
อาการแสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย เรอเปรี้ยว หรือที่เราคุ้นเคยกันดีว่าเป็นอาการของ “โรคกรดไหลย้อน” นั้น ฟังดูแล้วอาจเป็นเพียงปัญหาทางสุขภาพอย่างหนึ่งที่รบกวนคุณภาพชีวิตไม่รุนแรงนัก ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มองข้ามการรักษาให้หายขาด และการปล่อยให้โรคเรื้อรังไปนานๆ นี่เอง... ทำให้คนไข้อาจจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง “มะเร็งหลอดอาหาร” โดยไม่ทันรู้ตัว
“กรดไหลย้อน” ปัญหายอดฮิตที่เกิดจากสาเหตุนี้
ตามหลักการทำงานของระบบย่อยอาหาร คือเมื่อเราทานอาหารเข้าไป... อาหารจะเคลื่อนผ่านหลอดอาหารเพื่อลงไปยังกระเพาะอาหาร โดยจะมีกล้ามเนื้อหูรูดตรงบริเวณปลายหลอดอาหาร คอยทำหน้าที่เปิดปิดเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมา
ซึ่งถ้ากล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหารนี้เกิดผิดปกติขึ้น เช่น กล้ามเนื้อหูรูดหย่อน เปิดบ่อยเกินไปหรือปิดไม่สนิท ก็จะส่งผลให้มีน้ำย่อยไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหารได้นั่นเอง
สับสนอยู่ไหม? อาการแบบนี้โรคกระเพาะ...หรือกรดไหลย้อนกันแน่
สำหรับอาการที่บอกว่าเป็น “กรดไหลย้อน” นั้น คือจะมีอาการแสบยอดอก เป็นลักษณะการแสบบริเวณลิ้นปี่ย้อนขึ้นมาจนถึงยอดอก โดยมักจะเกิดขึ้นหลังมื้ออาหารประมาณ 30-60 นาที รวมไปถึงอาการเรอเปรี้ยวโดยไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนนำมาก่อน หรืออาจมีเพียงอาการใดอาการหนึ่งก็ได้
ส่วนลักษณะอาการของ “โรคกระเพาะอาหาร” นั้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง แสบท้อง โดยจะรู้สึกแสบร้อนช่วงบริเวณเหนือสะดือถึงลิ้นปี่ หรืออาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยร่วมด้วย ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังมื้ออาหารก็ได้
“กรดไหลย้อน” ปล่อยให้อาการเรื้อรังนานๆ อาจเสี่ยงมะเร็งได้นะ
เมื่อกรดมีการไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหารก็จะส่งผลให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุผิว และเมื่อการอักเสบเกิดขึ้นติดต่อกันไปนานๆ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณเยื่อบุผิว กลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ แต่ทั้งนี้... โอกาสในการที่เยื่อบุผิวจะแปรเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งก็ยังถือว่าน้อยอยู่มาก
ดูแลตัวเองยังไงเมื่อเป็นกรดไหลย้อน นี่คือคำแนะนำ!
- ไม่ทานอาหารมากเกินไป เพื่อลดการผลิตน้ำย่อยหรือกรดจากกระเพาะอาหาร โดยอาจแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ 5-6 มื้อต่อวัน
- ลดน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินจะก่อให้เกิดความดันในช่องท้อง ส่งผลให้เกิดกรดไหลย้อนได้
- ไม่ทานอาหารมื้อดึก หรือไม่ทานอาหารหรือเครื่องดื่มภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- ลด ละ เลิก... การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- เลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เลี่ยงอาหารทอด ของมัน อาหารย่อยยาก รวมถึงอาหารที่มีรสจัด
หากลองปรับพฤติกรรมแล้วอาการกรดไหลย้อนยังไม่ดีขึ้น หรือการทานยาลดกรดไม่ช่วยให้อาการทุเลาลง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าใช่โรคกรดไหลย้อนจริงหรือไม่ จะได้ทำการรักษาให้ตรงกับสาเหตุที่พบ
สอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์
โทร.0-2944-7111 ต่อ 2300