ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก icon

ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยาก

พญาไท 2

ในปัจจุบันนี้ปัจจัยที่ทำให้แต่ละครอบครัวมีบุตรยาก คือการแต่งงานช้าลงหรือพร้อมที่จะมีลูกเมื่อมีอายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะ ผู้หญิงที่อายุเกิน 35 ปี กลุ่มนี้จะมีบุตรได้ยากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลายๆอย่างเช่น คุณภาพและปริมาณไข่ในรังไข่ ปัจจัยอื่น ๆ ด้านสุขภาพ ปัจจัยด้านพฤติกรรม เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด ความเครียด ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณของการมีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยาก คือการที่คู่สมรสแต่งงานกันมา 1 ปี และมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ 3-4 ครั้ง ต่อสัปดาห์ โดยไม่มีการคุมกำเนิดแล้วไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แสดงว่ามีปัญหาของการมีบุตรยาก แต่หากคู่สมรสมีความกังวลต้องการจะมีบุตร สามารถปรึกษาแพทย์โดยไม่ต้องรอถึง 1 ปีโดยเฉพาะหญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี และไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านไปนาน เพราะอายุที่มากขึ้น มีผลต่ออัตราความสำเร็จ ควรมาพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับคำว่า ครอบครัวด้วย “ลูกน้อยน่ารักของคุณ”

ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรรพ.พญาไท 2 เปิดให้บริการทุกวันเพื่อรองรับความต้องการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการได้อย่างเต็มที่ โดยทีมแพทย์ พยาบาลและนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วยเทคนิคและเทคโนโลยีที่ทันสมัยครบวงจร อีกทั้งมีห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและห้องผ่าตัดซึ่งได้รับการติดตั้งด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยอย่างครบถ้วนในการช่วยให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นไปอย่างสมบูรณ์ รวมถึง การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาความผิดปกติของฝ่ายหญิง

การบริการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร รพ.พญาไท 2

เทคนิคการช่วยเจริญพันธุ์ มีทั้งวิธีธรรมชาติและการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น การฉีดเขื้อผสมเทียม , IVF , ICSI , Blastocyst culture , การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว ด้วย เทคนิค NGS ( Next Generation Sequencing ) และ CGH ( Array Comparative Genomic Hybridization ) และการแช่แข็งไข่ เป็นต้น

ขั้นตอนดำเนินการ”ทำเด็กหลอดแก้ว”

การทำเด็กหลอดแก้วเหมาะกับคู่สมรสที่มีปัจจัยที่ส่งผลให้มีบุตรยาก ได้แก่ 
  • ฝ่ายหญิงมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน , เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ , ท่อนำไข่อุดตันหรือถูกทำลาย , มีภาวะไม่ตกไข่หรือไข่ตกช้าเนื่องจากภาวะหรือโรคบางอย่างที่ทำให้ระบบฮอร์โมนผิดปกติไป
  • ฝ่ายชาย มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ ได้แก่ จำนวนน้อย รูปร่างผิดปกติ เคลื่อนที่ไม่ดี เป็นต้น

ก่อนดำเนินการทำเด็กหลอดแก้ว

  • คู่สมรสต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุต่างๆของการมีบุตรยาก เช่น ฝ่ายชายต้องตรวจน้ำเชื้ออสุจิ ถ้าสูบบุหรี่ควรงด ส่วนฝ่าย หญิงต้องได้รับ ตรวจภายใน ตรวจมะเร็งปากมดลูก อัลตร้าซาวด์ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจมีผลต่อความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วถ้าพบความผิดปกติต้องทำการรักษาก่อน
  • คู่สมรสจะได้รับคำอธิบายให้เข้าใจ ถึงขั้นตอนการทำ อัตราความสำเร็จและความเสี่ยงของการทำเด็กหลอดแก้ว หากไม่เข้าใจควรสอบถามแพทย์เพิ่มเติม แล้วลงนามในหนังสือยินยอมในการทำเด็กหลอดแก้ว

ขั้นตอนดำเนินการ”ทำเด็กหลอดแก้ว”

