กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง…อีกหนึ่งโรคที่คนออฟฟิศ ต้องระวัง!
1.กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Myocarditis) อาจเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว
อาการแรกเริ่มของโรคนี้เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย อาเจียน อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้า บางคนหายใจลำบาก หมดสติ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจทำให้เสียชีวิตฉับพลันได้ ดังนั้นถ้าไม่รีบเช็กร่างกายและรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังได้ในระยะยาวโรคนี้ยากต่อการวินิจฉัย ต้องผ่านหลายกระบวนการทั้งการตรวจกราฟไฟฟ้าหัวใจ (ECG -electrocardiogram) เอกซเรย์ปอด ผลการตรวจเลือดกล้ามเนื้อหัวใจ การตรวจหัวใจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องแม่เหล็กหัวใจ (Cardiac magnetic resonance imaging) และสุดท้ายคือการตรวจหาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจโดยการตัดตัวอย่างกล้ามเนื้อหัวใจไปตรวจสภาวะการอักเสบ (Endomyocardial biopsy)
2.ครั่นเนื้อครั่นตัว
น่ากลัวจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบทั่วตัว อาการของโรคนี้เริ่มตั้งแต่การครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกอ่อนแรงยกแขนไม่ค่อยขึ้น บางคนที่มีอาการรุนแรงจนไม่สามารถลุกขึ้นจากเตียงได้จากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กลืนอาหารไม่ได้ หายใจลำบาก อาจร้ายแรงจนถึงขั้นระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเพราะกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจเกิดการอักเสบซึ่งจากการศึกษาพบว่าโรคกล้ามเนื้ออักเสบทั่วตัวเกิดจากความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย การวินิจฉัยโรคนี้มีหลายขั้นตอนเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน ทั้งการดูประวัติและการตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ และการตัดตรวจชิ้นเนื้อของกล้ามเนื้อ ซึ่งการตรวจเลือดยังใช้ติดตามการรักษาโรคนี้อีกด้วย
3.ออฟฟิศซินโดรม
ภัยร้ายใกล้ตัวคนทำงาน กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังเป็นหนึ่งในอาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเลื่อนสถานะสู่ผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม ชื่อของโรคนี้บ่งบอกดีว่าเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานในอิริยาบถเดิมๆ เป็นเวลานานส่วนอาการอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย เช่นปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งอักเสบ นิ้วล็อก เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ เป็นต้น
โรคเหล่านี้น่ากลัวตรงที่หากไม่รีบดูแลและรักษา อาจเป็นสะพานพาคุณไปสู่โรคและอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน นัยน์ตาและการมองเห็น
ดังนั้น ถ้าเริ่มสงสัยว่าตัวเองกำลังมีอาการอย่างที่กล่าวไป ก็อย่าชะล่าใจ ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและรักษาอย่างถูกวิธีให้เร็วที่สุดจะดีกว่า เพราะความล่าช้าจากการคิดว่า “ไม่เป็นไร” อาจนำหายนะมาสู่ร่างกายของคุณได้