“ใส่ใจกับการเต้นของหัวใจกันสักนิด หมั่นสังเกตดูว่าหัวใจคุณเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอหรือเปล่า หากหัวใจเต้นเร็วเกินไป หรือเต้นช้าเกินไป รวมถึงการเต้นเป็นจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ อย่าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภัยเงียบที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว”
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
เกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ หรือว่าการนำกระแสไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน ซึ่งจะทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือเต้นช้ากว่าปกติ หรือเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ
สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
แบ่งเป็น 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่
- สาเหตุจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง
- สาเหตุที่ไม่ได้มาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากยาบางชนิด หรือการใช้ยาเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นหัวใจ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่นผิดปกติ หน้ามืด เป็นลม จุกแน่นลิ้นปี่ เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลียไม่มีแรง หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจลำบาก โดยปกติคนเรามีอัตราการเต้นของชีพจร 60-100 ครั้ง/นาที ถ้าเต้นเกิน 100 ครั้ง/นาทีขึ้นไป ถือว่าเร็วกว่าปกติ หรือเต้นช้ากว่าปกติคือต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที และการเต้นของหัวใจปกติจะเต้นจากหัวใจห้องบนลงสู่ห้องล่าง ในบางคนที่พักผ่อนน้อย หรือทานอาหารไม่เพียงพอ เกลือแร่ต่ำผิดปกติ อาจทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่เรียกว่า PVC ก็คือการเต้นของหัวใจจากห้องล่างขึ้นมาห้องบน ซึ่งทำให้บางคนเกิดอาการวูบ หน้ามืด หรือใจสั่น ถ้าผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงหรือมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนอันเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจล้มเหลว หรือการเสียชีวิตกระทันหัน
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค
สามารถเป็นได้ทุกช่วงวัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของหัวใจเต้นผิดจังหวะว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มด้วยกัน 1.) ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 2.) ผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง โรคไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ 3.) ผู้ป่วยสูงอายุ 4.) ผู้ป่วยที่มีการนำสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
การรักษา
หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยแล้ว แพทย์จะประเมินทางเลือกในการรักษา บางรายอาจให้รับประทานยาเพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ในบางรายอาจพิจารณารักษาโดยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติเคยหัวใจล้มเหลวหรือสูงอายุ แพทย์อาจพิจารณาการใส่เครื่องกระตุกหัวใจ เพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้น อย่างไรก็ตามแพทย์จะร่วมประเมินทางเลือกที่เหมาะสมกับความรุนแรงและอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย
การป้องกันไม่ให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ออกกำลังกายอย่างน้อย 30-45 นาที/วัน อย่างน้อย 3-5 วัน/สัปดาห์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมันๆ รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นหัวใจ
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ และไม่เครียดจนเกินไป
- หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
- หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น หรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างถูกต้อง