โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีการตรวจพบมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะการแพทย์เข้าถึงผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี การตรวจสอบมีหลายวิธี ตั้งแต่การคัดกรองเบื้องต้นจากการตรวจสุขภาพ และการตรวจอย่างละเอียดอย่างการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยอาการหนึ่งที่ทำให้คนไข้มาพบแพทย์คืออาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด โดย ผศ.นพ.ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์ แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ASIT โรงพยาบาลพญาไท 3 และ นพ.สัญชัย ประเสริฐเพชรมณี
จากคลินิกโรคทางเดินอาหาร ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารและโรคตับ โรงพยาบาลพญาไท 3 จะมาคลายข้อสงสัยเรื่องการถ่ายเป็นเลือดและโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ระดับความรุนแรงของการถ่ายเป็นเลือด
นพ.ธัญเดช อธิบายว่า การถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเกิดจากการขับถ่ายปกติที่มีเลือดปนออกมา ซึ่งสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน บางครั้งจะมีเลือดหยดหลังถ่ายอุจจาระออกมาแล้ว หรือเป็นอุจจาระที่มีเลือดอยู่ในนั้น ทำให้อุจจาระเป็นสีแดงแตกต่างจากปกติ
ถ่ายเป็นเลือดแต่ละแบบ จะช่วยให้วินิจฉัยโรคออกมาได้ไม่เหมือนกัน เพราะนี่เป็นอาการของหลายโรค อย่าคิดว่าเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวารเท่านั้น เมื่อมีอาการแล้วจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด และดีต่อตัวผู้ป่วยเอง
ถ่ายเป็นเลือด... บอกโรคอะไรบ้าง
ความรุนแรงของโรคที่มีอาการถ่ายเป็นเลือด นพ.ธัญเดช อธิบายว่า สามารถดูจากจำนวนครั้งที่ถ่ายเป็นเลือดและปริมาณเลือดที่ออกมา ซึ่งคนที่มีเลือดออกมากจะมีโอกาสเกิดโรคมากกว่า หรือการมีเลือดหยดหลังจากถ่ายอุจจาระอาจเกิดจากบาดแผลที่เส้นเลือดดำส่วนปลายทวาร แต่หากอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายออกมามีเลือดอย่างเดียว นั่นหมายถึงการมีเลือดออกมากในลำไส้ใหญ่จากความผิดปกติบางอย่าง และนี่คือโรคที่มีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
- โรคริดสีดวงทวาร
- โรคเส้นเลือดของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ
- ติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่
- ลำไส้ใหญ่อักเสบ
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
การถ่ายเป็นเลือดเป็นอาการหลักของโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากการเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก ท้องเสีย ทำให้เส้นเลือดดำที่ปลายทวารหนักบวมและไม่ยุบลงไป เกิดเป็นตุ่มริดสีดวง บางคนที่ริดสีดวงอักเสบมากๆ จนหลุดออกมาด้านนอก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเวลาเดินหรือนั่งอย่างมาก หลังจากนั้นเวลาขับถ่ายก็จะมีเลือดออกมาเป็นหยดหลังการถ่าย หรือมีเลือดเปื้อนทิชชู่ตอนเช็ดทำความสะอาด ส่วนอุจจาระเป็นสีปกติ บางคนไม่รู้สึกเจ็บปวด มีอาการแบบเป็นๆ หายๆ แต่บางคนก็รู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนัก คันบริเวณก้น และขับถ่ายลำบากร่วมด้วย
เกิดจากเส้นเลือดเส้นเล็กๆ มีจำนวนมากขึ้นผิดปกติ ทำให้เวลาขับถ่ายมีเลือดออกมาด้วยทั้งแบบก้อนและแบบน้ำเลือด โดยไม่มีอาการปวดท้อง โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคนี้บางคนเลือดจะหยุดได้เอง แต่ก็ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ เพราะอาการที่เกิดขึ้นมักแยกไม่ออกจากโรคอื่น
