มะเร็งต่อมไทรอยด์
ก้อนของต่อมไทรอยด์เป็นความผิดปกติที่ตรวจพบได้บ่อย และมีอุบัติการณ์สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งจากการตรวจพบโดยบังเอิญในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติอื่นๆ บริเวณคอและช่องอก โดยในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้ มีอุบัติการณ์ของผู้ป่วยใหม่ ที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์เพิ่มมากขึ้น
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นก้อนที่ต่อมไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่ด้านหน้าลำคอ เมื่อผิดปกติจะโตขึ้น และเห็นเป็นก้อนบางครั้งก็เห็นเป็นก้อนเดี่ยวๆ บางครั้งก็โตเป็นลักษณะหลายๆ ก้อนติดกัน และที่สำคัญคือ ก้อนที่เกิดบนต่อมไทรอยด์จะขยับเคลื่อนขึ้น-ลงขณะเรากลืนน้ำลาย
ไทรอยด์เป็นพิษและไม่เป็นพิษ
ต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้นจะมีโรคอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่เป็นพิษและไม่เป็นพิษ ไทรอยด์เป็นพิษเป็นภาวะ หรือโรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ มีการทำงานมากเกินไป เกิดการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ ทำให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายผิดปกติตามไปด้วย อาการที่พบคือ ใจสั่น หงุดหงิด ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย กินจุแต่น้ำหนักไม่เพิ่มหรือกลับผอมลง บางคนมีผิวค่อนข้างชื้น บางคนมีอาการท้องเสีย ส่วนบางคนก็ตาโปนออก ฯลฯ ในกรณีที่ต่อมไทรอยด์ไม่เป็นพิษ จะไม่มีอาการดังกล่าว พบแต่ต่อมไทรอยด์โตขึ้นเท่านั้น บ่อยครั้งมักเข้าใจสับสนระหว่างไทรอยด์เป็นพิษกับมะเร็งไทรอยด์ ไทรอยด์เป็นพิษไม่ใช่มะเร็ง และมักจะพบว่าคนที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษไม่ค่อยเป็นมะเร็งไทรอยด์
ก้อนที่ไทรอยด์ เป็นโรคอะไรบ้าง
ความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ที่พบได้ค่อนข้างบ่อยกว่ากลุ่มอื่น คือ มีก้อนที่เจริญผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์เพียงก้อนเดียว ซึ่งเป็นโรคต่างๆ ได้หลายชนิด และหนึ่งในนั้น มีมะเร็งของต่อมไทรอยด์รวมอยู่ด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์จะต้องให้การวินิจฉัยแยกโรค เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ผู้ป่วยที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์เพียงก้อนเดียว อาจเป็นโรคต่างๆ ได้ดังนี้
- เนื้องอกชนิดไม่ร้ายของต่อมไทรอยด์ (thyroid adenoma) พบได้ประมาณร้อยละ 20-30
- เนื้องอกชนิดไม่ร้ายของต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษร่วมด้วย
- มะเร็งของต่อมไทรอยด์ (thyroid carcinoma) พบได้ร้อยละ 10-15 ในระยะเริ่มต้นจะเป็นก้อนเดี่ยว ขนาดเล็ก และโตขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะมีการแพร่กระจายเป็นก้อนหลายก้อนในเนื้อต่อมไทรอยด์ หรือแพร่กระจายไปที่อื่น เช่น ที่ต่อมน้ำเหลืองหรือที่กระดูก ฯลฯ
- คอพอก หรือ คอหอยพอก (nodular goiter) ร้อยละ 50-60 ของก้อนเดี่ยวที่ต่อมไทรอยด์ มีความผิดปกติอยู่ในกลุ่มของคอหอยพอก
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์เป็นมะเร็ง จะมีอาการอย่างไร
มะเร็งไทรอยด์ เป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ กลายเป็นเนื้อร้าย ซึ่งมะเร็งไทรอยด์มักจะเริ่มเป็นก้อนเฉยๆ ที่บริเวณต่อมไทรอยด์ต่อมาก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตมากขึ้น อาจมีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเป็นก้อนขึ้นที่ด้านข้างลำคอหรือมีก้อนตามตัวที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น ศีรษะ ซี่โครง สะโพก ฯลฯ บางคนอาจมีอาการเสียงแหบ หรือก้อนใหญ่ขึ้นจนหายใจไม่สะดวก
