เคยเป็นไหม? ไม่กล้ายิ้มเห็นฟันอย่างเต็มที่เพราะฟันไม่สวย หมดความมั่นใจ ทำให้เสียบุคลิกภาพไปเลย ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ฟันไม่เรียงสวย ฟันเล็ก ฟันห่าง ฟันเหลือง หรือมีปัญหาสุขภาพฟัน อย่าเพิ่งเครียดไป! เพราะเดี๋ยวนี้มีนวัตกรรมทางทันตกรรมมากมายที่จะช่วยให้คุณกลับมามีฟันสวย ยิ้มได้อย่างมั่นใจ เช่น “การทำวีเนียร์” เป็นต้น
ทำความรู้จัก “วีเนียร์”
วีเนียร์ (Veneer) คือ เทคนิคการเคลือบฟันเทียม มีรูปแบบคล้ายครอบฟัน ต่างกันตรงที่การทำวีเนียร์ไม่ได้ครอบทั้งซี่ เป็นเพียงการเคลือบแค่แผ่นบางๆ แปะไปที่บริเวณหน้าฟัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าวีเนียร์ คือ การฉาบผิวฟัน เคลือบฟันเทียม หรือปิดผิวฟัน เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาสีฟัน ฟันตกกระ ฟันมีแถบสีเทา หรือฟันมีรูปร่างผิดปกติ แม้กระทั่งฟันที่มีการเรียงตัวผิดปกติเล็กน้อยก็สามารถแก้ไขได้ โดยวีเนียร์นิยมทำในตำแหน่งที่ยิ้มแล้วเห็นฟัน โดยเฉพาะบริเวณฟันหน้า เพื่อคืนความมั่นใจในเวลาพูดหรือยิ้มนั่นเอง
การทำวีเนียร์มีกี่แบบ?
การทำทันตกรรมแบบวีเนียร์คือการนำแผ่นวัสดุบางๆ มาติดลงบนผิวหน้าของฟันที่ผ่านการกรอในระดับมิลลิเมตร โดยที่เราสามารถที่จะเลือกลักษณะของรูปร่างและสีของฟันได้ตามต้องการ โดยวัสดุที่ใช้ในการทำทันตกรรมแบบวีเนียร์มีทั้งแบบเซรามิก(Ceramic) และเรซินคอมโพสิต (Resin Composite)
เช็คสิ! การทำวีเนียร์ทั้ง 2 แบบ ต่างกันอย่างไร
-
- วีเนียร์ที่ทำจากเซรามิก ข้อดีของเซรามิกคือไม่ดูดสี ส่วนในเรื่องของความคงทน หากไม่ได้ใช้งานฟันผิดประเภท งานวิจัยพบว่าเกิน 95% อยู่ได้นานเกิน 10 ปี ในการทำคนไข้ต้องมาพบทันตแพทย์อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกจะทำการกรอหน้าฟัน แล้วพิมพ์ปากเพื่อส่งให้ Lab ทำชิ้นงานขึ้นมา โดยขณะที่รอชิ้นงานตัวจริง ทันตแพทย์จะทำวัสดุบูรณะชั่วคราวใส่ให้ หลังจากนั้น 1 – 2 สัปดาห์ จึงกลับมาติดวีเนียร์ตัวจริง
- วีเนียร์ที่ทำจากเรซินคอมโพสิต จะให้สีเหมือนฟันจริงแต่ไม่อยู่ถาวร เพราะวัสดุมีคุณสมบัติดูดสี ถ้าดื่มกาแฟ ชา หรือสูบบุหรี่ เมื่อผ่านไป 2 -3 ปี สีของฟันจะเปลี่ยนไปอาจต้องมาเปลี่ยนชุดใหม่ โดยใช้เวลาทำเพียงครั้งเดียวเสร็จ แต่ค่อนข้างนาน หากคนไข้ทำ 6-8 ซี่ อาจต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง
ขั้นตอนการทำวีเนียร์
-
- พูดคุยกับทันตแพทย์ถึงความต้องการ เพราะบางปัญหาอาจเหมาะสมที่จะแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่น เช่น ฟอกสีฟัน อุดฟัน จัดฟัน เป็นต้น
- เมื่อตัดสินใจทำวีเนียร์แล้ว เข้าสู่ขั้นตอนการพิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลองสำหรับแปะหน้าฟัน เพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างทันตแพทย์และคนไข้ สร้างความมั่นใจให้กับคนไข้ว่าจะออกมาตามแบบที่ต้องการ
- กรอเตรียมหน้าฟันออก มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัญหาเดิมของฟัน เช่น ถ้าฟันเรียงดีอยู่แล้วอาจจะกรอเพียง 0.5 มิลลิเมตร แต่ถ้ามีฟันเหยินออกมาอาจต้องกรอมากขึ้นเพื่อความพอดีของการเรียงตัวของฟันหลังแปะวีเนียร์
- ทำการแปะวีเนียร์ลงบนหน้าฟัน
ดูแลรักษาฟันอย่างไร หลังทำวีเนียร์
-
- แปรงฟันให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือกที่ทำวีเนียร์
- ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง
- เลี่ยงการกัดของแข็งและการใช้ฟันหน้ากัดแทะ
- ระวังการใช้ฟันในลักษณะกัดแล้วงัดออก
- พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน
- หากเป็นคนที่นอนกัดฟันจะต้องใส่เฝือกสบฟันเพื่อป้องกันวีเนียร์เสียหาย
ถึงแม้ว่าการทำวีเนียร์ (Veneer) จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็ยังคงมีข้อเสียอยู่บ้าง เนื่องจากกระบวนการรักษาจำเป็นจะต้องกรอฟัน ทำให้สูญเสียเคลือบฟันไป ดังนั้นจึงไม่ควรทำวีเนียร์หลายครั้งเพราะทุกครั้งที่รื้อวีเนียร์ออกจะมีการกรอถูกฟันธรรมชาติมากขึ้นนั่นเอง