“มะเร็งตับ” ไม่เพียงพบมากที่สุดในเพศชาย และเป็นอันดับ 2 ในเพศหญิง แต่มะเร็งตับยังเป็นมะเร็งที่มีการดำเนินโรคเร็วมาก เรียกว่า…ผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งตับ มักจะมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 3-6 เดือนเท่านั้น!!
มะเร็งตับเกิดจากสาเหตุอะไร ?
มะเร็งตับนั้นสามารถเกิดได้ 2 ทางคือ “เกิดกับตับโดยตรง” และ “ลุกลามมาจากมะเร็งของอวัยวะอื่น” รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งตับ อย่างเช่น โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี พยาธิใบไม้ในตับ สารเคมีต่างๆ ยารักษาโรคบางชนิด ยาฆ่าแมลง สารพิษที่เกิดจากเชื้อรา สารเคมีที่เกิดจากอาหารหมักดอง สุรา ฯลฯ ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะภูมิต้านทานร่างกายต่ำ คุณสมบัติทางพันธุกรรม และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นสาเหตุที่มีส่วนในการเกิดโรค
หากมีอาการเหล่านี้ อาจสงสัยได้ถึงมะเร็งตับ ควรเข้าพบแพทย์
เพราะช่วงแรกเริ่มของโรคมะเร็งมักไม่แสดงอาการ แต่หากเริ่มมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลด แน่นท้องและท้องผูก รู้สึกอ่อนเพลีย ควบคู่กับมีไข้ต่ำ มีอาการปวดหรือเสียดชายโครงด้านขวา เมื่อลองคลำอาจจะพบก้อนได้ รวมไปถึงอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโตและขาทั้ง 2 ข้างบวม ควรรีบพบแพทย์ทันที
ยิ่งตรวจพบเร็ว…ยิ่งเพิ่มโอกาสการรักษา
เพราะมะเร็งตับมักลุกลามเร็ว ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน! ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจึงควรปรึกษาแพทย์และตรวจหาความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีดังนี้
- ตรวจโดยเจาะเลือดหาระดับของสารแอลฟาฟีโตโปรตีน ซึ่งเป็นสารที่มะเร็งตับชนิดเซลล์ตับผลิตออกมา
- ตรวจดูก้อนในตับโดยใช้อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์คลื่นแม่เหล็ก MRI หรือฉีดสีตรวจตับ
การรักษามะเร็งตับ
- การผ่าตัด เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่หวังผลในการหายขาดได้ แต่ใช้ได้ในผู้ป่วยที่ก้อนยังไม่โตมาก และการทำงานของตับยังดีอยู่
- การฉีดยาเคมีและสารอุดตันเข้าเส้นเลือดแดง ที่ไปหล่อเลี้ยงก้อนมะเร็ง ทำให้ก้อนยุบลง (Chemoembolization)
- การฉีดยา เช่น ฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งผ่านทางผิวหนัง ใช้ในกรณีก้อนมะเร็งยังเล็กและผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้
- การใช้ยาเคมี ใช้เพียงเพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
- การฉายแสง ใช้เพื่อบรรเทาอาการของมะเร็ง
- การใช้วิธีการผสมผสาน
วิธีลดเสี่ยงหลีกเลี่ยงมะเร็งตับ
- ไม่รับประทานอาหารที่มีเชื้อรา ไหม้หรือรมควัน รวมทั้งอาหารที่เตรียมแล้วเก็บค้างคืน เพราะอาจมีเชื้อราปะปนอยู่
- ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาดิบ ก้อยปลา เพราะอาจจะทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ หรืออาหารหมัก เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า แหนม เพราะมีสารไนโตรซามีน ซึ่งทำให้เป็นโรคมะเร็งตับได้
- ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสดใหม่ๆ
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อและยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
- ตรวจสุขภาพประจำปีในทุกๆ ปี