เป็นเนื้องอกที่เกิดจากกรรมพันธุ์ผิดปกติ มักพบในผู้ชายมากกว่าเพศหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยติ่งเนื้องอกนี้เกิดได้ทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ มีรูปร่างกลม สีออกชมพู อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน โดยผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่บางครั้งจะมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีเลือดเคลือบผิวอุจจาระที่ขับถ่ายออกมา ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ โดยแพทย์จะแนะนำให้คนที่อายุมากกว่า 50 ปีตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อที่อาจเกิดขึ้น
เกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคบิดทั้งมีตัวและไม่มีตัว ซึ่งมีอาการสำคัญคือถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายบ่อยๆ มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกร่วมกับมีเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด ซึ่งต้องทำการรักษาต่อไป
เป็นมะเร็งที่พบบ่อยทั้งในไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี โดยผู้ป่วยจะขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย อุจจาระมีเลือด เป็นต้น ผู้ป่วยบางคนมาหาหมอเพราะเสียเลือดจนเป็นโลหิตจาง ส่วนมากจะพบมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ในช่องท้องมากกว่าลำไส้ตรง มะเร็งชนิดนี้เกิดจากการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำและส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ มักรักษาไม่หายขาด ต้องใช้การส่องกล้องหรือวิธีอื่นเพื่อตรวจหาโรค และตัดเนื้อร้ายออกเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค
มะเร็งลำไส้ใหญ่ กับการถ่ายเป็นเลือด
นพ.สัญชัย อธิบายว่า การตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นมีตั้งแต่การพบหลังจากตรวจคัดกรอง และพบเมื่อมีอาการ เช่น การถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นที่คนไข้ส่วนใหญ่มาพบแพทย์และค่อนข้างวิตกกังวล บางคนถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือบางคนถ่ายออกมาเป็นเลือดโดยไม่มีอุจจาระปนเลย ซึ่งการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่นั้น ทำได้โดยการตรวจส่องกล้อง
ริดสีดวงกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่เกี่ยวข้องกัน
ผู้ป่วยโรคริดสีดวงจะมาด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด ส่วนผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนหนึ่งมาด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด ความเหมือนกันนี้ นพ.สัญชัย บอกว่า เบื้องต้นหากเราคิดว่าเป็นริดสีดวงเพราะมีอาการถ่ายเป็นเลือด หลังจากดูแลตัวเองหรือปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็ไม่ควรปล่อยผ่านและคิดว่าเป็นริดสีดวง เพราะหลายครั้งที่หมอสงสัยว่าเป็นริดสีดวง แต่เมื่อตรวจอย่างละเอียดแล้วกลับเจอมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็บ่อย เจอแผลก็บ่อย ฉะนั้น หากถ่ายเป็นเลือดแล้วดูแลตัวเอง 1-2 สัปดาห์ ก็ยังมีอาการถ่ายเป็นเลือดแบบเป็นๆ หายๆ แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นอาการของริดสีดวง ไม่ใช่โรคอื่นอย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
อึไม่เหมือนเดิม ก็เป็นสัญญาณเตือนได้เหมือนกัน
นพ.สัญชัย บอกอีกว่า การถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ถ่ายแข็งบ้าง เหลวบ้าง สลับไปมา รวมถึงอุจจาระลำเล็กลง ลีบลงจากเดิม เช่น จากเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร เหลือแค่ครึ่งเซนติเมตร เหมือนถูกตัวเนื้องอกรีดออกมา ก็เป็นอาการเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น บางคนจะมาด้วยอาการลำไส้อุดตัน กลุ่มนั้นจะไม่มาด้วยอาการถ่ายเป็นเลือด แต่จะมาด้วยอาการปวดท้องรุนแรง
