หากคุณกำลังตัดสินใจ และต้องการข้อมูลของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยละเอียดแล้วล่ะก็…เรามีคำตอบให้
Q: ข้อเข่าเทียม จะอยู่ได้นานกี่ปี?
A: จากสถิติโอกาสที่ข้อเข่าเทียมจะหลวมเสียภายใน 10 ปี มีประมาณร้อยละ 2-5 โอกาสที่ข้อเข่าเทียมจะหลวมเสียภายใน 20 ปี มีประมาณร้อยละ 10-15 และโอกาสที่ข้อเข่าเทียมจะอยู่นานกว่า 20 ปี ประมาณร้อยละ 80 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
- การใช้งานของผู้ป่วย
- ความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์กระดูก
- คุณสมบัติของข้อเทียม
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออายุของข้อเทียมเกือบร้อยละ 80 ขึ้นอยู่กับ ข้อ 1 และ 2 สิ่งที่ผู้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมควรทำ คือดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มขึ้น ไม่นั่งยองๆ โดยไม่จำเป็น ไม่วิ่งทางไกล ไม่เล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เช่น ฟุตบอล ถ้าดูแลตัวเองดีออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ให้ตัวเองติดเชื้อที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานๆ ไม่ปล่อยให้ฟันผุ เหงือกอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือเป็นแผลที่เล็บเท้า ปัจจัยที่ดีเหล่านี้จะส่งผลให้ข้อเข่าเทียมมีอายุยาวนานขึ้น
Q: ข้อเข่าเทียมราคาแพง มีอายุการใช้งานนานกว่าข้อเข่าราคาถูกใช่หรือไม่ ?
A: ราคาของข้อที่สูง ไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกถึงคุณภาพข้อที่ดีเสมอไป ต้องประกอบการผ่าตัดให้ข้อเข่าได้กับกายวิภาคของข้อเข่า ความสมดุลของเนื้อเยื่อรอบข้อเข่า ข้อเข่าเทียมราคาสูงหลายชนิด หากประกอบกับข้อเข่าผู้ป่วยไม่ได้ดีอายุการใช้งานก็อาจไม่ยาวนาน
Q: การเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะทำให้ขาสั้นลงหรือไม่ ?
A: ขาไม่สั้นลง แต่ขาจะยาวขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนผ่าตัด เพราะขาที่ผ่าตัดแล้วจะยืดตรงขึ้น เนื่องจากการที่ขาโก่งทำให้คนตัวเตี้ยลง ถ้าขาโก่งทั้งสองข้าง ขาข้างที่ไม่ได้ผ่าจึงสั้นกว่า
Q: สาเหตุใดบ้างที่ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ ?
A: ภาวะเจ็บป่วยทั่วไป เช่น ฟันผุ ไอ ไข้หวัด หรือว่าเป็นงูสวัด ควรรักษาโรคเหล่านี้ให้หายก่อนผ่าตัด เพราะร่างกายต้องแข็งแรงที่สุด ณ วันผ่าตัด ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง แม้จะเป็นโรคที่รักษาไม่หายแต่ก็ต้องควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติเสียก่อน ระดับน้ำตาลไม่ควรเกิน 150 mg/de ความดันโลหิตไม่ควรเกิน 140-150 mmHg ถ้าเป็นโรคหัวใจต้องไปทดสอบและปรึกษาหมอโรคหัวใจก่อนว่าผ่าตัดได้หรือไม่ ถ้าความเสี่ยงสูงก็ยังไม่สมควรผ่าตัดต้องกลับไปรักษาโรคหัวใจให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเสียก่อน
ข้อห้าม ถ้ามีการติดเชื้อรุนแรง ณ วันนั้น ไม่ควรผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อบริเวณรอบข้อเข่า หรือบริเวณอื่นในร่างกาย ควรเลื่อนการผ่าตัด ส่วนภาวะอื่นที่ไม่ควรผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งไม่มีกำลังกล้ามเนื้อเลย ผ่าตัดแล้วก็ไม่สามารถเดินได้ กล้ามเนื้อเป็นพังผืด งอเหยียดไม่ออก หรือเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อเสียไปแล้ว
Q: กรณีเป็นโรคกระดูกทับเส้นประสาทที่บริเวณหลัง ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้หรือไม่?
A: สามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ ยิ่งกว่านั้นการผ่าตัดแล้วอาจช่วยให้โรคดังกล่าวดีขึ้น
Q: ข้อเข่าเทียมที่เป็นโลหะจะเป็นสายล่อฟ้าหรือไม่ ?