การกระตุ้นไข่ เริ่มจากการพบแพทย์ตรวจร่างกาย ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมน และทำอัลตร้าซาวด์ พร้อมกับรับฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ในวันที่ 2 หรือ 3 ของรอบเดือน จากนั้นแพทย์จะนัดอัลตร้าซาวด์เพื่อดูการเจริญเติบโตของไข่ และตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมน เพื่อพิจารณาปรับยาฮอร์โมน โดยจะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาน 8-10 วัน
การเก็บไข่ หลังจากมีการกระตุ้นไข่ด้วยฮอร์โมน จนไข่เจริญเติบโตจนได้ขนาดตามต้องการแพทย์จะทำการเจาะเก็บไข่จากรังไข่ โดยใช้เข็มดูดผ่านทางช่องคลอดและใช้อัลตร้าซาวด์ช่วยบอกทิศทาง แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกระยะสั้นทางหลอดเลือดหรือวางยาสลบ เพื่อป้องกันความรู้สึกเจ็บปวดระหว่างทำ ใช้เวลาเก็บไข่ ไม่เกิน 20-30 นาที
การปฏิสนธิฝ่ายชาย จะต้องเก็บอสุจิใส่ภาชนะที่แพทย์เตรียมให้ เพื่อนำมาคัดแยก เฉพาะอสุจิที่สมบูรณ์นำมาผสมกับไข่ในห้องทดลอง และตรวจดูการปฏิสนธิต่อไป กรณีที่ฝ่ายชายมีน้ำเชื้อน้อยหรือคุณภาพของอสุจิน้อยกว่ามาตรฐานมาก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ไข่จะไม่ได้รับการผสม ควรใช้วิธีการคัดเลือกอสุจิเพียงตัวเดียวฉีดเข้าไปในไข่ โดยไม่ต้องรอให้ปฏิสนธิกันเองเรียกวิธีนี้ว่า อิ๊กซี่ ( ICSI , Intracytoplasmic Sperm injection )


การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน เมื่อเกิดการปฏิสนธิจนเป็นตัวอ่อน แล้วจะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการต่อจนเจริญเติบโต แบ่งเซลล์เป็น 6 – 8 เซลล์ ใช้เวลาประมาณ 3 วันหลังปฏิสนธิ และเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะบลาสโตซีสต์ ใช้เวลาประมาณ 5 วันหลังปฏิสนธิ
การย้ายตัวอ่อน คือการนำตัวอ่อน ย้ายเข้าโพรงมดลูกด้วยการใส่เครื่องมือทางช่องคลอด เหมือนกับการตรวจภายใน ขั้นตอนนี้ไม่ต้องให้ยาระงับปวดหรือยานอนหลับ การใส่ตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก อาศัยเครื่องอัลตร้าซาวด์ในการบอกตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะว่างตัวอ่อนในโพรง มดลูก ปกติแล้วเราย้ายตัวอ่อนได้ 2 ระยะคือตัวอ่อนอายุ 3 หรือ 5 วัน นับตั้งแต่ปฏิสนธิโดยปกติแล้วขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

การปฏิบัติตัวหลังจากนำตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก

  • ให้นอนพักประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง แล้วกลับไปพักต่อที่บ้านอีก 12 – 24 ชั่วโมง
  • ทำงานเบา ๆ ได้ แต่ต้องไม่มีการเกร็งหน้าท้อง
  • ควรงดเพศสัมพันธ์ ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
  • แพทย์นัดประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจการตั้งครรภ์
  • ห้ามรับประทานยาอื่น ๆ นอกเหนือจากที่แพทย์กำหนด
  • หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด

ปัจจัยความสำเร็จของการตั้งครรภ์ จากวิธีการ ”เด็กหลอดแก้ว”

  • ขึ้นอยู่กับการตอบสนองการกระตุ้นการตกไข่
  • ความแข็งแรงของตัวอ่อน
  • อายุเช่น ผู้หญิงอายุเกิน 40 ปี โอกาสรอดชีวิตของตัวอ่อน น้อยกว่าผู้หญิงอายุที่น้อยกว่า
  • ความพร้อมทางด้านร่างกายของฝ่ายหญิง
  • ความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจของคู่สมรส เนื่องจากอาจต้องดำเนินการหลายครั้ง
  • อัตราความสำเร็จของเด็กหลอดแก้วอยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ต่อการทำ 1 รอบ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

  • การตั้งครรภ์แฝด เนื่องจากมีการใส่ตัวอ่อน 1 – 3 ตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
  • รังไข่ตอบสนองฮอร์โมนมากผิดปกติ เนื่องจากรังไข่ได้รับการกระตุ้นเพื่อเพิ่มจำนวนไข่ อาจทำให้มีอาการปวดในท้องเนื่องจากมีน้ำอยึ่ในช่องท้องในปริมาณมาก
  • ภาวะแท้ง
  • การติดเชื้อ

ในปัจจุบันเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้น้อยลง เนื่องจากแพทย์จะหาปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของผู้รับบริการในแต่ละราย หาแนวทางป้องกัน รวมทั้งให้การรักษาที่เหมาะสม

Loading...


Loading...
Loading...
Loading...