ต่างอาการ แต่อาจเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ทั้งนี้อาการที่แสดงออกมานั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้อร้ายด้วย นพ.สัญชัย อธิบายว่า ถ้าเนื้องอกอยู่ค่อนไปทางปลายลำไส้ใหญ่หรือเข้าใกล้ทวารหนัก อาการจะมาได้เร็ว โดยคนไข้จะมาด้วยอาการถ่ายเป็นเลือดให้เห็น ทำให้ตรวจสอบได้เร็ว จะเจอในระยะเริ่มต้น ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีมาก รักษาถึงขั้นหายขาดได้ ส่วนกลุ่มที่โชคไม่ดีหน่อย เนื้องอกอยู่ส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ คนไข้จะมาด้วยอาการลำไส้อุดตันซึ่งส่วนใหญ่เป็นระยะท้ายๆของโรค ทำให้การรักษาค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าการขับถ่ายของเราผิดปกติไปจากเดิม ก็ควรคิดไว้ก่อนว่ามีปัญหาในร่างกายของเราหรือเปล่า ก็ควรต้องรีบพบแพทย์
ปัจจัยใดบ้าง ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้
นพ.สัญชัย บอกว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบนั้นเป็นปัจจัยภายนอกอย่างพฤติกรรมการกิน คนที่ชอบกินของมัน/ของทอดจะเสี่ยงมากกว่า รวมทั้งคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำ ส่วนปัจจัยภายในคือพันธุกรรม คนที่มีปู่ ย่า ตา ยาย พ่อแม่ เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็มีความเสี่ยงมากกว่า
ป้องกัน ก่อนเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ในไทย เช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ซึ่ง นพ.ธัญเดช บอกว่าสามารถป้องกันตัวเองได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีกากใยมากๆ
- ไม่ควรอั้นอุจจาระ เมื่อปวดควรขับถ่ายทันที
- ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ
- เมื่ออุจจาระเสร็จแล้วควรใช้น้ำทำความสะอาดก้น
ผักและผลไม้อย่างกล้วยหรือมะละกอ เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูก เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหารรสจัดที่สร้างความระคายเคืองให้กระเพาะอาหาร ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้วและเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
เพราะการอั้นไว้ ลำไส้ใหญ่จะทำงานโดยดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย ทำให้อุจจาระเริ่มแข็งตัวเพราะขาดน้ำ ทำให้ลำบากและทรมานเวลาขับถ่าย ทางที่ดีควรฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา เช่น ตอนเช้าหลังตื่นนอน ที่สำคัญคือไม่ออกแรงเบ่งมากเกินไป เพราะจะทำให้เลือดคั่งบริเวณทวารหนัก เกิดการบวมและเป็นแผลได้ แนะนำว่าไม่ควรอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์ในห้องน้ำที่ทำให้ต้องนั่งนาน ทางที่ดีเมื่อขับถ่ายเสร็จแล้วควรออกจากห้องน้ำ
ไม่นั่งหรือยืนนานๆ เพราะเมื่อเกิดความดันในหลอดเลือดดำตรงช่องทวารหนัก จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งการออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มีกำลังดี ท้องจะไม่ค่อยผูก
เพราะหากกระดาษทิชชูไม่มีความนุ่มละเอียด เมื่อเช็ดก้นอาจทำให้เนื้อเยื่อทวารหนักเกิดการถลอกได้ ซึ่งเชื้อโรคที่มีในอุจจาระอาจทำให้แผลถลอกเกิดการอักเสบได้เพราะติดเชื้อได้
ถ่ายเป็นเลือด ทำไมต้องตรวจ
นพ.ธัญเดช บอกว่า สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยและแพทย์ต้องร่วมมือกันสืบค้นสาเหตุของความผิดปกติ ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติ ควรรีบไปตรวจ เพราะ...
