ท้องผูก ท้องเสีย...อย่าชะล่าใจ อาจเสี่ยงเป็น “โรคริดสีดวงทวารหนัก”
เดี๋ยวท้องผูก...เดี๋ยวท้องเสีย ชีวิตต้องออกแรงเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำอยู่หรือเปล่า? หรือจริงๆ แล้วการปลดทุกข์...กลับสร้างความทุกข์ให้กับคุณมากกว่า! ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่แค่รบกวนชีวิตประจำวันให้รู้สึกแสบๆ คันๆ แถวทวารหนัก แต่ยังเป็นต้นตอของการเกิด “โรคริดสีดวงทวารหนัก” ภัยร้ายที่คุณไม่ควรมองข้าม!!!
โรคริดสีดวงทวารหนัก คือ ภาวะที่เบาะรองมีการเคลื่อนตัวห้อยคล้อยลงมาต่ำกว่าตำแหน่งปกติ และมีการโป่งพองไม่ยุบตัวลงเมื่อขับถ่ายเสร็จ ทำให้มีเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ
สัญญาณบ่งบอกของริดสีดวงทวารหนัก
หากพบว่ามีเลือดออกสดๆ ตามหลังอุจจาระ เวลาคลำจะพบก้อนเนื้อบริเวณทวารหนัก มีอาการคันรอบๆ บริเวณปากทวารหนัก ทวารหนักเปียกแฉะ และหากมีอาการอักเสบร่วมด้วยก็จะยิ่งเพิ่มอาการเจ็บปวดบริเวณทวารหนัก
ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก
• ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ขับถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระ..จนเบาะรองถูกดันเลื่อนลงมา
• มีอาการท้องเสียอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งท้องเสียบ่อย...ยิ่งออกแรงเบ่งบ่อย
• มีอุปนิสัยชอบเบ่งถ่ายอุจจาระ เพื่อพยายามถ่ายอุจจาระให้หมด
• นั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานานๆ เช่น นั่งอ่านหนังสือ นั่งเล่นโทรศัพท์
• ผู้หญิงตั้งครรภ์ เมื่อฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลงประกอบกับมดลูกโตขึ้นจึงทำให้ขับถ่ายลำบาก
ชนิดของริดสีดวงทวาร
• ริดสีดวงภายนอก (External Hemorrhoid) จะเกิดก้อนที่ผิวหนังบริเวณปากทวารหนัก ต่ำกว่า dentate line อาจมีการอักเสบหรือเลือดออกเนื่องจากถูกปกคลุมด้วยผิวหนัง
• ริดสีดวงภายใน (Internal Hemorrhoid) จะเกิดเหนือ dentate line อยู่ด้านในของทวารหนัก ปกคลุมด้วยเยื่อบุผิวทวารหนัก ไม่มีเส้นประสาทจึงไม่ได้รับความเจ็บปวดโดยแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 (หัวริดสีดวงอยู่ภายใน) จะมีเลือดออกหลังขับถ่าย รักษาด้วยการกินยารักษาริดสีดวงและผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีกากใย ช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวกมากยิ่งขึ้น แต่หากยังมีเลือดออกอาจจะรักษาด้วยการฉีดยาเข้าไปเหนือบริเวณหัวริดสีดวงที่เลือดออก
ระยะที่ 2 (หัวริดสีดวงยื่นออกมาภายนอก) เมื่อขับถ่ายผู้ป่วยจะมีเลือดออกแต่หัวริดสีดวงยังสามารถหดกลับเข้าไปได้เอง รักษาได้โดยใช้วิธียิงยางรัดริดสีดวงหรือฉีดยาให้หัวริดสีดวงฝ่อ ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น
ระยะที่ 3 (หัวริดสีดวงยื่นออกมาและไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้) กรณีนี้จะต้องใช้มือดันเข้าไปทุกครั้งที่ขับถ่าย..และมีเลือดออกเวลาขับถ่าย ต้องรักษาโดยการผ่าตัด แต่ในบางรายที่มีหัวริดสีดวงขนาดใหญ่มากจำเป็นต้องรักษาด้วยการยิงยางรัดริดสีดวงแทน
ระยะที่ 4 (หัวริดสีดวงยื่นออกมาตลอด) ถ้ามีการอักเสบของหัวริดสีดวงร่วมด้วย...ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว
นพ.บุรินทร์ อาวพิทยา
แพทย์ประจำคลินิกโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
โรงพยาบาลพญาไท 1
โทร. 02-201-4600 ต่อ 2177