มการรับน้ำหนัก เช่น การว่ายน้ำ
- ในกรณีเป็นนักกีฬา ภายหลังจากการผ่าตัดรักษา ทำกายภาพบำบัด บริหารฟื้นฟูกล้ามเนื้อได้ดีแล้ว จะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม แต่ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความพร้อมก่อนเสมอ
การป้องกันเอ็นเข่าฉีกขาด
- การเล่นกีฬา ควรศึกษาทักษะการเล่นให้ถูกต้อง เลือกสนามที่ปลอดภัย ไม่หักโหม และบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่าให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- อาจเลือกกีฬาชนิดอื่น แทนกีฬาที่เสี่ยงต่อการกระแทก ที่มีการยืด หด บิด หรือสะบัดหัวเข่าแรงๆ มีการปะทะแรงๆ
- ควรดูแลที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัยจากการล้ม เช่น ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดิน โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุควรมีราวไว้ให้จับในหลายๆ บริเวณ มีแสงสว่างที่เพียงพอ
- เมื่อได้รับบาดเจ็บ ควรมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว และสามารถฟื้นฟูดูแลตนเองด้วยแนวทางการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์