- เพื่อทราบต้นเหตุที่แท้จริงของการถ่ายเป็นเลือด
- เพื่อวางแผนการรักษาอาการเลือดออกได้ถูกต้องและทันท่วงที
- หากเลือดออกจากริดสีดวง จะรักษาตามระยะโรคอย่างเหมาะสม
- หากเลือดออกจากเนื้องอก แพทย์จะตัดเนื้องอกมาวิเคราะห์ว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
- เพื่อหยุดเลือดที่กำลังออก กรณีที่เลือดออกมากและยังไม่หยุด
- หากเป็นเลือดจากริดสีดวงและยังไม่หยุด แพทย์อาจใช้วิธีฉีดยา การรัดหัวริดสีดวง หรือการผ่าตัดตามความเหมาะสม
- หากเลือดออกจากสาเหตุอื่น ออกมากและยังไม่หยุด แพทย์จะให้รักษาในโรงพยาบาล ส่องกล้องเพื่อหาสาเหตุโดยเร็ว เลือกวิธีที่เหมาะสมในการหยุดเลือด ซึ่งบางครั้งต้องใช้เครื่องมือและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หากเลือดออกจากริดสีดวง แพทย์ต้องตรวจในทวาร ซึ่งมีจุดเลือดออกหรือมีร่องรอยว่าเคยมีเลือดออกจากจุดนั้นจริง แพทย์จะตรวจทวารด้วยนิ้วและใช้กล้องตรวจทวารส่องเข้าไปดูโดยตรง
หากพบริดสีดวง แต่ไม่เห็นหลักฐานว่าเพิ่งมีเลือดออกจากริดสีดวงที่เห็น แสดงว่าริดสีดวงไม่ใช่สาเหตุที่เลือดออก แต่การตรวจของแพทย์ทั้งสองวิธี เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุใดที่เป็นอันตรายมากกว่าริดสีดวง เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ตรงส่วนปลายและทวารหนักมีเนื้องอก
หากไม่พบสาเหตุใดๆ จากการตรวจเบื้องต้น แสดงว่าสาเหตุอยู่ลึกกว่าระยะนิ้วและกล้องตรวจทวาร ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรือวิธีอื่นในการวินิจฉัยต่อไป
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่กับพญาไท 3
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการประเมินปัญหาที่เกิดกับลำไส้ใหญ่ โดยเป็นการตรวจด้วยกล้องส่องลำไส้ใหญ่ มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ยืดหยุ่นได้ มีกล้องและไฟบริเวณปลายเพื่อให้ได้ภาพคมชัดในการตรวจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นพยาธิสภาพภายในได้อย่างชัดเจน และทำการตรวจรักษาในจุดต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ปัจจุบัน การส่องกล้องมีการพัฒนาไปมาก ความละเอียดของกล้องค่อนข้างสูง ทำด้วยไฟเบอร์ออปติก สายค่อนข้างนิ่ม ระหว่างตรวจจะไม่เจ็บ
การตรวจใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที การตรวจค่อนข้างสบายโดยแพทย์จะใช้ยานอนหลับกับผู้เข้าตรวจ เมื่อหลับแล้วจะสอดกล้องเข้าทางทวารหนัก หากเจอติ่งเนื้อหรือความผิดปกติก็จะรักษาไปในตัวทั้งหมด
ต้องเตรียมตัวอย่างไร ก่อนเข้าตรวจส่องกล้อง
นพ.สัญชัย บอกว่า ก่อนเข้าตรวจแพทย์จะให้ยาระบายกับคนไข้ล่วงหน้า 1 วัน ให้งดผลไม้ 2-3 วันเพื่อให้ลำไส้ไม่มีสิ่งตกค้าง ทั้งนี้ ในปัจจุบันยาเตรียมลำไส้พัฒนาไปไกลมาก ทานแล้วไม่ทำให้คนไข้สูญเสียเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งระหว่างการตรวจทีมแพทย์จะมีวิธีที่ทำให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลาย การตรวจกล้องค่อนข้างละเอียด ทำให้ตรวจสอบมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงติ่งเนื้อซึ่งจะเป็นต้นตอของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อย่างละเอียด ทำให้แพทย์จัดการออกไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มาได้อย่างทันท่วงที
