โรคกระดูกสันหลังคด...คนเป็นกันมาก แต่ไม่รู้ตัว

พญาไท 3

1 นาที

20/05/2021

แชร์


Loading...
โรคกระดูกสันหลังคด...คนเป็นกันมาก แต่ไม่รู้ตัว

โรคกระดูกสันหลังคด เป็นภาวะที่พบได้บ่อย แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ทราบ หรือไม่รู้ตัวมาก่อน เนื่องจากส่วนใหญ่ประมาณ 80% เป็นกระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ และมีแค่ 20% ที่เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดหรือเป็นกระดูกสันหลังคดที่มีโรคอื่นร่วม ในปัจจุบันความก้าวหน้าในการรักษาได้พัฒนาขึ้นมาก หากตรวจพบและรักษาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ร่วมกับความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยและคนในบ้าน ก็สามารถทำให้กระดูกสันหลังกลับมาอยู่ในสภาวะใกล้เคียงปกติได้

โรคกระดูกสันหลังคดคืออะไร ?

โรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ จะมีการโค้งงอร่วมกับการหมุนบิดตัวของกระดูกสันหลัง โดยในภาพถ่ายรังสีกระดูกสันหลังในระนาบหน้า-หลัง จะมีมุมความโค้ง (Cobb angle) ที่มากกว่า 10 องศาขึ้นไป กระดูกสันหลังที่คดสามารถแบบออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆคือ

  1. กระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic scoliosis) ซึ่งจะแบ่งแยกย่อยไปตามช่วงอายุที่พบ ในกลุ่มผู้ป่วยที่พบว่ามีการคดของกระดูกสันหลังช่วงอายุ 10-15 ปี เชื่อว่ามีการถ่ายทอดจากกรรมพันธุ์ ถึง 10 %
  2. กระดูกสันหลังคดตั้งแต่กำเนิด (Congenital scoliosis) เกิดจากการสร้างชิ้นกระดูกสันหลังที่ไม่สมบูรณ์
  3. กระดูกสันหลังแบบมีโรคร่วม เช่น ความผิดปกติของโรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หรือ กลุ่มอาการต่างๆ เช่น กลุ่มอาการดาวน์ เป็นต้น

รู้ได้อย่างไรว่าโรคกระดูกสันหลังคด ?

  1. การตรวจร่างกาย โดยให้ผู้ป่วยยืนตรง จะพบลักษณะที่อาจบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังคด เช่น
  • ความสูงของระดับหัวไหล่ไม่เท่ากัน
  • ความนูนของกระดูกสะบักไม่เท่ากัน
  • ระดับแนวกระดูกสะโพกไม่เท่ากัน
  • ตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
  • ในผู้หญิงอาจพบว่าขนาดของหน้าอกสองข้างไม่เท่ากัน
  1. การตรวจ Adam’ s forward bending test ให้ผู้ป่วยยืนเท้าชิด แล้วก้มไปด้านหน้าเอามือ 2 ข้างแตะพื้น จะเห็นความนูนของหลังไม่เท่ากัน (rib hump)
  2. การตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจร่างกายระบบอื่นๆ เพื่อหาโรคร่วมที่สงสัย การส่งตรวจภาพถ่ายรังสี ใสกรณีที่สงสัยความผิดปกติอื่นๆ ร่วม อาจจำเป็นต้องส่งตรวจภาพรังสีเพิ่มเติม เช่น CT, MRI หรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ

การรักษาโรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ต้องผ่าตัด

  • แพทย์จะอธิบายเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจภาวะของโครงกระดูกสันหลังคด และการดำเนินโรค และคอยช่วยแพทย์สังเกตความเปลี่ยนแปลงความคดของกระดูกสันหลัง และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
  • การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ใช้ในกรณีผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังคดมีมุมองศาที่คดไม่มาก ไม่มีภาวะ การเสียสมดุล (ลำตัวไม่เอียงมาก) ไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาท
  • การรักษาจะใช้เสื้อเกราะ (Brace) ใส่ป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น ให้ใส่ตลอดประมาณ 23 ชั่วโมงต่อวัน ยกเว้น อาบน้ำชำระร่างกายให้ถอดได้
  • การใส่เสื้อเกราะจะต้องใส่จนเด็กหยุดเจริญเติบโต และค่อยๆ ลดจำนวนชั่วโมงที่ใส่ลง จนแน่ใจว่ากระดูกสันหลังไม่คดมากขึ้นแล้ว ก็หยุดใส่ได้ สำหรับผู้ป่วยใกล้จะหยุดโต หรือไม่โตขึ้นแล้ว เสื้อเกราะก็จะไม่มีประโยชน์

การผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังคด

การเลือกวิธีผ่าตัดของแพทย์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความยืดหยุ่น หรือความเว้าของกระดูกสันหลังคด จำนวนของปล้องกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ รวมถึงตำแหน่งที่คด ซึ่งต้องพูดคุยกับผู้ป่วย ตลอดจนสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้เข้าใจเป้าหมายการผ่าตัดที่ตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย

 

หลักการผ่าตัดประกอบไปด้วยการตัดแต่งกระดูก, เลาะกล้ามเนื้อและข้อต่อกระดูกสันหลัง เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และใส่เหล็กเพื่อดัดดามกระดูกสันหลังให้ได้แนวกระดูกที่ต้องการ ทั้งนี้ความชำนาญ ประสบการณ์ และความคุ้นเคยในการผ่าตัดของแพทย์ผู้จะทำการผ่าตัด เพื่อให้กระดูกกลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด

 

ภาวะโรคกระดูกสันหลังคด สามารถรักษาให้กลับมาใกล้เคียงภาวะปกติได้ หากได้รับการรักษาโดยถูกวิธีและในเวลาที่เหมาะสม

 


นัดหมายแพทย์

แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ




Loading...