
รู้สึกหน่วงๆ เวลายืนหรือเดิน อาการแบบนี้..อาจไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะนี่คือหนึ่งในสัญญาณเตือนของ “ไส้เลื่อน” ภาวะที่ลำไส้ได้เคลื่อนที่ออกจากช่องท้องมาสู่ภายนอก และแม้ว่าโรคนี้จะพบได้บ่อยในเพศชาย แต่เพศหญิงก็มีความเสี่ยงเป็นโรคไส้เลื่อนได้เหมือนกัน ที่สำคัญ! หากปล่อยให้เรื้อรังไปนานๆ ไม่รักษา..อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มากกว่าที่คิด
ไส้เลื่อน..ภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
เมื่อแรงดันภายในช่องท้องเพิ่มสูงขึ้น..และดันลำไส้ให้เคลื่อนออกมา หากคนไข้มีผนังช่องท้องที่มีความอ่อนแอ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดหรืออายุที่เพิ่มขึ้น ก็จะก่อให้เกิดลักษณะคล้ายก้อนตุงจากภาวะไส้เลื่อน ซึ่งบางครั้งลำไส้ก็สามารถเคลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องเองได้ แต่ในบางราย..ที่ลำไส้ไม่สามารถเคลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องได้ ก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา
อาการแบบไหน? เข้าข่าย“ภาวะไส้เลื่อน”
นอกจากความรู้สึกหน่วงๆ เวลายืนหรือเดินแล้ว ผู้ป่วยจะสังเกตว่ามีก้อนลักษณะตุงๆ บริเวณที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมา เช่น ขาหนีบ (บริเวณที่พบบ่อยที่สุด) ถุงอัณฑะ กระบังลม หรือสะดือ เป็นต้น และบางรายอาจมีอาการผิดปกติอื่นร่วม เช่น เจ็บหน้าอก แน่นท้อง หรือแสบร้อนกลางอกคล้ายภาวะกรดไหลย้อน
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น
กรณีที่อุจจาระไม่สามารถเคลื่อนผ่านลำไส้นี้ไปได้อาจเสี่ยงต่อภาวะลำไส้อุดตัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมวนๆ คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดไม่ผายลม และหากลำไส้ที่เคลื่อนออกมาขาดเลือดไปเลี้ยงจะส่งผลทำให้ลำไส้ตายและเน่า ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดท้องรุนแรงจนไม่สามารถขยับตัวได้ บางรายอาจมีอาการความดันโลหิตต่ำ ต้องได้รับการผ่าตัดรักษาโดยเร็วที่สุด
ผ่าตัดไส้เลื่อน อีกทางเลือกของการรักษา
เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น แพทย์บางท่านอาจแนะนำให้คนไข้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดไส้เลื่อน โดยการผ่าตัดไส้เลื่อนนั้น แบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ ดังนี้
- การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการผ่าตัดเพื่อนำลำไส้กลับเข้าสู่ช่องท้องในตำแหน่งเดิม โดยเทคนิคการผ่าตัดที่นิยมนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การผ่าตัดนำลำไส้กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมแล้วเย็บซ่อมรูหรือเสริมความแข็งแรงให้กับจุดที่เป็นจุดอ่อน ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้นจะใช้แผ่นสารสังเคราะห์ในการเย็บปิดรูหรือจุดอ่อน
- การผ่าตัดแบบใช้กล้อง หลักการเหมือนกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม แต่เทคนิคต่างกัน คือ ใช้กล้องและเครื่องมือผ่าตัดด้วยกล้องเข้าไปช่วย ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยใช้กล้อง คือ แผลผ่าตัดเล็กกว่า กลับไปทำงานได้เร็วกว่า แต่ต้องทำการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้มีความชำนาญเฉพาะ และผู้ป่วยต้องดมยาสลบ
เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้ปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดแบบใช้กล้องถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะใช้วัสดุสังเคราะห์มาใช้ปิดรูไส้เลื่อนด้านใน ทำให้โอกาสกลับมาเป็นซ้ำลดลงอย่างมาก
คำแนะนำการดูแลตนเองหลังผ่าตัด
- ควรระวังไม่ให้แผลเปียกชื้น จนกว่าจะตัดไหม ห้ามแกะ เกา บริเวณแผล เพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ หรือเป็นหนอง
- ขณะไอหรือจามให้ใช้ฝ่ามือ หรือผ้าหนานุ่มกดประคองแผลไว้
- หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ ถ้าท้องผูกควรรักษาแต่เนิ่นๆ หากปัสสาวะลำบากต้องได้รับการรักษาร่วมด้วย
- ห้ามทำงานหนัก หรือยกของหนัก อย่างน้อย 3 เดือน
- ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ถ้าเป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอจามบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ รวมทั้งผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ท้องผูก
- ควรใส่กางเกงในที่กระชับ เพื่อช่วยประคองแผล ลดความเจ็บปวด
- ถ้ามีอาการปวดแผลมาก ควรรับประทานยาบรรเทาปวดตามแพทย์สั่ง และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีไส้เลื่อนเกิดซ้ำ แผลแยกหรือบวม แผลมีน้ำเหลืองซึม มีไข้ ปวดท้อง ให้รีบมาพบแพทย์
แผนกศัลยกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์
โทร. 02-9447111 ต่อ 1219#