ทำอย่างไร เมื่อถ่ายเป็นเลือด
- ควรให้ข้อมูลกับแพทย์อย่างละเอียด ไม่เขินอายหากมีการตรวจทวารหนัก เพราะการตรวจร่างกายและซักประวัติมีความสำคัญอย่างมาก
- อย่าชะล่าใจหากมีเลือดออกทางทวารหนัก หรือขับถ่ายผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์
- จะเป็นประโยชน์กับคนไข้อย่างมาก หากพบแพทย์ในวันที่มีเลือดออก
แพทย์และพยาบาลจะดูแลอย่างไร
- ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด
- ตรวจทวารหนักและช่องทวารหนักโดยละเอียด เพื่อดูว่าเลือดออกจากที่ใด ใช่ริดสีดวงหรือไม่
- ตรวจภาวะเลือดออกที่มีในอุจจาระ
- เจาะเลือดเพื่อตรวจพิเศษต่างๆ ตามความจำเป็น
- หากไม่พบสาเหตุของเลือดออก แพทย์จะแนะนำให้ส่องกล้องตรวจลำไส้ หรือทำรังสีวินิจฉัยที่เหมาะสม
มะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้เร็ว หายขาดได้
นพ.สัญชัย บอกว่าถ้าเราระวังตัวเองตั้งแต่ต้น รู้สึกว่าเกิดความผิดปกติและตรวจสอบเจอได้เร็ว การหายขาดเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้ว โดยหากเจอในระยะที่ 1-2 ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายขาด แต่ระยะที่ 3 ต้องดูว่าการลุกลามไปถึงขั้นไหน ซึ่งสามารถหายขาดได้เช่นเดียวกัน
หลังจากที่เรารักษาตามกระบวนการเรียบร้อยแล้ว จะมีระบบตรวจสอบติดตามอาการหลังการรักษา ในระยะ 1 ปี ระยะ 3 ปี ระยะ 5 ปี ก็มีการนัดตรวจติดตามคนไข้เป็นระยะอยู่แล้ว เพื่อเฝ้าระวังว่าตัวโรคจะกำเริบออกมาอีกหรือไม่ ซึ่งถ้าเกิดอยู่ในโปรแกรมหรือตารางที่แพทย์วางไว้ทั้งหมด ส่วนใหญ่ถ้าตรวจสอบพบการกลับมาเป็นซ้ำ ก็สามารถรักษาให้หายได้เช่นเดียวกัน
ไม่มีอาการ ก็ตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ได้
นพ.สัญชัย บอกว่า นอกจากโปรแกรมหรือตารางตรวจสุขภาพของทุกคนแล้ว ปัจจุบัน มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคหนึ่งที่ทั่วโลกตระหนักกันมากขึ้น หากยังไม่มีอาการ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแนะนำว่าคนที่อายุ 50 ปีทุกคนต้องตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะดีที่สุด แต่ถ้าสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่สามารถส่องกล้องได้ ก็อาจตรวจวิธีอื่นเช่นการตรวจอุจจาระ โดยคนที่ควรเข้ารับการตรวจ มีดังนี้
- คนที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง อาหารที่มีไขมันสูง กากใยน้อย
- คนที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
- คนที่มีอาการลำไส้ระคายเคือง หรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป
- คนที่ครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
ทั้งนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เพียงแค่เรามีพฤติกรรมการกินที่ถูกหลักโภชนาการและหลากหลาย หมั่นสังเกตตัวเองว่าการขับถ่ายเป็นปกติดีหรือไม่ และเมื่อพบความผิดปกติก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อจะรักษาได้อย่างทันท่วงที ส่วนใครที่ยังไม่มีอาการแสดง แนะนำว่าถ้าไม่ได้ติดขัดในการเข้ามาตรวจควรตรวจไว้ ก่อนดีกว่าจะมานั่งแก้ไข เพราะบางทีอาจจะสายเกินไป
โปรโมชั่นศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