เด็กวัยอนุบาล ช่วง 2-5 ขวบนี่ล่ะ ที่นับสถิติป่วยบ่อย หยุดเรียน และหาหมอกันเป็นว่าเล่น เพราะเด็กวัยอนุบาลยังมีภูมิต้านทานที่ไม่แข็งแรงพอ เมื่อต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเยอะๆ แล้ว แน่นอนว่าการแพร่เชื้อต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือ 5 โรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมรับมือไว้เลยว่า ลูกน้อยวัยอนุบาลของเรา อาจต้องเป็นบ่อยเมื่อเข้าสู่วัยเรียน
ท้องร่วง ท้องเสีย
นี่คือโรคที่พบบ่อยมากที่สุดในบรรดาโรคติดเชื้อทั้งหมดของเด็กเล็ก เกิดจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ทำให้เกิดการถ่ายเหลวเป็นน้ำ แต่อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดก่อนการถ่ายเหลว ปกติแล้วอาการจะไม่รุนแรง แต่ถ้าอาการรุนแรงเด็กจะขาดน้ำและจำเป็นต้องรีบพบแพทย์ด่วน เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นเมื่อเด็กมีอาการโรคท้องร่วงท้องเสีย ควรให้เด็กดื่มน้ำทดแทนให้เพียงพอ หรือน้ำผสมเกลือแร่เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลียเพราะขาดเกลือแร่
ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อได้จากการหายใจเอาเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศเข้าไปในร่างกาย หรือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดใหญ่นี้สามารถเป็นได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีร่างกายไม่แข็งแรง การเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัดก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเหมือนกัน มีสถิติว่าในปี 2559 ที่ผ่านมา มีคนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สูงถึง 1 แสนกว่าคน และผู้ป่วยที่พบเยอะที่สุดคือ เด็กอายุไม่เกิน 4 ปี ซึ่งเด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการจะไม่รุนแรง และสามารถหายได้ภายใน 5-7 วัน อย่างไรก็ตามไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
อีสุกอีใส
เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสที่สามารถติดกันได้จากการ ไอ จาม หายใจรดกัน หรือเมื่อเด็กสัมผัสหรือใช้ของร่วมกับเด็กอื่นๆ ที่เป็นโรคนี้ก็สามารถติดเชื้อนี้ได้ เมื่อเด็กได้รับเชื้อมาแล้ว จะมีระยะเวลาการฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็จะเริ่มแสดงอาการต่างๆ เช่น มีผื่นขึ้นที่ตัวและหน้า มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสๆ และมีอาการคันร่วมด้วย แต่ไม่นานหลังจากนั้นประมาณ 2-4 วัน ตุ่มจะตกสะเก็ด ถ้าไม่รักษาความสะอาดให้ดี ไปแคะ แกะ เกา ตุ่มเหล่านี้อาจกลายเป็นแผลเป็นหลังจากที่หายแล้วก็ได้ ดังนั้นจะต้องใช้สบู่ฟอกทำความแผลให้สะอาดอยู่เสมอ ล้างมือเป็นประจำ ไม่ใช้ของร่วมกับเด็กที่ป่วย
โรคมือเท้าปาก
อาการของโรคนี้ถึงแม้อาจจะคล้ายกับอีสุกอีใสคือ จะมีไข้ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร และที่สังเกตได้ชัดคือ มีผื่นหรือจุดแดงเฉพาะบริเวณมือ เท้า และในปากของเด็ก และจากจุดแดงๆ อาจจะกลายเป็นตุ่มน้ำได้ภายหลังแต่จะไม่คัน (แต่ถ้าเป็นอีสุกอีใสจะมีผื่นแดงขึ้นทั้งตัวพร้อมกับมีไข้ใน 1-2 วันแรกที่เป็น) เราจึงสามารถแยกโรคทั้งสองชนิดนี้ได้จากการสังเกตผื่นแดงๆ ของเด็ก ตุ่มน้ำและผื่นแดงจะหายไปเองภายใน 10 วัน และไข้ก็จะหายภายใน 3-4 วัน แต่จะมีเพียงบางรายเท่านั้นที่อาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงเช่น ปวดหัวมาก ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบได้ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันมาจากการไอ จาม หรือละอองน้ำมูกของเด็กทีป่่วย การป้องกันเราก็ทำได้เพียงแค่รักษาความสะอาด หมั่นล้างมือเสมอ เลี่ยงการคลุกคลีและการใช้ของร่วมกับผู้ป่วย
โรคตาแดง
เป็นอีกหนึ่งโรคติดเชื้อที่น่ากังวัลสำหรับเด็ก ติดกันได้ง่ายมาก แค่คลุกคลี ใช้ของร่วมกัน สัมผัสกับผู้ป่วย หรือปล่อยให้แมลงวี่แมลงวันตอมตาก็มีโอกาสเป็นได้ แม้ว่าหลายคนอาจมองข้ามโรคนี้ไป เพราะคิดว่าโรคนี้ไม่ค่อยรุนแรง แต่ความจริงแล้ว หากไม่รีบรักษาหรือปล่อยไว้อาจทำให้ตาบอดได้ โดยเชื้อโรคตาแดงนี้มักจะระบาดในที่แออัดหรือมีคนอยู่มาก เช่น โรงเรียน สระว่ายน้ำ เมื่อติดเชื้อตาแดงแล้ว เด็กจะมีขี้ตามากในช่วงเช้า มีน้ำตาไหล เจ็บตา เคืองหรือแสบตา เชื้อไวรัสจะทำให้เยื่อบุตาภายในหนังตาเกิดการอักเสบ บวมและทำให้ตาแดง จะมีอาการอยู่ประมาณ 4-7 วันหลังจากนั้นจะค่อยๆ หายไป ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นตาแดง หมั่นให้ลูกน้อยรักษาความสะอาด ล้างมือให้สะอาดและไม่อยู่ใกล้กับคนที่ป่วยเป็นตาแดงอยู่
และทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังลูกให้ระมัดระวังตัวเอง เรียนรู้และรักษาสุขอนามัย ทั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อที่อาจติดมาจากโรงเรียน และป้องกันลูกที่ป่วยนำเชื้อโรคไปติดเพื่อนที่โรงเรียนเช่นกัน จะอาจช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อในหมู่เด็กอนุบาลและประถมลงได้