โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Thrombotic Stroke) ยังคงเป็นโรคที่มีแนวโน้มของอัตราการพิการ และการเสียชีวิตสูงขึ้นทุกปี จนต้องมีการกำหนดวันอัมพาตโลก (29 ตุลาคมของทุกปี) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตื่นตัว ปกป้องตัวเองและคนที่รักจากพฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจกลายเป็นภาระของครอบครัวในระยะยาวในอนาคต ยังไม่นับเรื่องคุณภาพชีวิตต้องเข้าสู่โหมดวิกฤตไปตลอดกาล
จากสถิติพบว่าในปี 2552 ประชากรไทยทั้งหญิงและชาย เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองมากเป็นอันดับ 1 และเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการอีกด้วย คิดเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดสมองตีบตันร้อยละ 70-80 ผู้ป่วยที่เลือดออกในสมองร้อยละ 20–30 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะความดันโลหิตสูงได้มากที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบ เลี่ยงได้ VS เลี่ยงไม่ได้
สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบว่า โรคหลอดเลือดสมองตีบเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือด หรือมีไขมันมาเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดด้านใน ซึ่งพบได้ทั้งในหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดใหญ่ที่ลำคอ ทำให้ขนาดหรือรูของหลอดเลือดตีบหรือแคบลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ แบ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญได้ 2 ประเภท ดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- อายุ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ เนื่องจากหลอดเลือดเริ่มเสื่อมสภาพลง ยิ่งอายุมากขึ้นอัตราเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้น
- เชื้อชาติ ในทางการแพทย์พบว่าผู้ที่มีผิวสีเข้มจะมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบได้มากกว่าผู้ที่มีผิวสีขาว
- พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้หลอดเลือดแข็งตัวได้ทั่วร่างกาย
- ไขมันในเลือด เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดอุดตัน
- การสูบบุหรี่ พบว่าสัมพันธ์กับการเกิดภาวะหลอดเลือดเปราะ
- การดื่มสุรา พบว่าผู้ที่ดื่มปานกลางจนถึงดื่มจัด จะมีอัตราเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม
- ผู้ที่ไม่ชอบออกกำลังกาย
นอกจากนี้ยังเกิดได้ง่ายกับผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดที่เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial Fibrillation, โรคลิ้นหัวใจ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญทำให้ลิ่มเลือดหลุดจากหัวใจไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดที่ต้องไปเลี้ยงสมอง ทำให้เซลล์สมองขาดเลือดและสูญเสียการควบคุม จนอวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานผิดปกติ หรือที่เราเรียกว่าอัมพฤกษ์ อัมพาตนั่นเอง
วินิจฉัยให้แน่ใจว่าใช่..โรคหลอดเลือดสมองตีบ
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นกระบวนการที่แพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยหลายขั้นตอน เพื่อนำมาสนับสนุนการวิเคราะห์โรค โดยมีขั้นตอนการวินิจฉัย ดังนี้
- ซักประวัติจากผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เกี่ยวกับอาการและระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ ตลอดจนประวัติการใช้ยาประจำและโรคประจำตัว
- การตรวจร่างกาย ได้แก่ วัดความดันโลหิต การหายใจ อุณหภูมิร่างกาย การฟังเสียงหัวใจเต้น รวมถึงการทดสอบระดับความรู้สึกตัว โดยสังเกตจากการพูดคุยโต้ตอบ การทดสอบกำลังของกล้ามเนื้อ แขนขา ทดสอบประสาทรับความรู้สึกที่ผิวหนังว่ามีอาการชา หรือรับความรู้สึกได้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) เป็นการตรวจที่ทำให้สามารถแยกประเภทโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างชัดเจน ตลอดจนขนาดและตำแหน่งของเนื้อสมองที่ถูกทำลายร่วมด้วย
- การอัลตราซาวนด์หลอดเลือดคาโรติด (Carotid Duplex Ultrasound) เป็นการตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณลำคอ เพื่อประเมินภาวะตีบตันของหลอดเลือด
- CT Angiography หรือการฉีดสีและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูพยาธิสภาพของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หากพบว่ามีการตีบของหลอดเลือดเกิน 50% แพทย์อาจใช้วิธีรักษาด้วยการทำบอลลูน
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอกซเรย์ทรวงอก และการตรวจเลือดต่างๆ เพื่อประเมินสภาพของผู้ป่วยสำหรับให้การรักษาต่อไป
เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่แม่นยำ ทำให้แพทย์สามารถประเมินและวางแผนวิธีรักษาที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อตัวผู้ป่วยเอง
โรคหลอดเลือดสมองตีบ รักษาอย่างไรให้มีชีวิตต่อ..