A: คำตอบ คือ ไม่เป็น เพราะข้อเทียมทำจากโลหะผสมพิเศษ เช่น ไทเทเนียม โครบอลต์โครเมียม หรือเซรามิก ซึ่งไม่ทำปฏิกิริยากับไฟฟ้า นอกจากนั้น ยังมีความแข็งแรงทนทาน สามารถออกไปเดินเวลาฝนตกได้
Q: ผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกบางจะเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้หรือไม่ ?
A: เปลี่ยนได้แต่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะระหว่างผ่าตัดกระดูกที่บางอาจแตกหักได้ง่ายกว่ากระดูกที่ปกติ และหลังผ่าตัดก็อาจเสี่ยงต่อการหักอีกด้วย นอกจากนั้นต้องเลือกข้อเข่าเทียมที่เหมาะสมกับกระดูกและจัดสมดุลให้ดี ความตึงตัวของเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อเข่าต้องแข็งแรงและมั่นคงพอ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยควรตรวจเพิ่มเติมและรักษาภาวะกระดูกบางด้วย
Q: มีข้อห้ามในการรับประทานอาหารบางชนิด หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมหรือไม่ ?
A: สามารถรับประทานได้ทุกอย่าง ยกเว้นผู้ป่วยที่มีโรคเดิม เช่น โรคเกาต์ ก็ต้องควบคุมอาหารที่กระตุ้นอาการ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานก็ต้องควบคุมแป้งและน้ำตาล สิ่งที่ผู้เปลี่ยนข้อเข่าเทียมควรระวัง คือ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป
Q: การงอเข่าก่อนและหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สามารถทำได้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
A: พิสัยการงอเข่าหลังผ่าตัดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญมากที่สุด คือ องศาการงอเข่าก่อนผ่าตัด ถ้าก่อนผ่าตัดผู้ป่วยปล่อยให้อาการลุกลามจนงอเข่าไม่ได้ หลังผ่าตัดอาจงอเข้าได้มากกว่าเดิมเพียงร้อยละ 20 ถ้าก่อนผ่าตัดยังมีโอกาสจะงอพับได้สุดก็มีสูง และขึ้นอยู่กับแพทย์ผ่าตัดที่จัดสมดุลได้หรือไม่ เลือกขนาดข้อเข่าเทียมได้เหมาะสมหรือไม่ สำหรับข้อเทียมที่ออกแบบมาเพื่อให้รองรับการงอมากเป็นพิเศษ มีส่วนช่วยได้บ้างแต่ไม่มาก อีกปัจจัยที่จะช่วยให้การงอเหยียดเข่าได้มากขึ้น คือ การทำกายภาพบำบัด ฝึกฝนตนเองหลังจากผ่าตัดแล้ว ถ้าหมั่นทำ ขยันทำสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถงอเหยียดเข่าได้มากขึ้น
Q: การผ่าตัดใช้เวลานานเท่าไร ?
A: ผู้ป่วยแต่ละท่าน ใช้เวลาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ และความเชี่ยวชาญของแพทย์ โดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 ชั่วโมง
Q: หลังการผ่าตัด จะต้องพักฟื้นนานเท่าใด ?
A: โดยส่วนใหญ่ประมาณ 24-48 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ทีมงานจะกระตุ้นผู้ป่วยให้ลุก นั่ง ยืน ฝึกเข้าห้องน้ำเอง ช่วยเหลือตัวเองได้ ฝึกยืนเดินรอบห้องได้ ขึ้น-ลงบันไดก่อนกลับบ้านประมาณ 5-10 ขั้น โดยเฉลี่ยจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน ก็สามารถกลับบ้านโดยช่วยเหลือตนเองได้
Q: อายุสูงสุดของผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมคือเท่าไร ?
A: สุขภาพและความแข็งแรงของร่างกายสำคัญมากกว่าอายุ ผู้มีอายุมากกว่า 90 ปีมารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเพราะยังแข็งแรงและช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าสุขภาพทั่วไปแข็งแรงก็สามารถผ่าตัดได้
Q: เคยมีกรณีผ่าตัดเปลี่ยนเข่า 2 ข้างพร้อมกันหรือไม่ ?
A: พิจารณาจากเงื่อนไข คือ สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยต้องแข็งแรง จึงจะสามารถผ่าตัดเข่าทั้งสองข้างพร้อมกันได้อย่างปลอดภัย เช่น ไม่มีโรคร้ายอย่างโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทีมแพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญเพื่อใช้เวลาการผ่าตัดให้พอเหมาะไม่นานเกินไป รวมทั้งต้องมีทีมนักกายภาพบำบัดคอยดูแล ทีมวิสัญญีและทีมแพทย์ตัองตรวจสอบระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วด้วยความเชี่ยวชาญ จึงจะทำให้การผ่าตัดนั้นปลอดภัย
Q: ผ่าตัดเข่าและสะโพกพร้อมกันได้เลยหรือไม่ ?
