
โรคไข้เหลือง เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้เหลือง โดยมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อจากผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เหลืองไปสู่คนปกติ เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก โดยโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นที่พบได้มากในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง และจะมีระยะเวลาภูมิคุ้มกันอยู่ได้อย่างน้อย 10 ปี
อาการของโรคไข้เหลือง
- ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดออกทางปาก ทางจมูก อาจมีอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลืองเล็กน้อย และจะเหลืองมากขึ้นในระยะต่อมา
- ผู้ป่วยประมาณ 50% มักเสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ที่ 2 หลังเริ่มมีอาการ เนื่องจากภาวะตับวาย ไตวาย และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โรคนี้ยังไม่มียารักษา การป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งจำเป็น
วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง
ทำมาจากเชื้อไวรัสไข้เหลืองที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง หลังฉีดวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานอย่างน้อย 10 ปี
ผู้ที่ “ควร” รับฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง
- เด็กอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป และผู้ใหญ่ที่อาศัยหรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่เป็นแหล่งระบาดของโรคไข้เหลือง โดยควรฉีดวัคซีนก่อนเดินทางอย่างน้อย 10 วัน
- ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว จะได้รับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ซึ่งมีอายุรับรองตั้งแต่ 10 วันหลังฉีดวัคซีน จนถึง 10 ปีหลังจากนั้น
ผู้ที่ “ควรงด” รับการฉีดป้องกันโรคไข้เหลือง
- เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองในครั้งก่อน
- แพ้สารเจลลาตินหรือแพ้ไข่
- เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง
- อาการแพ้อย่างรุนแรงจากวัคซีนพบได้น้อยมาก อาการข้างเคียงที่อาจพบหลังรับวัคซีน ได้แก่ ปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ซึ่งอาการอาจเป็นได้นาน 5-10 วัน
- อาการข้างเคียงรุนแรงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไข้สูง อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
- หากมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีนให้ประคบเย็น หรือหากมีไข้ต่ำๆ สามารถรับประทานยาลดไข้ได้ และหากมีอาการผิดปกติอื่นๆควรปรึกษาแพทย์ทันที
ใครบ้าง? ที่ “ควรหลีกเลี่ยง” การเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เหลือง
- ผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
- เด็กอายุ 6-9 เดือน
- มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อ เอชไอวี (HIV) หรือเอดส์
- เป็นมะเร็ง หรือกำลังรักษามะเร็ง ไม่ว่าด้วยวิธีฉายรังสี หรือยาเคมีบำบัด
- รับประทานยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น สเตียรอยด์
- ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับต่อมไทมัส เช่น เนื้องอกของต่อมไทมัส เคยผ่าตัดต่อมไทมัส
- หากมีไข้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน รอให้หายป่วยก่อนค่อยมารับวัคซีน
- กรณีที่มีข้อห้าม หรือข้อจำกัดทางสุขภาพทำให้ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ต้องมีใบรับรองแพทย์เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเดินทางและรับคำแนะนำจากสถานฑูตของประเทศที่จะเดินทางไป รวมทั้งการปฎิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อและถูกยุงกัด
เพราะผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนอาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อกลุ่มคนเหล่านี้ จึงควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีการระบาด แต่หากไม่สามารถเลี่ยงได้อาจรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
หมายเหตุ :
- การป้องกันไข้เหลือง นอกจากการรับวัคซีนแล้ว ควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น ใช้ยาทากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด
- สำหรับผู้ที่เดินทางซึ่งมาจากเขตติดโรคไข้เหลือง เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ถ้าไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนและรายงานสุขภาพกับเจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศภายในระยะเวลา 6 วัน นับจากวันที่เดินทางออกจากเขตติดโรค
ศูนย์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้ใหญ่และนักเดินทาง
โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์
โทร. 02-9447111 ต่อ 1112#