
นอกจากการให้ยาเคมีบำบัด “การฉายรังสี” ก็สร้างความกังวลให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่น้อย เพราะเหตุนี้ ทาง พญ.มณีนาถ เรืองสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ จึงได้อธิบายถึงการฉายรังสีมะเร็งเต้านม ให้เราได้รู้ว่า...จริงๆ แล้วการฉายรังสีไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด!!
การฉายรังสี...กับการผ่าตัดเก็บเต้านม
แพทย์รังสีรักษาจะทำการฉายรังสีครอบคลุมเต้านม..ในกรณีที่ผ่าตัดเก็บเต้านมเอาไว้! และอาจจะต้องฉายรังสีครอบคลุมต่อมน้ำเหลืองบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอกข้างเดียวกับที่เป็นมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะและตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น “ ระหว่างการฉายรังสี” มีอะไรบ้าง?
เพราะการฉายรังสีมักทำหลังจากการให้ยาเคมีบำบัดครบแล้ว ถ้าหากผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวต่ำ..อาจต้องให้ผู้ป่วยพักการฉายรังสี จนกว่าค่าเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ จึงทำการฉายรังสีต่อไป หรือการดูแลผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการฉายรังสีบริเวณรักแร้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มักเกิดความอับชื้นจากเหงื่อและการเสียดสีกับแขนเสื้อ อาจทำให้มีโอกาสเกิดแผลได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น ไอ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือกลืนอาหารลำบาก เนื่องจากการฉายรังสีต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอกจะส่งผลกระทบต่อหลอดอาหารบางส่วน
หลังการฉายรังสี อาการแบบไหนที่เมื่อเป็นแล้ว...ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์!
ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น มีแผลแตก แผลเปื่อย หรือมีเลือดออกบริเวณที่ทำการฉายรังสี รวมไปถึงการมีไข้สูง ควรรีบไปพบแพทย์ที่ทำการรักษาในทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด! แต่หากไม่สะดวกก็สามารถไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น
แล้วผลข้างเคียง “หลัง” การฉายรังสีครบ มีบ้างหรือไม่?
หากเป็นผู้ป่วยที่รักษาแบบเก็บเต้านม เต้านมอาจมีการเปลี่ยนเป็นก้อนแข็งไม่นุ่มหรือผิดรูปไป เต้านม 2 ข้างอาจไม่เท่ากัน อาจมีหัวนมบุ๋ม อาจไม่มีน้ำนมจากข้างที่ฉายรังสีหากมีการตั้งครรภ์ หรือ อาจมีเส้นเลือดฝอยขึ้นผิดปกติบนเต้านมได้ สำหรับแขนข้างที่ฉายรังสี อาจเกิดการบวมตั้งแต่ปลายนิ้วจนถึงต้นแขน และนิ้วมือทำงานไม่ได้ตามปกติ หรืออาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย รวมไปถึงอาการเจ็บแผลอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมขยับแขน หรือไหล่ข้างที่ฉายรังสี เกิดเป็นพังผืดและทำให้ข้อไหล่หมุนได้น้อยลง หรือไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
ปัจจุบัน การฉายรังสีมีเครื่องมือสมัยใหม่ ตามเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาตลอดเวลา เช่น การฉายรังสี 3 มิติ ชนิดแปรความเข้ม ทำให้แพทย์รังสีรักษามีข้อมูลมากขึ้นในการวางแผนฉายรังสี ช่วยเพิ่มปริมาณรังสีต่อรอยโรคอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นและช่วยลดปริมาณรังสีต่ออวัยวะข้างเคียง จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนจากการฉายรังสีได้ หากเลือกพิจารณาเทคนิคการฉายรังสีให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
บทความโดย
พญ.มณีนาถ เรืองสกุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์