Stroke ภาวะอันตรายร้ายแรง..ที่ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งรอด!!

Stroke ภาวะอันตรายร้ายแรง..ที่ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งรอด!!

Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ จนทำให้สมองขาดเลือด และทันทีที่สมองขาดเลือด เซลล์สมองต่างๆ จะค่อยๆถูกทำลาย ส่งผลให้สมองสูญเสียหน้าที่จนเกิดเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้

Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  • โรคหลอดเลือดสมองตืบตัน หรือ Ischemic Stroke เกิดจากการสะสมของไขมัน หรือหินปูนบริเวณผนังหลอดเลือดชั้นใน จนทำให้ขนาดของหลอดเลือดค่อยๆ แคบลงหรือตีบ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการลำเลียงเลือดลดลง และรวมถึงสาเหตุจากการปริแตกของคราบไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด ทำให้ลิ่มเลือดมาเกาะและเกิดเป็นภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ในที่สุด
  • โรคหลอดเลือดสมองแตก หรือ Hemorrhagic Stroke ทันทีที่ผนังหลอดเลือดปริแตก เซลล์สมองจะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงทันที ส่งผลต่อเนื้อสมองโดยตรง และภายในระยะเวลาไม่นานเนื้อสมองจะตายลง ทำให้ผู้ป่วยมักเสียชีวิตในเวลาอันสั้น เป็นภาวะที่พบได้มากในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีหลอดเลือดโป่งพอง โรคตับ และโรคเลือดผิดปกติ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • คอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคอ้วน
  • สูบบุหรี่
  • ความเครียด
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ทำให้ลิ่มเลือดไปอุดตันที่สมอง
  • ผู้ที่ต้องนั่งรถหรือเครื่องบินเป็นเวลานานๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดเป็นการสะสมของลิ่มเลือดบริเวณหัวเข่า

สัญญาณเฉียบพลัน!! บอกว่าคุณกำลังเป็น Stroke

Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่มี “เวลา” เป็นคู่แข่งในการรักษาชีวิต ซึ่งแตกต่างจากโรคชนิดอื่นๆ ที่มีอาการผิดปกติฟ้องจากร่างกาย ทั้งยังสามารถประคับประคองและควบคุมความรุนแรงได้ ในขณะที่ Stroke มักมาด้วยอาการเฉียบพลันแบบทันทีทันใด! ดังนี้

  • อาการแขนขาอ่อนแรง เดินเซ สูญเสียการทรงตัว
  • ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ออก ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง
  • การมองเห็นมีปัญหา มองเห็นภาพซ้อน หรือมองเห็นภาพครึ่งเดียว
  • สับสน หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน

แม้ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการดีขึ้นเองภายใน  24 ชั่วโมง ซึ่งเกิดจากภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว แต่ผู้ป่วยและญาติก็ไม่ควรมองข้ามไป เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของ Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง ที่ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วน!  หน่วยรักษาอัมพาตเฉียบพลันเคลื่อนที่ : Mobile CT & Stroke Treatment Unit

หลังมีสัญญาณ Stroke ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที!

เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่แสดงอาการแบบเฉียบพลัน ทันทีที่ผู้ป่วยมีอาการ Stroke ญาติหรือคนใกล้ชิดต้องรีบพาตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้ไวที่สุด เพราะการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย เพื่อแยกชนิดของโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นชนิดแตกหรือตีบให้เร็วที่สุด ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก แพทย์ต้องรีบทำการผ่าตัดคนไข้โดยเร็วที่สุด แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ต้องรีบดำเนินการเพื่อเปิดหลอดเลือดให้เร็วที่สุด  โดยผู้ป่วยต้องได้รับการฉีดยาละลายลิ่มเลือดภายในระยะเวลา 4.30 ชั่วโมง หากเกินเวลาช่วงดังกล่าว หรือหากฉีดยาละลายลิ่มเลือดไม่ได้ผล แพทย์จะใช้ทางเลือกรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป เพื่อลดเลี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต ดังนี้

  • ให้ยาละลายลิ่มเลือดแดงโดยใช้สายสวน (Intra Arterial Thrombolysis) สำหรับผู้ป่วยที่มาช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง หรือมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่และใช้ยาละลายลิ่มเลือดดำไม่ได้ผล แพทย์จะทำการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงไปที่ก้อนลิ่มเลือด และใส่ยาโดยตรงที่ลิ่มเลือดนั้น
  • ใส่สายสวนลากก้อนเลือด (Clot Retrieval) สำหรับผู้ป่วยที่มารักษาช้า แต่ไม่เกิน 8 ชั่วโมง โดยแพทย์จะทำการใส่สายสวนผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบไปจนถึงตำแหน่งที่มีลิ่มเลือดอุดตันอยู่ แล้วจึงใส่ขดลวดขนาดเล็กพิเศษ ทำการคล้องและลากลิ่มเลือดที่อุดตันออกมา
  • ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดแดง (Carotid Stenting) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของสมองขาดเลือดและตรวจพบหลอดเลือดตีบมากกว่า 50% แต่ไม่สามารถได้เข้ารับการผ่าตัดได้ แพทย์จะใช้ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดแดงจากบริเวณขาหนีบหรือรักแร้ โดยจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง จึงเป็นวิธีรักษาที่มีแค่ในเฉพาะโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น

ดูแลตัวเองอย่างไรให้ไม่กลับไปเป็น Stroke ซ้ำอีก?

เนื่องจาก Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมอง ยังเป็นโรคที่ผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ผู้ป่วยจึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้กลับมาเป็น Stoke ซ้ำสอง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลโรคประจำตัว รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น งดอาหารที่มีไขมันสูง งดอาหารเค็มจัด งดแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่


แชร์

Loading...
Loading...
Loading...