A: การผ่าตัดเข่ากับสะโพกพร้อมกันพบได้บ้าง แต่ไม่นิยมทำ เพราะการผ่าตัดแต่ละอย่างถือว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ ดังนั้นการผ่าพร้อมกันจึงมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดสะโพกพร้อมกัน 2 ข้าง หรือผ่าตัดข้อเข่าพร้อมกัน 2 ข้าง และโดยทั่วไปมักพบว่าเป็นข้อสะโพกเสื่อมหรือข้อเข่าเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ค่อยพบว่าทั้งข้อสะโพกและข้อเข่าเสื่อมพร้อมกัน
Q: รู้สึกชารอบแผลเพราะเหตุใด ?
A: หลังการผ่าตัดอาจรู้สึกชารอบแผลได้ เนื่องจากเส้นประสาทสัมผัสสูญเสียการทำงานชั่วคราว แต่ไม่มีผลเสีย และจะหายเป็นปกติเกือบทั้งหมดในช่วง 3 เดือนแรก
Q: ขาบวมหลังการผ่าตัดเพราะเหตุใด ?
A: มักเกิดจากการไหลกลับของหลอดเลือดดำสู่หัวใจช้าลง เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ขาบีบตัวน้อยลง แก้ไขโดยการยกขาสูงในขณะที่นั่ง นอน ถ้ามีอาการบวมมากกว่าปกติหรือปวดร่วมด้วย ต้องระวังเรื่องเส้นเลือดดำอุดตัน
Q: ข้อเข่าเทียมงอได้มากที่สุดเท่าใด ?
A: หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ควรงอเข่าได้อย่างน้อย 90 องศา ถ้าข้อติดมากกว่าปกติควรปรึกษาแพทย์
Q: เหตุใดจึงมีเสียงดังคลิก กรอบแกรบเมื่อขยับข้อเข่า ?
A: หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เมื่อเหยียดงอเข่าอาจมีเสียงดังคลิก กรอบแกรบได้ ซึ่งเป็นเสียงของลูกสะบ้าสัมผัสกับข้อเทียมซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเสียงดังและปวด ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะแสดงว่าต้องมีสิ่งผิดปกติ อาจเป็นเพราะมุมหรือทิศทางของข้อเทียมไม่เข้าที่เท่าที่ควรจะเป็น หรือเอ็นฉีกขาด เป็นต้น
Q: การดูแลตนเองและข้อเข่าเทียมหลังผ่าตัด
A:
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป
- ออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน กอล์ฟ เต้นรำ (แต่อย่าฝืนบริหารจนเกินกำลัง) หลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้แรงปะทะและการกระโดดแรงๆ เช่น ฟุตบอล วิ่งทางไกล
- งดการนั่งยองๆ นั่งไขว่ห้าง นั่งพับเพียบ นั่งเก้าอี้เตี้ยๆ โดยไม่จำเป็น
- ดูแลสุขอนามัยของร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- มาตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
Q: ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นภายหลังผ่าตัด คืออะไร
A: ติดเชื้อ พบได้ประมาณร้อยละ 1-2 เลือดคั่ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในบางครั้ง แผลแยก ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา ข้อเข่าไม่มั่งคง เส้นเลือดฉีกขาด เส้นประสาทถูกกระทบกระเทือน ติดเชื้อทางปัสสาวะ ปัญหาด้านการหายใจ เสียชีวิตจากผลแทรกซ้อนต่างๆ
Q: วิธีการป้องกันการติดเชื้อทำอย่างไร ?
A: ในช่วง 2 ปี หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม หากจำเป็นต้องทำฟัน หรือส่องกล้องเพื่อตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยควรได้รับยาปฏิชีวนะก่อนรับการทำหัตถการนั้นๆ และหากผู้ป่วยต้องได้รับการทำหัตถการทางการแพทย์อื่นๆ ทุกชนิด เช่น ผ่าตัดตา ผ่าตัดทางเดินอาหาร ฯลฯ ผู้ป่วยควรได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อข้อเข่าเช่นกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ผู้ทำการรักษา
Q:ท่าบริหารร่างกายหลังการผ่าตัดควรทำอย่างไร ?
