สาเหตุการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
ในหัวใจของเราจะมีส่วนที่เป็นฉนวนไฟฟ้ากั้นระหว่างห้องบนและห้องล่าง เมื่อมีการนำไฟฟ้าลงไปห้องล่างแล้วจะไม่สามารถย้อนกลับมาห้องบนได้ แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีทางเดินของไฟฟ้าย้อนกลับขึ้นไปยังหัวใจห้องบนได้ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าอาจเป็นตั้งแต่เกิด
การเต้นผิดจังหวะของหัวใจ…มีอยู่กี่แบบ
มี 2 แบบ คือ หนึ่ง เต้นผิดจังหวะแบบต่อเนื่อง สอง การเต้นหัวใจสะดุดเป็นพัก ๆ ซึ่งต้องหาตำแหน่งที่ผิดพลาดว่าอยู่ที่จุดใด เราสามารถรู้ว่าคลื่นไฟฟ้าเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน อย่างเช่น กลุ่มที่มีอาการใจสั่น เต้นเร็ว มาโรงพยาบาลส่วนใหญ่มาถึงก็หาย จับไม่ได้ ผู้ที่มีอาการวูบและใจสั่นจะหาจุดได้ยากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นแต่เมื่อมาพบแพทย์จะไม่เจอ หากเกิดอาการให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อขอตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพราะถ้าใจไม่สั่นแล้ว ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ขณะที่ถ้าพบหัวใจเต้นผิดจังหวะเพียงขั้วเดียวจะสามารถรู้ได้ทันที
อันตรายของการปล่อยให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
ยิ่งหัวใจเต้นเร็วเท่าไหร่ ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงร่างกาย เลี้ยงสมองก็ยิ่งเร็วเท่านั้น ยิ่งนานเท่าไรก็ยิ่งแย่ ยิ่งเป็นตลอดเวลาก็ยิ่งแย่ ในระยะแรกของหัวใจที่เต้นผิดจังหวะจะยังคงบีบตัวดีอยู่ แต่เวลาผ่านไปหัวใจจะบีบตัวแย่ลง ๆ เพราะการบีบตัวคลายตัวของหัวใจต้องใช้พลังงาน หากสร้างพลังงานไม่ทัน ความดันก็จะต่ำเกิดอาการหน้ามืดเป็นลม
“อาการ” ที่น่าสังเกต
อาการสำคัญ คือ ใจสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ อยู่ดี ๆ หัวใจก็เต้นเร็วผิดจังหวะขึ้นอย่างกระทันหัน ทำให้มีอาการเหนื่อยมาก บางครั้งเหนื่อยเพลียมากจนทำอะไรไม่ได้ต้องนอนพัก บางรายรู้สึกหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม เหมือนจะใกล้เสียชีวิต บางรายจะสามารถสังเกตเห็นหัวใจของตนเอง เต้นเร็วอยู่ที่หน้าอกหรือหน้าอกกระเพื่อมให้เห็นอย่างชัดเจน อาการเหล่านี้หากเกิดบ่อย ๆ และหรืออาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยควรรีบมาพบแพทย์ทันที
แนวทางการรักษา ภาวะใจสั่น
การรักษามีอยู่สามทางเลือก คือ หนึ่ง ไม่ทำอะไรเลยสำหรับคนที่เป็นน้อย ๆ เป็นนาน ๆ ครั้ง หรือเป็นในระยะเวลาสั้น ๆ สองกลุ่มที่มีอาการเกิดขึ้นนานพอสมควร ต้องรับประทานยาเพื่อช่วยคุมอาการ ซึ่งในขณะทานยาอยู่ยังสามารถเกิดอาการได้ หากเกิดอาการแบบเฉียบพลันจะใช้ไฟฟ้ากระตุกให้กลับเป็นปกติหรือใช้ยาฉีด หลังจากนั้นต้องรับประทานยาต่อไปเพื่อป้องกัน การรักษาวิธีนี้ไม่หายขาดอยู่ที่ 60 เปอร์เซนต์ และสาม การไปจัดการกระทำลัดวงจร ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ ผ่าตัดทางลัดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งอาจจะสูญเสียมากกว่า เกิดการบาดเจ็บและภาวะแทรกซ้อนสูงเพราะต้องเปิดหน้าอกเข้าไปตัด หากเป็นหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ อันตรายอาจทำให้หัวใจวายเสียชีวิตได้หรือหัวใจห้องบนเต้นพลิ้วต้องเปิดแล้วไปกรีดออก ซึ่งปัจจุบันไม่มีใครทำแล้ว เพราะหันมาใช้วิธีการจี้ทำลายวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง
วิธีการจี้ทำลายวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ทำอย่างไร
ก่อนที่จะเข้าไปถึงหัวใจ เราก็จะต้องเจาะเส้นเลือดดำที่ขาเพื่อหาวิธีเข้าไปแก้ไข เพราะนั่นคือวิธีที่มีโอกาสเสี่ยงน้อย หลังจากนั้นก็นำสายไปวางไว้ที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสม คือ ที่หัวใจห้องบนขวา ที่ตัวรับสัญญาณระหว่างห้องบนกับห้องล่างและในห้องล่างขวา โดยคลื่นวัดไฟฟ้าหัวใจวัดที่ผิวหนังจะทำให้เรารู้ตำแหน่งได้ดีที่สุด
การจี้ทำลายวงจรไฟฟ้าหัวใจใช้เวลานานเท่าไร รักษาแล้วหายขาดหรือไม่
ในการทำหัตถการนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากเจาะเส้นเลือดแล้วต้องนอนพักฟื้น 1 คืน หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ วิธีนี้มีโอกาสหายขาดถึง 95% มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเพียงแค่ 1 % เท่านั้น ภาวะโรคแทรกซ้อนก็น้อยกว่า 1% เช่น หัวใจทะลุ ลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ปอด เกิดลิ่มเลือดบริเวณที่เจาะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่น้อยและยังไม่เคยเกิดขึ้น ในขณะจี้ไฟฟ้าหัวใจคนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บ จะเจ็บเฉพาะบริเวณแผลที่เจาะเท่านั้นซึ่งไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากเปรียบเทียบกับการรักษาโดยรับประทานยาตลอดชีวิตจะควบคุมได้เพียง 60% เปอร์เซนต์และอาการอาจเกิดขึ้นได้อีก แต่หากจี้หัวใจสามารถหายขาด 95 เปอร์เซนต์โดยไม่ต้องรับประทานยาอีก