
สภาพอากาศในบ้านเราแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นได้ว่าปัญหาของฝุ่นควันและมลพิษส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามหัวเมืองใหญ่ๆ และจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า... ฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาขยะ เผานา เผาไร่หรือวัสดุทางการเกษตรกลางแจ้ง ผนวกกับก๊าซพิษที่เกิดจากการจราจรตามเมืองใหญ่ๆ ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทยอย่างเป็นวงกว้าง
มลพิษในอากาศมีผลกับเราอย่างไร
ภาพมวลอากาศขุ่นๆ อันเกิดจากมลพิษที่เราเห็นเป็นประจำในช่วงที่ผ่านมาสร้างความกังวลให้กับคนจำนวนมาก เพราะมันส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สิ่งนี้ไม่ใช่ความกังวลโดยไร้เหตุผล เพราะจากการสำรวจและงานวิจัยจำนวนมากทั่วโลกก็พบความเชื่อมโยงกัน
ที่ผ่านมาเราพบว่า... “มลพิษในอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรสูงกว่าสี่ล้านคนทั่วโลก” และยังส่งผลให้อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างเช่น การมีผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น การเกิดโรคหลอดเลือดในสมองมากขึ้น การเสียชีวิตก่อนวัยจากโรคหัวใจ โรคหอบหืด หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด และเด็กที่เกิดใหม่ในย่านที่มีมลพิษสูงจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ และสตรีมีครรภ์ก็มีอัตราการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนผลกระทบอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดอีก ก็เช่น ฝุ่นละอองและมลพิษในอากาศเป็นสาเหตุโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายในเด็ก และอาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทในเด็กอีกด้วย
ใครบ้างที่เสี่ยงภัยในมลพิษแบบนี้
จริงๆ แล้วทุกคนก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ เพิ่มขึ้นจากมลพิษและมลภาวะทางอากาศทั้งนั้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ ในแต่ละวัน แต่กลุ่มคนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษก็คือ เด็ก คนชรา และหญิงมีครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นกลุ่มคนกลุ่มนี้จึงควรหาทางป้องกันตัวเอง ด้วยการหลีกเลี่ยงการออกไปอยู่กลางแจ้ง แต่หากจำเป็นก็ควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกเป็นเครื่องป้องกัน
ในอากาศมีมลพิษอะไรบ้าง
ในประเทศไทยหน่วยงานที่ดูแลและรายงานเรื่องมลภาวะในอากาศคือ กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งรายงานดัชนีคุณภาพอากาศหรือที่เรียกว่า Air quality index (AQI) เป็นค่าที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย สื่อถึงมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพรวม 6 ชนิด ได้แก่
- ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ ทําให้ปอดเสื่อม หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด
- ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เป็นฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาในที่โล่ง กระบวนการอุตสาหกรรม การบด การโม่ หรือการทําให้เป็นผงจากการก่อสร้าง เมื่อหายใจเข้าไปสามารถเข้าไปสะสมในระบบทางเดินหายใจ อันตรายต่อสุขภาพ
- ก๊าซโอโซน (O3) เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ก่อให้เกิดการระคายเคืองตา เยื่อบุต่างๆ และระบบทางเดินหายใจ ความสามารถในการทำงานของปอดลดลง เหนื่อยเร็ว โดยเฉพาะในเด็ก คนชรา และคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง
- ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง ก๊าซชนิดนี้จะไปแย่งจับกับฮีโมโกลบินในเลือด ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายลดน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย และหัวใจทำงานหนักขึ้น
- ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ ในอุตสาหกรรม มีผลต่อระบบการมองเห็นและผู้ที่มีอาการหอบหืดหรือ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
- ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน (ซัลเฟอร์) ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ หากได้รับเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้
ทั้งนี้ นอกจากคุณภาพอากาศหรือมลพิษในอากาศจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพปอด หัวใจ และหลอดเลือดโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผิวหนัง สุขภาพผิว สร้างปัญหาผิวแก่ก่อนวัย สีผิวไม่สม่ำเสมอ ได้อีกด้วย
ดร.พญ.พลินี รัตนศิริวิไล
แพทย์ผิวหนัง-ความงาม ผู้เชี่ยวชาญโรคเส้นผมและหนังศีรษะ
เวชศาสตร์ชะลอวัย ประจำศูนย์ผิวพรรณ เส้นผม ศัลยกรรมตกแต่ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
โรงพยาบาลพญาไท 1
โทร. 02-201-4600 ต่อ 3325