
พอพูดถึงโรคเบาหวานทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถดึงเอาน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระดับน้ำตาลจึงสะสมอยู่ในเลือดมากขึ้น ซึ่งเมื่อน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งระบบของร่างกาย
เบาหวาน กับ การตัดขา มาด้วยกันได้ไง?
หนึ่งในอวัยวะสำคัญที่ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน จนกลายมาเป็นความเชื่อและความเข้าใจว่า “เป็นเบาหวานต้องตัดขา” ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานไม่จำเป็นต้องถูกตัดขาเสมอไป เพียงแต่ว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดและปลายประสาททำให้เสื่อมสภาพลง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงมีการรับรู้ความรู้สึกได้น้อยกว่าคนทั่วไป ส่วนทำไมมีแค่ “ขาหรือเท้า” เท่านั้นที่ถูกยกมาพูดถึง ก็เพราะว่าเท้าและขาเป็นอวัยวะที่อยู่ไกลสายตา จึงอาจได้รับความสนใจน้อยกว่าอวัยวะอื่นๆ ประกอบกับการที่รับรู้ความรู้สึกได้น้อยลง หรือแทบไม่รู้สึกเลย ผู้ป่วยเบาหวานจึงมีโอกาสมีแผลที่เท้าได้มากขึ้นนั่นเอง
เล็บขบและตาปลา อาจร้ายแรงกับคนเป็นเบาหวาน มากกว่าที่คิด
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า… โดยธรรมชาติของร่างกาย การหายของแผลจะต้องอาศัยการหล่อเลี้ยงของเลือด แต่ผู้ป่วยเบาหวานกลับมีหลอดเลือดที่เสื่อมสภาพ เลือดไหลเวียนมายังแผลได้ไม่ดีเท่าที่ควร ร่วมกับน้ำตาลในเลือดที่มีสูงอยู่ก่อนแล้ว แผลจึงหายช้า เชื้อโรคบุกมาโจมตีร่างกายได้ง่าย เชื้อโรคชอบเลือดหวาน เลือดหวานก็จะบูดเสียง่าย โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผลจึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลบริเวณเท้าที่สัมผัสเชื้อโรคได้ง่าย ดังนั้นแม้แค่เกิดเล็บขบหรือตาปลา แต่หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ก็อาจเกิดการติดเชื้อลุกลาม จนต้องถูกตัดขาในที่สุด
ดูแลเล็บเท้าโดยผู้เชี่ยวชาญ มั่นใจ ปลอดภัยแน่นอน
แล้วถ้าเกิดเล็บขบ หรือเป็นตาปลาขึ้นมา ผู้ป่วยเบาหวานควรทำอย่างไร? ก็แนะนำว่าให้ปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีเทคนิคเฉพาะในการดูแลเท้าให้กับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อประเมินว่าเท้าต้องมีการดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งจะแตกต่างจากการทำเล็บตามร้านทั่วไป เพราะอุปกรณ์ทุกชิ้นจะผ่านการฆ่าเชื้อมาโดยเฉพาะ และต้องอาศัยเทคนิคการทำเพื่อลดโอกาสการเกิดแผลด้วยนั่นเอง
ใส่ใจเท้าสักนิด แล้วชีวิตจะไม่เสี่ยง
จะดูแลเท้ายังไงไม่ให้ถูกตัดขาด ง่ายๆ เพียงทำตามขั้นตอนเหล่านี้
- ให้สังเกตทุกวันตอนอาบน้ำ ทั้งเช้าและเย็นว่ามีแผลไหม มีสิ่งสกปรกสะสมที่เท้าหรือไม่ หรือมีอะไรทิ่มตำหรือไม่
- ทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ เพื่อป้องกันการอักเสบของผิว รวมทั้งบริเวณซอกนิ้วและซอกเล็บด้วย
- ทาโลชั่นบำรุงผิวเท้าเป็นประจำ แต่ควรหลีกเลี่ยงการทาบริเวณซอกนิ้วเพื่อป้องกันความอับชื้น ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อรา และเกิดการติดเชื้อได้
- น้ำที่ใช้ในการล้างเท้าควรเป็นน้ำอุณหภูมิห้อง แต่หากจะใช้น้ำอุ่นต้องระมัดระวังเรื่องการควบคุมอุณหภูมิให้ดี
- ไม่ตัดจมูกเล็บ ไม่ตัดเล็บให้สั้นจนเกินไป และตัดเล็บตามแนวของเล็บ ให้ปลายเล็บเสมอปลายนิ้ว ห้ามตัดเนื้อ ตัดตาปลา ตัดหนังแข็งด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด เพราะจะมีโอกาสติดเชื้อได้มาก เนื่องจากอุปกรณ์อาจไม่เหมาะสม และการตัดอาจไม่ถูกต้อง
- สวมถุงเท้าเมื่อเท้าเย็นในเวลากลางคืน เพราะอาการเย็นที่เท้าเกิดได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน
- เลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดี เหมาะสมกับรูปเท้า
เพราะเส้นประสาทและเส้นเลือดที่เสื่อมสภาพไปแล้ว เนื่องจากการเป็นเบาหวานเรื้อรัง มีโอกาสฟื้นฟูให้กลับมาดีดังเดิมได้ยาก ผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรละเลยที่จะดูแลและหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากพบแล้วรีบรักษา ก็จะลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ไม่ต้องเสี่ยงถูกตัดขาในที่สุด