มารู้จัก “ต้อหิน” โรคร้ายที่กว่า 90% ของคนไทยเป็น แต่ไม่เคยรู้ตัว
เชื่อหรือไม่ว่า “โรคต้อหิน” ไม่ใช่แค่โรคของคนสูงวัย แต่มนุษย์ทำงานอย่างเราก็มีความเสี่ยงตาบอดจากโรคต้อหินนี้ได้เหมือนกัน แต่ว่าโรคนี้เป็นแล้วจะมีอาการอย่างไร มีวิธีรักษาแบบไหน เรามีคำตอบมาฝาก
“ต้อหิน” ไม่ใช่ว่ามีหินอยู่ในตา
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดไปเองว่าโรคต้อหินนั้นคือการมีก้อนหินอยู่ในตา เพราะความจริงแล้วมันเกิดจากความดันในตาสูง ที่เวลาคลำจะรู้สึกถึงวามแข็งที่ผิดปกติของลูกตา และถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่มีตัวต้อเหมือนต้อชนิดอื่นๆ แต่ก็มีความรุนแรงไม่แพ้กันจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตาบอดรองจากต้อกระจกเลยทีเดียว นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องของพันธุกรรม โรคประจำตัวอื่นๆ ก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องได้เหมือนกัน ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วเรามักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายก็ตาม
5 ชนิดของต้อหิน ที่ต้อง “รู้จัก”
โรคต้อหินนั้นมีอยู่หลายแบบ แต่ชนิดของต้อหินที่พบได้บ่อยนั้นมีอยู่ 5 แบบ นั่นก็คือ
- ต้อหินมุมเปิดเรื้อรัง ที่สามารถแตกย่อยออกมาเป็น 2 ประเภท คือแบบที่เกิดจากความดันลูกตาสูง ที่มีการพบมากถึง 90% โดยจะค่อยๆ เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนอีกประเภทคือชนิดที่มีความดันลูกตาปกติแต่ทำลายตาไปเรื่อยๆ ซึ่งการรักษาจะต้องทำให้ความดันลูกตาลดลงจากเดิม
- ต้อหินมุมปิด ถึงจะพบได้น้อยกว่า แต่ก็มองข้ามไม่ได้ ต้อหินมุมปิดนี้ เกิดจากโครงสร้างของลูกตาที่ผิดปกติ หรือการใช้ยาหยอดตาในกลุ่มอะโทรปีน (Atropine) หรือแอนติสปาสโมดิก (Antispasmodics) ที่มีฤทธิทำให้รูม่านตาขยายตัว รวมไปถึงเวลาที่เรามีอารมณ์โกรธ ตกใจ เสียใจ ก็จะทำให้เลือดสูบฉีด เป็นผลให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นต้อหินเฉียบพลันได้ภายใน 1-2 วัน โดยจะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ บางคนอาจมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
- ต้อหินชนิดแทรกซ้อน เกิดจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ต้อกระจก, เนื้องอกในตา, ม่านตาอักเสบ, เลือดออกในตา, หรือการใช้ยาหยอดตาที่มีเสตียรอยด์เป็นเวลานานๆ
- ต้อหินในเด็ก ถึงแม้จะดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนในวัยทำงานอย่างเรา แต่ถ้าใครที่วางแผนจะมีเจ้าตัวน้อย ก็ต้องระวังไว้ให้ดี เพราะต้อหินนี้สามารถเจอได้ประมาณ 1 ใน 10,000 คนเลย ซึ่งมีทั้งที่เป็นตั้งแต่แรกเกิด ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี และโตกว่า 3 ปี
- ภาวะสงสัยต้อหิน คือคนที่มีอาการบางอย่างเหมือนต้อหินเรื้อรังแต่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคต้อหินเรื้อรัง การรีบมารับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมทำให้การวางแผนรักษามีประสิทธิภาพมากกว่า
สังเกต “อาการ” ก่อนสายจนเกินรักษา
เราสามารถแบ่งอาการของต้อหินออกเป็น 2 แบบ คือต้อหินเฉียบพลัน และต้อหินเรื้อรัง ซึ่งอาการของต้อหินเฉียบพลันนี้จะมีอาการหลักๆ อยู่ 3 อย่าง คือปวดตา ตาแดง และตามัว ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานอาจะทำให้ตาบอดจนรักษาไม่ทัน ซึ่งเมื่อตาบอดแล้วก็อาจมีอาการปวดตา ปวดศีรษะอย่างรุนแรงได้ แต่ความจริงแล้วเราสามารถป้องกันได้หากรู้ว่ามีอาการโดยการยิงเลเซอร์เพื่อสร้างรูที่ม่านตา ส่วนอาการของต้อหินเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวลงทีละน้อย โดยในระยะแรกอาจจะไม่ปวดตา ตาไม่แดง หรือบางรายอาจปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย หรือตาพร่าเร็วกว่าปกติเวลาที่อ่านหนังสือ ซึ่งจะมีอาการทั้งสองข้างและอาจตาบอดได้ในเวลา 5-10 ปี ที่เรียกกันว่า “ตาบอดใส” นั่นเอง
ถึงแม้เราอาจจะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคต้อหินได้แบบ 100% แต่การตรวจความดันลูกตาให้ได้อย่างน้อยปีละครั้ง ก็ช่วยลดโอกาสในการเกิดต้อหินจนลุกลามกลายเป็นตาบอดได้