
การเจ็บป่วยที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องอกหรือท้องในหลายๆ โรค มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ในอดีตการผ่าตัดโรคในช่องอกหรือช่องท้องจะใช้วิธีผ่าแบบเปิด ซึ่งจะกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง ผู้ป่วยจะเสียเลือดมาก เกิดความเสี่ยงต่อโรคหรือภาวะแทรกซ้อนสูง และยังทิ้งรอยแผลขนาดใหญ่ไว้ทั้งเจ็บและไม่สวยงาม การพักฟื้นในโรงพยาบาลก็ต้องใช้เวลาหลายวันหรือนานเป็นสัปดาห์
แผลเล็กเจ็บน้อย เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
ปัจจุบัน มีนวัตกรรมการผ่าตัดที่ทำให้เกิดแผลเล็ก เจ็บน้อย พักฟื้นไม่นาน ลดโอกาสการติดเชื้อและการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงกระทบกระเทือนต่ออวัยวะข้างเคียงน้อยมาก และยังได้ผลการรักษาที่ดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง นั่นคือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery - MIS)
การผ่าตัดแบบนี้ แพทย์จะทำการเจาะรูเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.5 ซม. 3 จุด และขนาด 1 ซม. ที่หน้าท้องบริเวณสะดืออีก 1 จุด หรือแล้วแต่อวัยะที่ต้องการผ่าตัด เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือผ่านรูผนังหน้าท้อง การผ่าตัดนี้ศัลยแพทย์จะเห็นอวัยวะที่ต้องการรักษาหรือผ่าตัดผ่านจอภาพ ซึ่งขยายใหญ่ เห็นชัดเจน จึงมีความแม่นยำสูง ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้สามารถทำได้กับโรคต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น นิ่วในถุงน้ำดี ไส้ติ่ง ไส้เลื่อน โรคที่เกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร หรือโรคเฉพาะในผู้หญิงก็ผ่าตัดแบบนี้ได้ผลดี เช่น ถุงน้ำช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกที่รังไข่และมดลูก
การผ่าตัดผ่านกล้อง นิ่วในถุงน้ำดี (Laparoscopic Cholecystectomy)
เมื่อเจาะรูและสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องท้องแล้ว แพทย์จะทำการเลาะถุงน้ำดีออกจากตับ นำใส่ถุงที่ออกแบบเป็นพิเศษ และนำออกมาตรงรูที่เจาะไว้บริเวณสะดือ แพทย์จะใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผล หลังจากตรวจดูการผ่าตัดว่าทุกขั้นตอนเรียบร้อยดีแล้ว แพทย์ก็จะนำเครื่องมือทุกอย่างออกแล้วเย็บปิดแผลที่ผิวหน้าท้องให้เรียบร้อย แผลจึงเล็กและเจ็บน้อย
การผ่าตัดผ่านกล้อง ไส้ติ่ง(Laparoscopic Appendectomy)
แพทย์จะใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านรูที่เจาะไว้ และทำการตัดเอาไส้ติ่งออก โดยใช้กล้องช่วยนำทาง แต่หากแพทย์พบว่าไส้ติ่งแตกหรือมีการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจมีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องแทน
การจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้องหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ความเสี่ยง โดยประเมินจากสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย
การผ่าตัดส่องกล้อง ไส้เลื่อน (Laparoscopic Herniorrhaphy)
การผ่าตัดส่องกล้องไส้เลื่อนทำได้ 2 วิธี คือ การผ่าตัดผ่านชั้นก่อนเข้าช่องท้อง และการผ่าตัดเข้าช่องท้อง ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆ ขนาดประมาณ 1.5 ซม. 1 แผล และ 0.5 ซม. 2 แผล แพทย์จะดึงถุงไส้เลื่อนกลับเข้ามาในช่องท้อง วางแผ่นสังเคราะห์ปิด โดยยึดไว้ด้วยหมุดโลหะ การผ่าตัดแบบนี้จะรบกวนเนื้อเยื่อน้อยกว่า ลดโอกาสการเกิดพังผืดในช่องท้อง การปวดแผลหลังผ่าตัดน้อย ภาวะแทรกซ้อนน้อย ลดอัตราการเป็นซ้ำ และสามารถซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบได้ทุกชนิดในข้างเดียวกันในการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว พักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ในบางคนสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังฟื้นตัว และภายใน 1 สัปดาห์ก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ หากไม่มีอาการเจ็บแผลอีกภายใน 2-4 สัปดาห์ ก็ออกกำลังกายหนัก หรือเล่นกีฬาได้เลย
การผ่าตัดผ่านกล้อง เนื้องอกสำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Colectomy)
แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านการเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้อง และสอดกล้องวิดีโอเล็กๆ เข้าไปทางแผลหนึ่ง และสอดอุปกรณ์ผ่าตัดอื่นๆ เข้าไปทางรูอื่นที่เจาะไว้ จากนั้นจะทำการตัดลำไส้ใหญ่ที่มีเนื้องอกออกด้วยการดูภาพจากจอมอนิเตอร์ เมื่อตัดและนำลำไส้ใหญ่และเนื้องอกออกหมดแล้ว แพทย์จะเย็บต่อลำไส้ใหญ่ส่วนที่ไม่ได้ตัดออกเข้าด้วยกัน หรือต่อลำไส้ส่วนที่เหลือมาเปิดที่หน้าท้อง หรือต่อลำไส้เล็กเข้ากับรูทวารหนัก ขึ้นอยู่กับว่ามีสำไส้ใหญ่ส่วนดีเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
การผ่าตัดผ่านกล้อง พังผืดในช่องท้อง (Laparoscopic lysis adhesion)
พังผืดในช่องท้องมักเกิดจากการบาดเจ็บของเยื่อบุช่องท้อง อาจเกิดจากการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดทวารหนัก หรือประสบอุบัติเหตุ เมื่อมีแผลในช่องท้อง ร่างกายจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดพังผืดเป็นเส้นหรือเป็นแผ่น ทำให้ลำไส้และหรืออวัยวะภายในติดกัน เช่น ลำไส้ติดกับผนังหน้าท้อง ท่อรังไข่ติดกับลำไส้ หรือตับติดกับกระบังลม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการปวด เมื่อมีอาการปวดมากหรือเกิดการอักเสบของอวัยวะที่ถูกพังผืดรบกวน หรือเกิดสำไล้อุดตัน ท่อรังไข่อุดตันในผู้หญิง ก็จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเลาะเอาพังผืดออก การผ่าตัดส่องกล้องเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้การผ่าตัดเกิดแผลเล็ก เจ็บน้อย ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และฟื้นตัวได้รวดเร็ว
การผ่าตัดผ่านกล้อง กระเพาะอาหาร (Laparoscopic Gastrectomy)
การผ่าตัดรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะ กระเพาะอาหารทะลุ แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดโดยขึ้นกับความรุนแรงของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยอาจทำการผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน หรือผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด ถ้าจำเป็นต้องผ่าออกทั้งหมดแพทย์จะทำการต่อหลอดอาหารเข้ากับลำไส้เล็กโดยตรงเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ตามปกติ การผ่าตัดผ่านกล้องจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ได้ดี กระทบกระเทือนต่ออวัยวะข้างเคียงน้อย จึงฟื้นตัวเร็ว และยังไม่เกิดรอยแผลขนาดใหญ่แบบการผ่าตัดเปิดช่องท้อง
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง
- ขนาดของแผลเล็กเพียง 1-2 ซม. ในขณะที่การผ่าตัดแบบเปิดจะมีแผลกว้างถึง 12-20 ซม. ลดขนาดของแผลเป็นที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
- ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน ทำให้เจ็บน้อย ปวยน้อย ลดการเสียเลือด
- ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และโรคแทรกซ้อนต่างๆ ปลอดภัยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง
- พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ในบางกรณีอาจจะกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด ซึ่งเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นเป็นสัปดาห์
- แพทย์มองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจนด้วยกำลังขยายของกล้อง ทำให้ผ่าตัดได้ตรงจุดจึงลดการกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ
- ลดการเกิดพังผืดในช่องท้องจากการผ่าตัดแบบเปิด
ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้อง
- ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ
- ไม่สามารถใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยในบางราย เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคปอดและหัวใจขั้นรุนแรง หรือผู้ที่เคยผ่าตัดและมีพังผืดในท้องมากๆ
นพ.หะสัน มูหาหมัด
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งเต้านมและศัลยกรรมทั่วไป
ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลพญาไท 1
โทร.02-201-4600 ต่อ 2185 -2285