
ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีรูปร่างคล้ายปีกผีเสื้อ อยู่ตรงบริเวณหน้าหลอดลมใต้กล่องเสียง ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่สร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย รักษาระดับอุณหภูมิ และมีผลโดยตรงต่อการทำงานของสมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆ
โรคและภาวะของต่อมไทรอยด์ที่พบบ่อย
- ต่อมไทรอยด์ทำงานเป็นพิษ
- ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ
- ต่อมไทรอยด์อักเสบ
- ต่อมไทรอยด์โต
- มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์
ภาวะก้อนที่ต่อมไทรอยด์
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ พบได้ค่อนข้างบ่อย ซึ่งผู้ป่วยอาจคลำพบเอง หรือมีคนทักว่าคอโต แพทย์ตรวจพบจากมีเหตุให้สงสัย การตรวจสุขภาพทั่วไป หรือจากการตรวจอัลตราซาวนด์บริเวณคอจากการมาตรวจโรคอื่นๆ
สาเหตุและอันตรายของภาวะก้อนที่ต่อมไทรอยด์
- อาจเกิดจากการขาดสารไอโอดีน
- ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง
- มีเนื้องอกแบบไม่ร้ายแรง
- มีภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง
- ส่วนน้อยที่จะกลายเป็นก้อนเนื้องอกที่ร้ายแรง หรือเป็นมะเร็ง
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งของต่อมไทรอยด์
ความเสี่ยงว่าก้อนที่ต่อมไทรอยด์จะเป็นมะเร็งหรือไม่ นอกจากการเจาะไปตรวจแล้ว อาจพิจารณาสิ่งเหล่านี้ร่วมด้วย
- ก้อนที่มีขนาดโตอย่างรวดเร็ว
- มีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เสียงแหบ กลืนอาหารลำบาก หายใจลำบาก
- ก้อนที่เกิดในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 30 ปี หรือมากกว่า 60 ปี
- ผู้ป่วยเพศชาย
- ผู้ป่วยที่มีประวัติการได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะและคอในวัยเด็ก
การตรวจเมื่อพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์
จุดประสงค์ใหญ่เพื่อประเมินว่า ก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งหรือไม่ การตรวจทำได้ด้วยการเจาะต่อมไทรอยด์ รวมทั้งการตรวจเลือด เพื่อประเมินการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่ามีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน หรือมีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษหรือไม่
การตรวจด้วยการเจาะต่อมไทรอยด์
แพทย์จะใช้เข็มเจาะดูดชิ้นเนื้อจากต่อมไทรอยด์ เพื่อส่งตรวจทางพยาธิ การตรวจโดยวิธีนี้มีความแม่นยำสูง ภาวะแทรกซ้อนน้อย
.การรักษาภาวะก้อนที่ต่อมไทรอยด์
- ในกรณีที่ผลการตรวจเป็นมะเร็ง ต้องรักษาโดยการผ่าตัด และการกลืนน้ำแร่รังสี
- ในกรณีที่ผลการตรวจไม่พบมะเร็ง มีก้อนขนาดโตก้อนเดียว อาจรักษาด้วยวิธีดังนี้
- ไม่ต้องให้การรักษาใดๆ เพียงติดตามการโตของก้อนในเวลา 1 ปี ซึ่งพบว่าก้อนอาจยุบเองได้ร้อยละ 20-30 หากพบว่าก้อนโตขึ้น ค่อยพิจารณาให้ยารักษา
- การรักษาด้วยการรับประทานยา โดยให้ฮอร์โมนไทรอกซิน การจะดูผลตอบสนองการรักษาอาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือน กว่าก้อนจะมีขนาดเล็กลง การรักษาโดยวิธีนี้ได้ผลประมาณร้อยละ 50
- การรักษาด้วยการฉีดสารแอลกอฮอล์เข้าที่ก้อน ซึ่งอาจต้องทำการฉีดแอลกลฮอล์หลายครั้งผลข้างเคียงของการรักษาวิธีนี้ คือ อาการปวด
เราทุกคนควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเอง หากพบความผิดปกติมีก้อนที่คอในลักษณะดังที่กล่าวมา แนะนำให้พบอายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาต่อไป

พันโท แพทย์หญิงอยุทธินี สิงหโกวินท์
แพทย์หัวหน้าศูนย์เบาหวานไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ
ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ
รพ.พญาไท 2 อาคาร A ชั้น 5
โทร.02-6172444 ต่อ 5224, 5225
นัดหมายแพทย์