ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID 19 ยังคงดำเนินไปอย่างที่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ซึ่งการดูแลตัวเองและการฉีดวัคซีนป้องกันนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรปฏิบัติ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคระบาดครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม นอกจากการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อแล้ว การดูแลตัวเองหรือคนใกล้ชิดที่ติดเชื้อและหายดีแล้วก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะผู้ที่เคยติดเชื้อยังสามารถมีอาการผิดปกติที่ส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และบั่นทอนความสุขในการใช้ชีวิตได้อีกแม้จะหายดีแล้ว โดยภาวะดังกล่าวนี้เรียกว่า Long COVID ซึ่งมีโอกาสพบได้ทั้งกับเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย
Long COVID คืออะไร ? สัญญาณเตือนแบบไหนคืออาการ Long COVID
Long COVID หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันติดหูก็คือ Post COVID เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้หลังจากการติดเชื้อ COVID โดยแม้จะผ่านไปแล้ว 4 สัปดาห์หลังจากหายดี แต่ก็ยังพบว่ายังคงมีอาการผิดปกติอยู่ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทของอาการออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
- อาการใหม่หรือต่อเนื่องจากที่เป็น COVID เดิม
ในกลุ่มอาการ Long COVID ประเภทนี้ ผู้ป่วยจะยังรู้สึกว่าหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย อ่อนแรง และอ่อนเพลียไม่หาย ทำงานไม่ค่อยได้มีประสิทธิภาพเหมือนปกติ หรือบางรายก็อาจมีอาการไอ เจ็บคอ เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ จมูกไม่ได้กลิ่น รับรสชาติได้ไม่ดี ซึ่งเป็นอาการคล้ายกันเลยกับตอนที่เป็น COVID แต่หลังจากหายดีแล้ว ก็กลับมีอาการแบบเดิมซ้ำอีก หรือในคนไข้บางรายก็เป็นอาการสืบเนื่องต่อมาเลยแบบไม่หายสักที - อาการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
เป็นภาวะ Long COVID ที่เกิดจาก เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อ COVID แล้ว ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไปทั่วร่าง จนเกิดการอักเสบในหลายๆ ระบบของร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดในเด็กได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะยังไม่ได้รับวัคซีนเนื่องจากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนด โดยอาการอักเสบทั่วร่างกายหลังการติดเชื้อ COVID ในเด็กนี้จะมีชื่อเรียกว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หรือ Mis-C ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เพราะเป็นการอักเสบในหลายๆ ระบบพร้อมกันทั่วร่างกาย โดยอาการมีได้ตั้งแต่ เป็นไข้ มีผื่นขึ้น ปวดตามข้อ เป็นต้น - อาการข้างเคียงหลังจากป่วยหนักเพราะติดเชื้อ COVID
เป็นภาวะ Long COVID ในกลุ่มคนไข้ที่ติดเชื้อรุนแรง และต้องใช้ยาในการรักษามากๆ ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานๆ ซึ่งผลจากการใช้ยาและพักฟื้นดังกล่าว จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาหลังจากหายดีได้ เช่น คนไข้อาจมีภาวะเครียด วิตกกังวลมากกว่าปกติ จนอาจถึงขั้นกลายเป็นโรคทางจิตเวชได้ หรือ ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาอาการติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหลังจากหาย COVID แล้วได้ เป็นต้น
รับมืออย่างไรดี ? เมื่อพบว่ามีอาการ Long COVID
อาการ Long COVID แต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกัน รวมถึงความรุนแรงก็แตกต่างกันด้วย ซึ่งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุดในการดูแลตัวเองหรือคนใกล้ชิดหลังพบว่ามีอาการ Long COVID นั้น สามารถทำได้ ดังต่อไปนี้
- กลุ่มอาการใหม่หรือต่อเนื่องจากการติดเชื้อ COVID ถือเป็นกลุ่มอาการ Long COVID ที่ไม่มีอันตรายรุนแรง เป็นแต่เพียงการสร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตเท่านั้น ซึ่งหากผู้ป่วยยิ่งคิดมาก วิตกกังวลมาก ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น อาจทำให้นอนไม่หลับ มีภาวะเครียดเพิ่มเติม ดังนั้น หากสังเกตพบอาการไอ เจ็บคอ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น รับรสชาติได้ไม่ดีหลังหายจากโควิด ก็ไม่ควรวิตกกังวล แต่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สบาย อาการทั้งหมดจะหายไปเอง โดยอาจใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน หรือถ้าไม่สบายใจจริงๆ อาจเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและตรวจให้แน่ชัด เพื่อความสบายใจ
