โรคหลอดเลือดสมอง… เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก หากเกิดขึ้นและรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไปหมายถึงเซลล์สมองที่ตายมากขึ้นเรื่อยๆ นายแพทย์ภูชิต สุขพัลลภรัตน์ แพทย์อายุรกรรมประสาท ประจำศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 จึงอยากแนะนำให้คนทั่วไปได้รู้ถึงการสังเกตสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมองจากอาการเหล่านี้…
อาการเตือน “โรคหลอดเลือดสมอง” ที่สังเกตได้
สมองเป็นศูนย์ควบคุมอวัยวะแทบทุกส่วนในร่างกาย แต่อาการที่มักพบบ่อยๆ และสังเกตได้ง่าย ได้แก่ หน้าเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กินข้าวกินน้ำแล้วรั่วออกทางมุมปาก พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยน เสียงอ้อแอ้ นึกคำพูดไม่ออก มีอาการชา แขนขาอ่อนแรง ยกมือขึ้นแล้วมือตกลงไป โดยอาการเหล่านี้พบมากถึง 70-80% ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
ทุกวินาที…มีความสำคัญต่อผู้ป่วย
การรักษาโรคหลอดสมองด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยระยะเวลาที่ปลอดภัยสำหรับการให้ยาสลายลิ่มเลือด คือ 3-4 ชั่วโมงครึ่ง นับตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ หากปล่อยทิ้งไว้นานกว่านั้นเนื้อสมองอาจตายไปเยอะจนไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน หรือผลข้างเคียงของยาอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้
นอกจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือด…ยังมีทางเลือกอื่นที่ช่วยผู้ป่วยได้
กรณีที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลล่าช้าเกิน 4 ชั่วโมงครึ่ง จนไม่สามารถรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ ยังมีทางเลือกอื่นๆ ทดแทน แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะของโรคในขณะนั้นด้วยว่าเหมาะสมกับการรักษาวิธีใด ซึ่งในเบื้องต้นเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการตรวจประเมินหลอดเลือดด้วย CT สแกน ทำ MRI หรือฉีดสีดูหลอดเลือด เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคให้แม่นยำก่อน จากนั้นจึงพิจารณาเลือกวิธีการรักษาในลำดับถัดไป
โดย นายแพทย์ภูชิต ได้อธิบายว่า.. “บางรายที่หลอดเลือดใหญ่อุดตันและเนื้อสมองยังไม่ตายมากจนเกินไป แพทย์จะใช้วิธีการต่างๆ เข้าไปเปิดหลอดเลือด เช่น ใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าไปบริเวณที่อุดตันและฉีดยาเข้าไปสลาย หรือใส่อุปกรณ์เข้าไปลากลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ออกมา เพื่อเปิดทางให้เลือดสามารถเข้าไปเลี้ยงสมองได้อีกครั้ง แต่ถ้าเป็นการอุดตันบริเวณหลอดเลือดฝอยที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถใส่อุปกรณ์เข้าไปเปิดหลอดเลือดได้ อาจต้องยอมให้เนื้อสมองตรงส่วนนั้นตายไป พร้อมกับให้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดอื่นตีบตันเพิ่ม เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ซึ่งหากโรคหลอดเลือดสมองเกิดกับเส้นเลือดเล็กๆ ความเสียหายมักจะน้อยกว่าเส้นเลือดใหญ่อยู่แล้ว”
วิธีการเปิดหลอดเลือดมักนิยมใช้วิธีแทงเข็มเข้าไปบริเวณขาหนีบ..หากผู้ป่วยไม่ได้มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น เลือดออกง่ายผิดปกติ หรือมีแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ทำให้แทงเข็มไม่ได้ ในขณะที่ข้อควรระวังในการรักษานั้นแทบไม่มีอะไรแตกต่างจากผู้ป่วยที่รักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด
โรคหลอดเลือดสมอง…อาจนำไปสู่โรค(ร้าย)อื่นๆ ตามมา
โรคที่ตามมาจากโรคหลอดเลือดสมอง มีทั้งโรคที่เป็นผลทางตรงและทางอ้อม โดยโรคทางตรงนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าหลอดเลือดสมองที่มีปัญหา คือ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนไหน ถ้าโดนจุดที่ทำให้แขนขาอ่อนแรง ลุกเดินไม่ได้ ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแผลกดทับ หรือทำให้การหายใจ การกลืนลำบากขึ้น อาจสำลักอาหารจนเป็นสาเหตุให้ปอดติดเชื้อได้
ส่วนผลกระทบอื่นๆ ที่คนทั่วไปไม่ค่อยทราบหรือมองข้ามไป หรือบางครั้งไม่รู้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง ก็เช่นโรคสมองเสื่อม หลายคนไม่ทราบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วส่งผลถึงอาการสมองเสื่อมด้วย จริงๆ เป็นสาเหตุที่พบค่อนข้างมาก เป็นอันดับสองรองจากภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์
ปรับพฤติกรรม…ลดเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างแรกเลย คือ “อายุ” เพราะอายุที่มากขึ้นเรื่อยๆ มีความสัมพันธ์กับการเสื่อมของหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ และอีกหนึ่งปัจจัยก็คือ “พันธุกรรม” โดยหากคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคหลอดเลือดเสมอง เช่น พ่อแม่เคยเป็น…ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงขึ้น
นอกจาก 2 ปัจจัยหลักๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้วนั้น ยังมีปัจจัยร่วมอื่นๆ ที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง…แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็คือ การดูแลควบคุมความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด หรือมีไขมันมาก ลดละเลิกการสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นการลดโอกาสเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองให้น้อยลงได้
นพ. ภูชิต สุขพัลลภรัตน์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท
ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2