มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคร้ายที่พบได้มากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และเป็นอันดับ 5 ในเพศหญิง โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเราเองนั่นแหละ โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดสัดส่วน กินแต่เนื้อสัตว์สีแดง ไม่มีผักและผลไม้ ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย ปล่อยให้ท้องผูก ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จัด ใครที่มีพฤติกรรมเหล่านี้แม้เพียงข้อสองข้อ…มะเร็งลำไส้ใหญ่วนอยู่รอบตัวคุณใกล้เวอร์!
เริ่มจากติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ตัดได้ไว…โอกาสหายสูง!
มาทำความเข้าใจกลไกการเกิดโรคมะเร็งสำไส้ใหญ่และทวารหนักกันก่อนว่า เป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ พัฒนาไปจนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในที่สุด หากเราสามารถตรวจพบอาการผิดปกตินี้ได้ตั้งแต่การเป็นติ่งเนื้อและสามารถตัดออกไปได้ทัน! ก็จะทำลายโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งจากข้อมูลทางทฤษฎีพบว่าติ่งเนื้อขนาด 1 ซม.จะใช้เวลานานถึง 10 ปีในการพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมาในอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลาม
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ตลอดความยาวโดยตรง เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่และทวารหนักทั้งหมด โดยสามารถตัดเอาติ่งเนื้อที่เสี่ยงกลายเป็นมะเร็งออกไปได้ เป็นวิธีตรวจที่แม่นยำที่สุด
อาการเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- พบอาการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย ท้องเสียสลับท้องผูก
- อุจจาระมีขนาดเล็กลง
- พบเลือดหรือมูกออกทางทวารหนัก หรือปนมากับอุจจาระ
- อึดอัดแน่นท้อง ปวดท้อง ท้องอืด มีอาการเกร็งคล้ายเป็นตะคริวในท้อง
- มีอาการเกิดจากลำไส้อุดตัน เช่น มีไข้ ไม่ถ่าย ไม่ผายลม ท้องอืด
- ซีสต์ โลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร รู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- คลำพบก้อนบริเวณท้อง
รักษาตามระยะ ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ลุกลาม
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่แต่ละระยะ ยังมีความแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรค แบ่งออกตามระยะโรค ดังนี้
- ระยะที่ 0 เซลล์มะเร็งที่เป็นเพียงติ่งเนื้อ ซึ่งสามารถตรวจพบได้จากการส่องกล้อง (Colonoscopy) สามารถตัดออกผ่านทางกล้องไปได้ ตั้งแต่ก่อนการเป็นมะเร็งหรือเกือบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีโอกาสหายขาด 100%
- ระยะที 1 เซลล์มะเร็งระยะเติบโตขึ้น เริ่มฝังในชั้นผนังของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยยังไม่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงหรือต่อมน้ำเหลือง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ Curative resection เป็นการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนที่ดีมาต่อกัน ทั้งยังเป็นเทคนิคที่ใช้ผ่าตัดในมะเร็งทวารหนักร่วมด้วยได้
- ระยะที 2 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายผ่านผนังลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนักไปสู่เนื้อเยื่อใกล้เคียง แต่ยังไม่กระจายถึงต่อมน้ำเหลือง สามารถใช้การผ่าตัดแบบ Curative resection เป็นการรักษาหลักเช่นเดียวกับระยะที 1
- ระยะที 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น รักษาโดยการผ่าตัดแบบ Curative resection ร่วมกับเคมีบำบัดหลังผ่าตัด (ซึ่งมีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด) ในกรณีที่เป็นมะเร็งทวารหนักอาจมีการรักษาด้วยการฉายแสงร่วมด้วย
- ระยะที 4 มะเร็งแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ตับ, ปอด หากก้อนมะเร็งที่ลุกลามไปที่ตับหรือปอดสามารถตัดออกได้ แพทย์จะทำการผ่าตัดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักออก พร้อมผ่าตัดมะเร็งที่ลุกลามไปยังตับหรือปอดออกด้วย แล้วจึงให้ยาเคมีบำบัดต่อไป
ปัจจุบันยังมีเทคนิคการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านทางกล้อง (Laparoscopic Colectomy) ที่ช่วยลดความเสี่ยงหลังผ่าตัด ช่วยลดอัตราการเสียเลือด ตลอดจนขนาดของรอยแผล ที่มีขนาดเล็กเพียง 0.5-1 ซม. โดยยังคงประสิทธิภาพในการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งออกพร้อมต่อมน้ำเหลืองในบริเวณที่เป็นมะเร็งได้ แต่สิ่งที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดในชีวิตอาจเป็นการป้องกันไม่ให้ตนเองและคนที่รักต้องเลื่อนสเตตัสไปเป็นผู้ป่วย..มะเร็งลำไส้ใหญ่