ปวดท้องประจำเดือน เป็นเรื่องปกติจริงหรือ ?

ปวดท้องประจำเดือน เป็นเรื่องปกติจริงหรือ ?

ผู้หญิงส่วนใหญ่ต่างเคยมีอาการ ปวดประจำเดือน และมักคิดว่าอาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติโดยเฉพาะหากปวดเพียงเล็กน้อยและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม อาการปวด ประจำเดือนเล็กน้อยแต่ปวดมาเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคร้ายได้เช่นเดียวกับอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์ ที่ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดประจำเดือนนั้น แต่ตอนนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปวดท้องประจำเดือนกันก่อนดีกว่า

 

อาการปวดประจำเดือนคืออะไร ?

ผู้หญิงจำนวนมากมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือนมีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อย และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น

 

สาเหตุของการปวดประจำเดือน

โดยเฉลี่ยทุกๆ 28 วัน หากไข่ไม่มีอสุจิมาปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่ ‘เยื่อบุโพรงมดลูก’ ระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น

 

ประเภทของอาการปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน

  1. ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุมักเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป
  2. ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น
    1. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกโพรงมดลูก ซึ่งเมื่อเจริญผิดที่แต่ยังทำหน้าที่สร้างประจำเดือนเหมือนเดิม ทำให้อาจมีเลือดประจำเดือนในอุ้งเชิงกรานบริเวณที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเกาะในแต่ละรอบเดือน ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงและอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก
    2. เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดประจำเดือนอย่างมาก และ/หรือ เลือดประจำเดือนมากและยาวนานกว่าปกติ
    3. เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids) มักไม่ใช่เนื้อร้าย ขนาดมีตั้งแต่เล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ หากมีขนาดใหญ่ มักทำให้มีเลือดประจำเดือนออกมามากหรือประจำเดือนกระปริบกระปรอยนานเป็นสัปดาห์ พร้อมกับอาการปวดประจำเดือนหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
    4. ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis) เกิดจากปากมดลูกแคบเกินไป ทำให้เลือดประจำเดือนไหลได้ช้า แต่หากรูปิดสนิทจะทำให้ของเหลวคั่งค้างภายในโพรงมดลูก ทำให้เกิดอาการปวดท้องมากและเรื้อรัง
    5. ปัญหาของมดลูก ท่อรังไข่ หรือระบบอวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ ซึ่งผิดปกติมาแต่กำเนิด ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยช่วงมีประจำเดือน

 

การป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

หากมีอาการปวดประจำเดือน ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดย

  • ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง
  • อาบน้ำอุ่น
  • ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะหรือนั่งสมาธิ
  • รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ควรรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือก่อนมีอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรใช้เมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานผักและผลไม้ จากการศึกษาพบว่าทานอาหารที่มี Vitamin E, Omega-3 Fatty Acids, Vitamin B1, Vitamin B6 และ Magnesium ช่วยลดการปวดประจำเดือนได้

 

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์ ?

สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่อาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคภัยที่ร้ายแรงกว่าอาการปวดประจำเดือนทั่วไป จึงควรพบแพทย์

  1. รับประทานยาแล้วแต่ยังไม่หายปวด
  2. อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น และมีผลต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
  3. มีไข้พร้อมปวดประจำเดือน
  4. เลือดประจำเดือนไหลออกมามากว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย เกือบทุก 1-2 ชั่วโมง หรือมากกว่า 80 ml. ต่อรอบเดือน
  5. รู้สึกปวดท้องน้อยถึงแม้ไม่มีประจำเดือนก็ตาม
  6. มีภาวะมีบุตรยาก

นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




บทความแนะนำ

“เนื้องอกมดลูก”….อวัยวะที่สำคัญของผู้หญิงที่ลืมไม่ได้

พญาไท นวมินทร์

เนื้องอกมดลูกเป็นโรคของกล้ามเนื้อมดลูก เป็นโรคที่พบบ่อยและไม่ใช่เนื้อร้าย ไม่ใช่มะเร็ง แต่เป็นการโตของก้อนเนื้องอกส่วนใหญ่ โดยจะเป็นไปอย่างช้าๆในบางรายเนื้องอกมดลูกอาจไม่โตเพิ่มขึ้นและไม่ก่อให้เกิดอาก

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

พญาไท นวมินทร์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นเบาหวานชนิดพิเศษ ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และหายไปเองเมื่อสิ้นสุดการตั้งครรภ์ สาเหตุของเบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดจากฮอร์โมนที่สร้างจากรก ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินสุลิน

11 เหตุผลที่ลูกควรกินนมแม่

พญาไท นวมินทร์

เหตุผลที่คุณแม่มือใหม่ที่กำลังลังเลและอาจจะถอดใจเรื่องการให้นม ต้องกลับมาคิดใหม่แล้วล่ะว่า...อดทนอีกนิด นมแม่นี่ล่ะดีที่สุด!

มีลูกยาก..แต่มีลูกได้ ด้วยการทำ "เด็กหลอดแก้ว"

พญาไท นวมินทร์

คู่สมรสกับปัญหาภาวะมีบุตรยาก และอยากให้การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ นี่คือข้อมูลเกี่ยวกับเด็กหลอดแก้วที่คุณควรรู้!