- กลุ่มอาการอักเสบตามระบบต่างๆ ของร่างกาย ถือเป็นกลุ่มอาการ Long COVID ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เมื่อสังเกตพบอาการควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที โดยแนวทางในการรักษาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลใกล้ชิดของแพทย์ เนื่องจากไม่ได้เป็นการรักษาการติดเชื้อ COVID เดิมแล้ว แต่จะถือเป็นการรักษาภาวะผิดปกติที่เป็นอีกโรคหนึ่ง ซึ่งมีอาการค่อนข้างรุนแรง
- กลุ่มอาการคนไข้หลังติดเชื้อ COVID หนัก ที่พบบ่อย คือ กลุ่มที่มีอาการทางจิตเวช และกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวานจากผลข้างเคียงของการใช้ยาสเตียรอยด์รักษาในช่วงการติดเชื้อ ก็จะต้องได้รับการรักษาตามอาการ โดยถือว่าเป็นอีกโรคหนึ่ง คือ ผู้ที่มีอาการทางจิตเวช ก็จะต้องได้รับการดูแลจากจิตแพทย์ ส่วนผู้ที่มีอาการเบาหวานก็จะต้องรักษาตามแผนการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อไป อย่างไรก็ตาม ในคนไข้กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยพบแล้วในปัจจุบัน เพราะเชื้อมีการกลายพันธุ์ที่ทำให้ความรุนแรงของอาการลดลง รวมถึงผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนกันค่อนข้างมากแล้ว อาการจึงไม่ค่อยรุนแรงถึงขั้นที่ต้องใช้ยารักษาหรือนอนโรงพยาบาลนานๆ เหมือนช่วงแรกของการแพร่ระบาด
ดูแลตัวเองอย่างไร ? ให้หายห่วง อุ่นใจจาก Long COVID
อาการ Long COVID มีหลายประเภทอาการ ซึ่งแต่ละกลุ่มอาการก็มีแนวทางในการดูแลรักษาที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อให้หลังหายจากอาการ COVID แล้ว เราและคนที่รักปลอดภัยจากอาการ Long COVID มากขึ้น ควรดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
- หากพบอาการผิดปกติหลังหายจากการติดเชื้อที่ต้องสงสัยว่าเป็น Long COVID ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอการใด หากไม่สบายใจควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำ และเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพื่อวินิจฉัยยืนยันให้แน่ชัดว่า ไม่มีอาการรุนแรงที่เสี่ยงหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ในการเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังหายป่วยจาก COVID นั้น ควรห่างจากเมื่อหายดีแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป
- ควรดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดให้ได้รับการฉีดวัคซีนครบตามสูตร อย่างน้อย 3 เข็ม เพราะการฉีดวัคซีนจะช่วยลดอาการรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อได้ ทำให้เสี่ยงภาวะ Long COVID น้อยลง หรือหากมีอาการ Long COVID ก็จะเป็นเพียงแค่อาการสืบเนื่องที่ไม่รุนแรง และจะหายเองได้จนเป็นปกติในที่สุด
- พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
- สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ดูแลสุขภาพอนามัยให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID 19 เราไม่ได้เพียงแค่ต้องป้องกันตัวเองและดูแลคนใกล้ชิดไม่ให้ติดเชื้อเท่านั้น แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว หายดีแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจากภาวะ Long COVID ด้วย เพราะหากไม่ใส่ใจ ไม่ได้หมั่นสังเกตอาการและดูแลตัวเองให้ดี ก็อาจถูกภาวะ Long COVID รบกวนชีวิตจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้
ซึ่งหากพบเห็นอาการผิดปกติที่กวนใจ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจหลังหายจากการติดเชื้อแล้ว การเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ปรึกษา รวมถึงการขอรับการตรวจสุขภาพ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติที่ดี ที่จะช่วยสร้างความอุ่นใจได้มากขึ้น ทำให้หายกังวลใจ และกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เต็มศักยภาพได้อีกครั้ง