แนวทางการรักษาของโรคหลอดเลือดสมองตีบ ว่า เป้าหมายของการรักษาโรคสมองขาดเลือด หรือ ภาวะหลอดเลือดสมองตีบนั้น คือการทำให้เลือดสามารถไหลกลับไปเลี้ยงที่สมองได้อีกครั้ง ด้วยวิธีการ ดังนี้
- การให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ วิธีนี้จะได้ผลดีต้องทำภายในระยะเวลา 3-4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ เพื่อละลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นหลอดเลือดอยู่ออก ยิ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็ว อัตราการเสียชีวิตหรือพิการก็จะยิ่งลดลงเท่านั้น
- การให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดแดง เป็นการให้ตัวยาสัมผัสกับลิ่มเลือดโดยตรง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินกว่าจะรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ และควรทำภายในระยะเวลา 6 ชั่วโมง ตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ โดยแพทย์จะฉีดสารทึบรังสี เพื่อให้เห็นพยาธิสภาพของหลอดเลือด ก่อนจะฉีดยาไปยังลิ่มเลือดโดยตรงผ่านทางสายสวน
- การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อป้องกันการเกิดอาการซ้ำในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดจากลิ่มเลือดที่หลุดมาจากหัวใจ
ก่อนให้การรักษาทุกครั้ง แพทย์จะตรวจข้อบ่งชี้การให้ยากับผู้ป่วยอย่างละเอียด พร้อมอธิบายให้ญาติผู้ป่วยรับทราบเพื่อตัดสินใจ และลงนามในหนังสืออนุญาตให้รักษาตามแพทย์เห็นสมควร
โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบ (Carotid Stenosis) รักษาอย่างไรให้ได้ไปต่อ..
หลอดเลือดแดงใหญ่มีหน้าที่สำคัญในการลำเลียงเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงสมอง เมื่อมีคราบตะกรัน (Plaque) หรือไขมันไปเกาะ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ จนสมองขาดเลือดได้ในที่สุด ซึ่งแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้โดยการเปิดรูหลอดเลือดแดงใหญ่ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้อีกครั้ง ด้วยวิธีการ ดังนี้
- การผ่าตัด (Carotid Endarterectomy) คือ การผ่าตัดเอาคราบตะกรันในหลอดเลือดแดงออก โดยแพทย์จะให้ยาสลบหรือฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อนการผ่าตัดทุกครั้ง ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บตลอดการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงตีบรุนแรง และในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงตีบมากกว่าร้อยละ 60 นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถลดการเกิดภาวะสมองขาดเลือดได้ดีกว่าการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว
- การทำบอลลูนถ่างขยายหลอดเลือด (Carotid Stenting) คือ การรักษาโดยการสวนหลอดเลือดแดงที่บริเวณขาหนีบไล่ไปจนถึงตำแหน่งที่มีการตีบ จากนั้นแพทย์จะทำการฉีดสารทึบรังสีและทำให้บอลลูนถ่างออก เพื่อขยายหลอดเลือดให้คราบตะกรันเบียดชิดผนังหลอดเลือด เพื่อเปิดทางของหลอดเลือดให้กว้างขึ้น แล้วจึงใส่ขดลวดขนาดเล็ก (Stent) ค้ำหลอดเลือดบริเวณนั้นไว้เพื่อป้องกันการตีบซ้ำ ช่วยให้เลือดไหลผ่านไปเลี้ยงสมองได้สะดวกขึ้น
แม้ความก้าวหน้าในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีจะรุกหน้าไปมาก แต่คงไม่มีใครอยากเข้าใกล้อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือใช้ชีวิตที่เหลือเหมือนตายทั้งเป็น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัวที่สัมพันธ์ต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี อย่าปล่อยให้โรคหลอดเลือดสมองมีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณ