ที่ลูกน้อยร้องไห้จ้า...อาจเป็นเพราะ 5 โรคลำไส้ในเด็กเล็กนี้

ที่ลูกน้อยร้องไห้จ้า...อาจเป็นเพราะ 5 โรคลำไส้ในเด็กเล็กนี้

นอกจากโรคเด็กทั่วๆ ไปแล้ว “โรคลำไส้” ในเด็กก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมีเด็กแรกเกิดจนถึงขวบปีแรกที่ต้องทรมานกับโรคนี้ไม่น้อยเลย แถมลูกน้อยก็บอกเราไม่ได้ ต้องทนปวดท้องและร้องไห้งอแงโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้สาเหตุ โดยโรคลำไส้ที่พบบ่อยในเด็กช่วงวัยนี้ แบ่งออกได้เป็น 5 โรคด้วยกัน

 

ท้องผูก

โรคท้องผูกในเด็กเล็กมีสาเหตุหลักๆ อยู่ 2 กลุ่ม คือ มีลำไส้ผิดปกติมาตั้งแต่เกิด เช่น ผนังลำไส้ไม่มีปมประสาท ทำให้เด็กไม่สามารถถ่ายเองได้ ต้องมีการสวนหรือเหน็บอยู่บ่อยๆ กับกลุ่มที่มีลำไส้ปกติดี แต่กินผักผลไม้น้อย หรือเด็กบางคนเคยมีประสบการณ์การถ่ายอุจจาระที่แข็ง เบ่งยาก หรือมีการฉีกขาดของรูทวาร ทำให้เด็กฝังใจและรู้สึกกลัว เลยเลือกที่จะกลั้นอุจจาระเอาไว้

    • ลูกจะมีอาการ: ท้องอืดจากภาวะลำไส้ใหญ่อุดตัน สังเกตง่ายๆ ว่าเด็กกำลังกลั้นอุจจาระ ก็คือ เขย่งขา เกร็งขา ทำขาไขว้กัน บีบก้น และชอบเข้ามุม
    • วิธีดูแล: ในกลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติของลำไส้มาตั้งแต่เกิด จำเป็นต้องแก้ด้วยการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่ผิดปกติทิ้ง แต่ในกลุ่มเด็กที่มีลำไส้ปกติดี สามารถแก้ได้ด้วยการกินผักผลไม้ให้มากขึ้น หรือกินยาที่ช่วยทำให้อุจจาระนิ่ม

 

ลำไส้อักเสบ หรือติดเชื้อในลำไส้ อุจจาระร่วง

เป็นโรคฮิตที่สุดในกลุ่มเด็กเล็ก จากการศึกษาพบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีอุจจาระร่วงประมาณ 5-6 ครั้งต่อปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็เกิดจากเชื้อไวรัสประมาณ 50-60% และเชื้อแบคทีเรียอีก 30% ที่เหลืออาจเป็นสาเหตุอื่นๆ เช่น อาหารเป็นพิษ

    • ลูกจะมีอาการ: ถ่ายเหลวมีน้ำมาก บางกรณีจะมีเลือดปน อาจจะมีไข้ร่วมด้วย หากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส อาจจะมีอาการไอ มีน้ำมูกไหลร่วมด้วย ถ้าเด็กมีอาการขาดน้ำมากๆ อย่างต่อเนื่อง จะเริ่มมีอาการปากแห้ง น้ำลายน้อย เบ้าตาลึก ปัสสาวะน้อยผิดปกติ ซึม และตัวเย็น
    • วิธีดูแล: เมื่อแน่ใจว่าร่างกายลูกสูญเสียน้ำ อาจจะให้ลูกดื่มเกลือแร่ หรือ ORS ทีละน้อยๆ บ่อยๆ ถ้าเด็กดื่มได้โดยไม่อาเจียนหลังผ่านไปซัก 4 ชั่วโมง ให้เริ่มลองทานอาหารอ่อนๆ อย่างโจ๊กหรือข้าวต้ม แต่ถ้าลูกยังมีอาการถ่ายอยู่ มีอาเจียนซ้ำๆ ไม่หยุด ให้รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน

 