A: ระยะที่ 1 เมื่อนอนอยู่บนเตียง
- ท่าที่ 1 หักปลายเท้าขึ้นลงอย่างน้อย 20 ครั้ง ทุกๆ 30 นาที
- ท่าที่ 2 นอนหงาย เหยียดเข่าตึง เกร็งขาแนบเตียง ค้างไว้ นับ 1-10 ทำอย่างน้อย 10 นาที ต่อเนื่องกัน
ระยะที่ 2 เมื่อลุกนั่งได้
- ท่าที่ 1 นั่งห้อยขาเอาขาข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด ช้อนขาข้างที่ผ่าตัดแล้วเกร็งยกขาข้างที่ผ่าตัดขึ้น-ลง ทำ 20 ครั้ง/รอบ วันละ 3 รอบ
- ท่าที่ 2 นั่งห้อยขาเอาขาข้างที่ไม่ผ่าตัดกดขาข้างที่ผ่าตัดให้ชิดขอบเตียง ทำ 20 ครั้ง/รอบ วันละ 3 รอบ (หรือเท่าที่ทำได้)
- ท่าที่ 3 นั่งห้อยขาเหยียดเข่าตรง กระดกปลายเท้าขึ้น เกร็งค้าง นับ 1-10 แล้วเอาลงนับเป็น 1 ครั้ง ทำ 20 ครั้ง/รอบ วันละ 3 รอบ
Q: ลักษณะท่าทางที่ถูกต้องของการ นั่ง เดิน ยืน หลังผ่าตัดควรทำเช่นไร ?
A: กรณีใช้ walker จากท่านั่งเพื่อยืน ควรนั่งตัวตรงขยับ walker เข้าใกล้ตัว ก้าวขาข้างที่ผ่าไปด้านหน้าต่อขาอีกข้างเล็กน้อย แล้วก้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย มือทั้งสองจับ walker ให้แน่นและค่อยๆ ขยับขาอีกข้างมาให้เท่ากัน
การใช้ walker ท่ายืนไปเดิน ยก walker ไปด้านหน้าพอประมาณ แล้วก้าวขาข้างที่ผ่าไปด้านหน้า และก้าวขาอีกข้างตามไปให้เท้าทั้งสองเท่ากัน
การขึ้นบันได ยืนตัวตรงมือทั้งสองจับราวบันได ก้าวขาข้างที่ปวดน้อยหรือข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดขึ้นก่อน แล้วจึงก้าวขาอีกข้างขึ้นตามมาที่ขั้นเดียวกันไปเรื่อยๆ จนถึงชานพัก
การลงบันได ยืนตัวตรงมือทั้งสองจับราวบันได ก้าวขาข้างที่ผ่าหรือขาข้างที่ปวดมากลงก่อน แล้วก้าวขาอีกข้างตามลงมาที่ขั้นเดียวกัน ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงพื้น
การเข้าห้องน้ำ ท่าถอยเพื่อนั่งชักโครก ยืนตัวตรงให้ตรงกับชักโครก แล้วค่อยๆ ขยับขาข้างที่ไม่ได้ผ่าหรือข้างที่ปวดน้อยกว่าไปก่อน แล้วก้าวขาอีกข้างพร้อมขยับ walker ตาม ถอยไปเรื่อยๆ จนกระทั่งขาทั้งสองข้างแตะกับชักโครก แล้วก้าวขาข้างที่ผ่าหรือข้างที่ปวดมาด้านหน้าแล้วค่อยๆ ก้มตัวมาด้านหน้า หย่อนสะโพกลงที่ชักโครกช้าๆ เพื่อนั่งชักโครก
การเข้าห้องน้ำ ท่าลุกจากชักโครก ขยับ walker เข้ามาใกล้ตัว ใช้มือทั้งสองข้างจับที่ walker หรือจับราวช่วยพยุงในห้องน้ำ ก้าวขาข้างที่ผ่ามาด้านหน้าต่อขาอีกข้าง โน้มตัวมาด้านหน้าและค่อยๆ ลุกขึ้นยืดตัวตรง แล้วก้าวขาอีกข้างมาเท่ากันแล้วเดินออกมาจากห้องน้ำ
ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 3 เราให้การดูแลคนไข้ทุกคนอย่างเป็นระบบ ด้วยทีมที่มีความพร้อมทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจและความสามารถแบบเฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์ ทีมแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ทีมพยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และเภสัชกร ที่พร้อมในการดูแลสุขภาพของคนไข้ทั้งก่อนและหลังผ่าตัดที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาให้ดียิ่งขึ้น ให้คนไข้กลับมามีข้อดี