
การไม่สามารถมีความสุขในเรื่องเพศได้อย่างใจปรารถนานับเป็นปัญหาหนึ่งที่คุณผู้ชายมักประสบ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพบสัญญาณเตือนเหล่านี้ เช่น อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้ตามปกติ หรือแข็งตัวในช่วงเวลาสั้นๆ มีการหลั่งน้ำอสุจิช้าหรือเร็วเกินไป ไปจนถึงการไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ นั่นอาจหมายถึง จุดเริ่มต้นของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และสุขภาพทางเพศที่เสียไป และเสี่ยงที่จะเป็นหนักขึ้นจึงควรรีบไปปรึกษาแพทย์
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศคืออะไร
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “erectile dysfunction” (ED) ในทางการแพทย์คือ ภาวะที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้อย่างเพียงพอ หรือไม่สามารถคงการแข็งตัวไว้ได้นานขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์จนเสร็จกิจได้ ภาวะนี้ แม้จะไม่อันตรายอะไรมาก แต่ก็เป็นบ่อเกิดของปัญหาต่างๆ เช่น ความสุขทางเพศ สัมพันธภาพในคู่สมรส ไปจนถึงปัญหาครอบครัว
สาเหตุที่ทำให้ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
สาเหตุของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกันระหว่างโรคทางกายกับปัญหาทางด้านจิตใจ โดยพบว่าสาเหตุหลักๆ ก็คือ การที่เลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ไม่เพียงพอ โดยปกติการรักษาจะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย เมื่อสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากสาเหตใด ก็อาจมีการตรวจเพิ่มเติมให้ตรงจุดตามการพิจารณาของแพทย์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงก่อนเริ่มทำการรักษา
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- อายุ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่ออายุสูงขึ้น โอกาสที่จะเกิดภาวะ ED (เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ) ก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจากสถิติพบว่า
- ในผู้ชายอายุต่ำกว่า 40 ปี พบประมาณ 5 %
- ในผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี พบประมาณ 50 %
- จากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ พบว่า ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศพบมากขึ้นในกลุ่มคนที่ฐานะ/สถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ไม่ค่อยดี
- เป็นผู้มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง เช่น
- โรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่าโรคหัวใจมีผลมากที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะ ED ระดับสูง ถึงร้อยละ 13.2
- โรคความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดภาวะ ED ได้ร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีความดันโลหิตสูง และพบ 8-10% ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความดันโลหิตสูงจะมีภาวะ ED ร่วมอยู่แล้ว
- โรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะ ED ได้ร้อยละ 74.7 เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีเบาหวาน
- ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน เช่น การผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดผ่านทางท่อปัสสาวะ หรือได้รับอุบัติเหตุบริเวณอุ้งเชิงกราน อุบัติเหตุที่ไขสันหลัง
- ผู้ที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
- ผู้ที่การรับประทานยาบางชนิด
- มีพฤติกรรมอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- มีภาวะทางจิตใจที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า จากการศึกษาพบว่าคนที่มีภาวะซึมเศร้ามีภาวะ ED ร้อยละ 50-90
ที่สำคัญไปกว่านั้นพบว่า ใครก็ตามที่มีโรคทั้ง 3 ร่วมกัน มักจะมีภาวะ ED ร่วมทุกราย
การป้องกันภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งทางกายและจิตใจ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจะเหมือนการดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดีนั่นเอง
การรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
การรักษา จะมีทั้งแบบไม่ใช้ยาและแบบที่ต้องใช้ยาหรือใช้อุปกรณ์ช่วย ตัวอย่างเช่น
- การใช้ยากลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ phosphodiesterase type 5 เป็นทางเลือกแรกในการรักษาผู้ที่ไม่มีข้อห้ามใช้ (ผู้ที่ห้ามใช้ คือผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยากลุ่ม nitrate) อาการข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ อาการร้อนวูบวาบและปวดเมื่อยตามตัว
- การรักษาด้วยการฉีดยาเข้าที่องคชาตโดยตรง ยาชนิดนี้เป็นยาที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เพื่อนำเลือดเข้าสู่อวัยวะเพศชายจนเกิดการแข็งตัวได้ และจะแข็งได้นาน 30-60 นาที
- การรักษาด้วยยาสอดเข้าทางท่อปัสสาวะ ใช้ตัวยาเดียวกับที่ใช้ฉีดเข้าอวัยวะเพศ แต่เป็นรูปแบบเม็ดเล็กๆ สอดเข้าทางท่อปัสสาวะ หลังจากคลึงอวัยวะเพศประมาณ 5-10 นาที ยาจะซึมเข้าอวัยวะเพศและทำให้แข็งตัวขึ้นมาได้
- การรักษาด้วยกระบอกสุญญากาศ โดยนำกระบอกสุญญากาศสวมเข้าที่อวัยวะเพศชาย หลังทำการปั๊มอากาศจะถูกปั๊มออกจากท่อพลาสติกที่สวมเข้าไปภายในเวลา 2-3 นาที เลือดจะถูกดึงให้เข้าไปที่เนื้อเยื่อแทน ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่แล้ว จึงถอดกระบอกสุญญากาศออก แล้วนำยางรัดที่ฐานของอวัยวะเพศชาย เพื่อช่วยให้ยังคงการแข็งตัวต่อไปได้
- การผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม
อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องแปลกในผู้ชายสูงวัย แต่กระนั้นอายุก็ไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะ 75% ของผู้ชายที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมักมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ จึงพบได้แม้ในผู้ชายอายุไม่มากที่มีปัญหาสุขภาพแฝงอยู่
การที่ผู้ชายส่วนใหญ่ยังอายที่จะต้องไปพบแพทย์ก็ทำให้เสียโอกาสที่จะรีบรักษา เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ การกลับมาหายดีก็จะเร็วและได้คุณภาพชีวิตทั้งของตนเองและคู่สมรสตามมา
ข้อดีของการไปพบแพทย์ นอกจากจะได้รักษาปัญหาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศแล้ว ผู้เข้ารับบริการก็จะได้ดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะส่วนหนึ่งผู้ที่มีปัญหานี้จะมีโรคบางอย่างซ่อนอยู่แต่ไม่เคยทราบมาก่อน เช่น โรคหลอดเลือดอุดตันที่จะก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดในอนาคต ดังนั้นการดูแลสุขภาพเพศไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย และยังเป็นการได้ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองให้ดี มีความสุขมีความมั่นใจอีกด้วย

รศ.ดร.นพ.อติวุทธ กมุทมาศ
แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ทางเพศ
ศูนย์สุขภาพเพศ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์
โทร.02-944-7111
Fanpage FB: ศูนย์สุขภาพเพศ พญาไท นวมินทร์
นัดหมายแพทย์