ทำเช่นไรจึงทราบว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์
มะเร็งไทรอยด์ เริ่มแรกมักไม่มีอาการ นอกจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ดังนั้นเมื่อพบก้อนที่บริเวณด้านหน้าลำคอ ที่เคลื่อนขึ้น-ลง ตามการกลืนน้ำลายควรพบแพทย์ แพทย์จะทำการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเซลล์จากต่อมไทรอยด์มาตรวจ (fine needle aspiration) ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ วิธีนี้มีความแม่นยำประมาณ 90% แต่หากการเจาะเซลล์เพื่อตรวจไม่พบเซลล์มะเร็ง ก็อาจเป็นเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ หรือคอหอยพอกได้ ในกรณีดังกล่าว แพทย์จะให้ยาเพื่อรักษาโรคคอหอยพอกและนัดมาตรวจซ้ำ ในกรณีที่เป็นคอพอก ก้อนที่ต่อมไทรอยด์จะมีขนาดเล็กลง และหายได้ในที่สุด แต่หากก้อนนั้นไม่หาย ก็ควรจะคิดถึงโรคอื่นๆ เช่น เนื้องอก หรือมะเร็งต่อมไทรอยด์ ในกรณีนี้แพทย์มักแนะนำให้ทำการผ่าตัด
โดยปกติเมื่อมีการตรวจอัลตราซาวด์จะพบว่าทุกคนมีก้อนต่อมไทรอยด์ได้ แต่ถ้ามีขนาดใหญ่เกิน 1 ซม. ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่าก้อนที่พบเป็นมะเร็งหรือไม่ ปกติถ้าพบก้อนในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี หรือ อายุน้อยกว่า 16 ปี ส่วนใหญ่ก้อนที่พบมักจะเป็นมะเร็ง ดังนั้นแพทย์แนะนำว่าหากมีอาการผิดปกติ หรือผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ควรรับการตรวจอัลตราซาวด์ไทรอยด์ทุกคน
การตรวจไทรอยด์
ปัจจุบันการตรวจก้อนของต่อมไทรอยด์โดยใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงที่มีความคมชัดสูง (High-resolution ultrasound) เป็นวิธีที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง สามารถให้ข้อมูลของรอยโรคในต่อมไทรอยด์ที่เป็นอวัยวะที่อยู่ตื้นได้ดี เช่น การให้รายละเอียดขนาด ลักษณะภาพ (echogenicity texture) ของต่อมไทรอยด์ รายละเอียดของอวัยวะข้างเคียงโดยรอบ อีกทั้งยังสามารถใช้หาตำแหน่งในการเจาะตรวจหาเซลล์ทางพยาธิวิทยาอีกด้วย
การวินิจฉัยแยกโรคของก้อนของต่อมไทรอยด์อาจจำเป็นต้องอาศัยลักษณะภาพทางคลื่นเสียงความถี่สูงที่มากกว่าหนึ่งลักษณะมาประกอบกัน เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาให้การวินิจฉัยว่าก้อนของต่อมไทรอยด์ที่พบ มีโอกาสเป็นมะเร็งมากหรือน้อย นอกจากนั้น การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงจะยังช่วยในการหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการเจาะตรวจเซลล์ไทรอยด์อีกด้วย ส่วนเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเครื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้น ใช้ในกรณีที่ต้องการตรวจเพิ่มเติม เพื่อดูการลุกลามของมะเร็งไปยังอวัยวะใกล้เคียง
อาการบ่งชี้ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งสูง
- ก้อนโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีปัญหาเสียงแหบ หายใจไม่สะดวก
- มีปัญหากลืนอาหารลำบาก, สำลัก
- คลำได้ก้อนอื่นโตที่ด้านข้างลำคอ
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง หรือเคยได้รับการฉายแสงมาก่อน
- อายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 60 ปีแล้วพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์
ป่วยเพียงเล็กน้อยต้องพบแพทย์
“จากประสบการณ์รักษาคนไข้ ทำให้หมอพยายามบอกทุกคนเสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่ป่วย แม้เพียงเล็กน้อยก็ควรพบแพทย์ เพราะสิ่งที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้น เช่นมีคนไข้ท่านหนึ่งมาพบหมอเพราะเป็นหวัด แต่หมอสังเกตเห็นว่าที่คอมีก้อน ดูลักษณะผิดปกติ จึงได้ทำการตรวจเพิ่มเติม และพบว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ ซึ่งคนไข้ท่านนี้ ได้มีการตรวจสุขภาพทุกปี แต่ไม่เคยทำการอัลตราซาวด์ไทรอยด์ จึงไม่พบความผิดปกติ”