
หากพูดถึงการถนอมกระดูกและข้อ หลายคนอาจเลือกโฟกัสไปที่การดูแลข้อเข่า สะโพก หรือกระดูกสันหลัง แต่คุณรู้หรือไม่ว่า “นิ้ว” ของเรานั้นก็ถูกใช้งานหนักหน่วงไม่แพ้กัน เพราะด้วยกิจกรรมในโลกของยุคดิจิตอลที่ทำให้เราต้องใช้งานนิ้วมือเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งาน การแชทคุยกับเพื่อนในสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่การช้อปปิ้งที่เรามักจะหิ้วของหนักเป็นเวลานาน พฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดานี่แหละ...ที่ทำให้คุณต้องเผชิญกับ “โรคนิ้วล็อค” ได้โดยไม่ทันตั้งตัว!
สังเกตอาการเตือนให้รู้ทัน! ก่อนนิ้วล็อค...ระดับรุนแรง
เพราะโรคนิ้วล็อค เป็นอาการที่มักจะเป็นๆ หายๆ ทำให้หลายคนมองข้าม คิดว่าไม่ใช่เรื่องอันตรายร้ายแรงอะไร ซึ่งอาการเตือนของโรคนิ้วล็อคนั้น มักเริ่มจากอาการเจ็บที่ฝ่ามือก่อนลามไปบริเวณนิ้วมือ โดยระยะความรุนแรงของโรคแบ่งออกได้ 4 ระดับ ดังนี้
- มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ
- เวลากำ หรือเหยียดนิ้วมือ มีอาการสะดุด แต่ยังเหยียดนิ้วมือได้
- เกิดอาการล็อค เวลากำมือ แล้วเหยียดนิ้วมือเองไม่ได้ ต้องใช้มือมาช่วยดึงออก
- ไม่สามารถกำมือได้สุด และข้อนิ้วมืออาจงอผิดรูปร่วมด้วย
หากสังเกตอาการแล้วสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเข้าข่าย 1 ใน 4 ระยะนี้ ควรรีบมาพบแพทย์ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรัง...อาจทำให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือเสียหายถาวรได้ แม้จะรักษาด้วยการผ่าตัดก็อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
“ปลายเข็มสะกิด” เทคนิคการรักษาโรคนิ้วล็อค...ที่ใช้เวลาเพียง 5 นาที!
นอกจากการรักษาอาการนิ้วล็อคด้วยการทานยา การฉีดยาสเตียรอยด์ และการผ่าตัด ในปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งเทคนิคการรักษาโรคนิ้วล็อคที่ช่วยให้แก้ปัญหานี้ได้ภายใน 5 นาที! โดยแพทย์จะใช้คลื่นอัลตราซาวด์นำทางไปยังบริเวณที่มีอาการ และใช้ปลายเข็มสะกิดไปยังบริเวณปลอกหุ้มเอ็นนิ้ว เพื่อตัดปลอกหุ้มที่รัดเส้นเอ็นให้ขาดออกจากกัน ซึ่งหลังการรักษา 24 ชั่วโมง นิ้วมือของคนไข้ก็สามารถโดนน้ำได้ตามปกติ
ไม่เพียงแค่ใช้เวลาในการรักษาไม่นาน เทคนิคการรักษานิ้วล็อคด้วยปลายเข็มสะกิดยังช่วยให้คนไข้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก แต่สำหรับนิ้วมือนิ้วอื่นๆ หากยังไม่ปรับพฤติกรรม ลดปัจจัยที่เพิ่มโอกาสนิ้วล็อค...ก็อาจทำให้โรคนิ้วล็อคเกิดกับนิ้วอื่นๆ ที่เหลือได้เช่นกัน

นพ. นรฤทธิ์ ล้วนจำเริญ
แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์
โทร.02-944-7111 ต่อ 1333
นัดหมายแพทย์