โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับโรคต่างๆ และ “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” คือ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งระบบน้ำเหลืองจะมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค โดยมีเม็ดเลือดขาวทำหน้าที่สร้างสารภูมิคุ้มกันหรือทำลายเชื้อโรค มนุษย์เราจะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ เต้านม และขาหนีบ
ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมี 2 ชนิด คือ
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin lymphoma (NHL) โดยในประเทศไทยพบชนิดนี้บ่อยที่สุด
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin disease (HD)
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นกับ “เพศชาย” มากกว่าเพศหญิง ช่วงอายุประมาณ 60 – 70 ปี รวมไปถึงผู้ที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori และการติดเชื้อไวรัส EBV การสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง ตลอดจนผู้ป่วยที่เป็นโรค SLE หรือในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ในผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หลังจากแพทย์ซักประวัติและพิจารณาจากอาชีพลักษณะงาน สิ่งแวดล้อม สิ่งกระตุ้นแล้ว จะทำการตรวจหาดังนี้
- ตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy)
- ตรวจไขกระดูก เพื่อประเมินว่ามีการกระจายเข้าไปในไขกระดูกหรือไม่
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การตรวจกระดูก (Bone Scan)
- การตรวจ PET Scan
อาการเริ่มต้นของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบได้บ่อย
อาการเริ่มต้นของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ มักมีไข้ หนาวสั่น ไอเรื้อรัง หรือต่อมทอนซิลโต หายใจไม่ค่อยสะดวก เหงื่อชอบออกช่วงเวลากลางคืน เบื่ออาหารและน้ำหนักลด มีอาการคันทั่วทั้งร่างกาย และเมื่อคลำบริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ…จะพบก้อนเนื้อ
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมักเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต! โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจาก
- การชอบทานอาหารจำพวกช็อกโกแลต เนย หรือชีส
- การชอบดื่มเครื่องแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การเปลี่ยงแปลงของฮอร์โมน
- การอดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ
- การใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีกลิ่นควันบุหรี่ กลิ่นน้ำหอม และอากาศร้อนจัด
ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้
ระยะที่ 1 : มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลือง หรือนอกต่อมน้ำเหลืองเพียงบริเวณเดียว
ระยะที่ 2 : มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลือง หรือนอกต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป
ระยะที่ 3 : มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลือง หรือนอกต่อมน้ำเหลืองที่อยู่คนละด้านของกระบังลม
ระยะที่ 4 : มีรอยโรคกระจายออกไปเกินตำแหน่งเริ่มต้นที่พบ เช่น บริเวณตับ ไขกระดูก หรือปอด
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- การให้ยาปฏิชีวนะใน NHL บางชนิด
- การใช้ยาเคมีบำบัด
- การรักษาด้วยการฉายรังสี
- การรักษาด้วยแอนตี้บอดี้
- การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cell Transplantation)
การดูแลตัวเองหลังการรักษา
- รับประทานอาหารที่สะอาดและทำสุกใหม่ๆ
- การออกกำลังกาย ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายเท่าที่ทนได้ ไม่ควรหักโหม
- ผิวหนัง ควรอาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาดโดยเฉพาะบริเวณที่อับชื้น
- ควรรักษาความสะอาดในช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ
- ควรล้างและดูแลบริเวณทวารหนัก ทำความสะอาดหลังถ่ายทุกครั้ง
- การดูแลสุขภาพจิต ควรทำความเข้าใจต่อแผนการรักษากับแพทย์
- การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