ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของ “ไข้”
- เป็นไข้ตัวร้อนหลายวัน กินยา นอนพัก เดี๋ยวก็หาย
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้ว ทำไมยังเป็นไข้หวัดได้อีกล่ะ
- ไข้ก็แค่มีน้ำมูก ตัวร้อน ปวดตัว แค่นี้แหละ ไม่เป็นอะไรมากหรอก
แท้จริงแล้ว “ไข้” ที่ว่าเป็นเรื่องธรรมดา อาจไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างที่คุณเข้าใจ
สาเหตุที่ทำให้มีไข้
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. ร่างกายเกิดภาวะการติดเชื้อ
- จากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด เป็นต้น
- จากเชื้อแบคทีเรีย เช่น อาหารเป็นพิษ โรคไอกรน โรคฉี่หนู และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
2. เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันในร่างกาย
3. เกี่ยวกับการอักเสบ
4. ภาวะร่างกายขาดน้ำ
5. การตากแดดเป็นเวลานาน
6. บางครั้งอาจมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ (FUO, Fever of unknown origin) หรือ พียูโอ (PUO, Pyrexia of unknown origin)
อาการไข้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อาการไข้เป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าอุณหภูมิปกติ ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิปกติของร่างกายเกิดจากการทำงานของอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะกล้ามเนื้อและตับ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งเป็นสมองส่วนอยู่ลึกของสมองใหญ่ ทั้งนี้การควบคุมอุณหภูมิของร่ายจะโดยการกำจัดความร้อนที่เกิดในร่างกายออกทางเหงื่อ (ทางผิวหนัง) และทางการหายใจ (ทางปอด)
เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อโรคหรือจากบางสาเหตุ (เช่น มีเลือดออกในสมอง) จะส่งผลกระตุ้นให้สมองไฮโปธาลามัสตอบสนองด้วยการปรับอุณหภูมิร่างกายให้สูงขึ้น เนื้อเยื่อที่จะทำหน้าที่เพิ่มอุณหภูมิของร่างกายตามคำสั่งของสมองคือ กล้ามเนื้อและหลอดเลือด โดยหลอดเลือดจะหดตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนแพร่กระจายออกทางผิวหนังและทางปอด ซึ่งการหดตัวของหลอดเลือดนอกจากส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นแล้ว จะส่งผลให้ผู้มีไข้รู้สึกหนาวจากมีการลดปริมาณของเลือดที่หล่อเลี้ยง นอกจากนั้นกล้ามเนื้อต่างๆจะหดเกร็งจึงก่ออาการหนาวสั่น ซึ่งทั้งหมดคือ อาการไข้ขึ้น
แต่เมื่อการกระตุ้นสมองไฮโปธาลามัสลดลง สมองไฮโปธาลามัสจะตอบสนองด้วยการปรับลดอุณหภูมิร่างกาย หลอดเลือดจะกลับมาขยาย เนื้อเยื่อต่างๆ ได้รับเลือดเพิ่มขึ้น อุณหภูมิในเนื้อเยื่อเหล่านั้นจึงเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงขับความร้อนออกทางเหงื่อ ดังนั้นจึงเกิดอาการเหงื่อออกเมื่อไข้ลดลง
รู้เท่าทันอาการไข้
- เมื่อคุณรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนจะเป็นไข้ ท่านสามารถประเมินอาการเบื้องต้นด้วยการใช้ปรอทวัดไข้ตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย ก่อนใช้ปรอทวัดไข้ ควรสะบัดปรอทวัดไข้ให้ปรอทลงไปอยู่ต่ำสุด อมใต้ลิ้น 3 นาทีแล้วอ่านผล ถ้ามีไข้สูงเกิน 39.4 C ขึ้นไป ควรพบแพทย์ทันที
-
มีอาการขาดน้ำหรือไม่ จะมีอาการของการขาดน้ำ ได้แก่ กระหายน้ำมาก ปัสสาวะน้อย หรือสีเข้มมาก เวียนศีรษะ ปากแห้งมาก ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง ควรพบแพทย์ทันที
ลดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี ?
- เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำ เพื่อลดไข้ และทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างเป็นธรรมชาติ
- หากอาการไข้ทำให้รู้สึกไม่สบายมาก สามารถรับประทานยาลดไข ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง
- อย่าห่อหุ้มร่างกายมากจนเกินไป เพราะจะขัดขวางการระบายความร้อน และการลดอุณหภูมิลงของร่างกาย
- การให้น้ำทดแทน เพื่อชดเชยน้ำซึ่งสูญเสียไปกับเหงื่อโดยการดื่มน้ำประมาณ 1 แก้ว ทุก 2 ชั่วโมง อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำซุป หรือน้ำอื่นๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์
อาการแบบใด..ควรรีบพบแพทย์ ?
- มีไข้สูงเกิน 39.4 C ขึ้นไป
- มีไข้ร่วมกับผื่น ปวดศีรษะอย่างมาก และคอแข็งกระวนกระวายหรือสับสนมาก ไอมีเสมหะสีน้ำตาลหรือเขียว มีอาการปวดผิดปกติขณะปัสสาวะ ปวดท้อง ปวดหลังมาก
- มีอาการขาดน้ำ
- มีไข้หลังจากรับประทานยาบางชนิด
“ไข้” เป็นเรื่องไม่ธรรมดาได้อย่างไร ?
ไข้ที่เราคิดว่าเป็นอาการของโรคที่ธรรมดา สามารถรับประทานยาแล้วอาการจะดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง ไข้ที่ว่าธรรมดา อาจกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ถึงชีวิตได้ หากไม่รีบไปพบแพทย์ เมื่อมีอาการไข้ติดกัน 2 วัน เพราะ
- อาการของไข้อาจกลายเป็นไข้ที่รุนแรงขึ้น
- ไอถี่ เจ็บคอ น้ำมูกไหลตลอดเวลา ปวดเมื่อยตัว รับประทานอาหารไม่ได้ >> ไข้หวัดใหญ่
- ปวดตัวมาก ปวดหัวมาก รับประทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย หลับตลอด >> ไข้เลือดออก
- กลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตเรื้อรัง ปอดเรื้อรัง >> ไข้แบคทีเรียรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือด
- กลุ่มคนที่เดินทางไปต่างจังหวัดและเดินย่ำน้ำท่วมตลอดเวลา >> ไข้มาลาเรีย โรคฉี่หนู
- หากมีไข้ติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์ และยังมีอาการไข้หนาวสั่น บางครั้งเหมือนหวัด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด ปวดกระดูก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ >> มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งไขกระดูก
ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อมีอาการไข้ ?
- กลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เมื่อมีอาการไข้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะคุ้มกันของร่างกายที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ปกติทั่วไป การพบแพทย์โดยทันทีเมื่อมีอาการไข้ จะช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที เพราะอาการของไข้ที่รุนแรงมักจะเริ่มจากอาการของไข้ทั่วๆ ไป ซึ่งควรให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของอาการไข้ให้ชัดเจน ก่อนที่อาการของโรคจะ จะรุนแรงมากขึ้นและถึงแก่ชีวิตได้
- กลุ่มเด็กเล็ก
ป้องกันอาการไข้ได้อย่างไร ?
การป้องกันไข้คือ การป้องกันสาเหตุ ซึ่งสาเหตุไข้ที่พบบ่อยที่สุดคือ จากการติดเชื้อโรค ดังนั้นการป้องกันไข้คือ การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและป้องกันการติดเชื้อซึ่งที่สำคัญ คือ
- หมั่นดูแลสุขอนามัยของตนเองด้วยการล้างมือบ่อยๆ
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดโดยเฉพาะในช่วงมีการระบาดของโรค
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆตั้งแต่แรกเกิดและเป็นระยะๆตามที่สาธารณสุข แพทย์ พยาบาลแนะนำ