ลำไส้อักเสบจากการแพ้โปรตีน

ที่พบบ่อยที่สุดคือแพ้โปรตีนนมวัว รองมาคือโปรตีนจากถั่วเหลือง ไข่ หรืออาหารทะเล สำหรับการแพ้นมวัวนั้นเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กผิดปกติ ทำให้ทำปฏิกิริยากับโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของนมวัว

    • ลูกจะมีอาการ: ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายมีมูกเลือดปน
    • วิธีดูแล: ให้ลูกงดอาหารที่แพ้ และในการแพ้อาหารนั้น ที่สำคัญควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง พ่อแม่ไม่ควรคาดเดาด้วยตัวเองหรือปรับการกินด้วยตัวเอง เพราะ 15-45% ของเด็กที่แพ้นมวัว ก็มักจะแพ้นมถั่วเหลืองด้วยเหมือนกัน

 

ลำไส้สั้น

เกิดจากความผิดปกติของทางเดินอาหารที่มีมาตั้งแต่กำเนิด หรือในกรณีที่ทารกคลอดก่อนกำหนด และมีภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงลำไส้

    • ลูกจะมีอาการ: ถ่ายเหลว มีน้ำเยอะ และสังเกตได้ว่าเด็กจะไม่เจริญเติบโตตามวัยเท่าที่ควร นั่นเพราะลำไส้เล็กมีหน้าที่ดูดซึมน้ำ สารอาหาร และแร่ธาตุต่างๆ เมื่อลำไส้เล็กถูกตัดออกไปการดูดซึมต่างๆ ก็ทำได้ไม่ดี
    • วิธีดูแล: ส่วนใหญ่เคสนี้รักษาด้วยการผ่าตัดลำไส้ออกบางส่วน แต่ยังเหลือความยาวลำไส้เล็ก ไว้บ้าง เพื่อให้เด็กสามารถรับอาหารทางปาก หรือทางสายให้อาหารทางกระเพาะอาหารได้ แต่ถ้าเคสที่ลำไส้เล็กมีขนาดสั้นมากๆ ก็จำเป็นต้องให้อาหารทางหลอดเลือดแทน

 

ลำไส้กลืนกัน

โรคนี้เกิดได้กับเด็กตั้งแต่วัยทารกและไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าเกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณส่วนปลายของลำไส้เล็กโตขึ้น ลำไส้เล็กเลยมุดตัวเข้าไปในลำไส้ใหญ่

    • ลูกจะมีอาการ: เด็กจะร้องไห้งอแงเพราะปวดท้อง เมื่อดื่มนมหรือทานอาหารเข้าไปก็จะดีขึ้นสักพัก แต่ก็จะปวดขึ้นมาอีก บางครั้งอาจมีสีน้ำดีปนออกมากับอาเจียน นั่นเพราะมีการอุดตันของลำไส้ เมื่อลำไส้กลืนกันมากๆ อาจจะเริ่มขาดเลือด เวลาถ่ายจะสังเกตได้ว่ามีเลือดปนออดมาด้วย อาจมีไข้ และมีอาการซึมอย่างสังเกตได้
    • วิธีดูแล: ถ้าปล่อยให้ลำไส้กลืนกันนานๆ ลำไส้จะขาดเลือด สุดท้ายอาจมีการเน่าตายของลำไส้ได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะปล่อยเฉยไม่ได้ การรักษาโรคนี้มีอยู่ 2 แบบ คือ ดันลำไส้ส่วนที่กลืนกันออกมาโดยใช้แรงดันจากการสวนลำไส้ใหญ่ ซึ่งถ้าสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ถ้าไม่สำเร็จ การผ่าตัดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษา โดยคุณหมอจะใช้มือบีบดันลำไส้ส่วนที่กลืนกันให้คลายตัวออก หรือในเคสที่มีการเน่าตาย ก็จำเป็นต้องตัดลำไส้ส่วนนั้นออก และต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน

หากลูกน้อยของคุณมีอาการที่สงสัยได้ว่า อาจเป็นโรคลำไส้ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือมีอาการร้องไห้ไม่หยุดเหมือนว่ากำลังปวดท้อง ควรลองพามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์ เพราะคุณพ่อคุณแม่คงไม่อยากให้ลูกป่วยกายแน่นอนใช่ไหม เพราะ “ลูกสุขกาย…เราสุขใจ”


แชร์

หากสนใจต้องการปรึกษาแพทย์

กรุณากรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ



Loading...