การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Test or Lung Function Test)

พญาไท 2

2 นาที

พฤ. 26/03/2020

แชร์


Loading...
การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Test or Lung Function Test)

ที่มาและความจำเป็นในการตรวจสมรรถภาพปอด

การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests) เป็นการตรวจที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งในกระบวนการวินิจฉัย ประเมินและติดตามผลการรักษาโรคระบบการหายใจเช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดจากการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้การตรวจสมรรถภาพปอด ยังสามารถบ่งถึงการเสื่อมของการทำงานของปอดก่อนที่อาการแสดงทางคลินิกจะเริ่มปรากฏ เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีความสามารถสำรองสูง อาการเหนื่อยจึงมักปรากฏหลังจากพยาธิสภาพในปอดเกิดขึ้นมากแล้ว โดยการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยอย่างมากในการออกแรงเป่าอย่างเต็มที่ (maximal effort) การสูดลมและการเป่าต้องทำ ทางปากซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยสำหรับคนส่วนใหญ่ นอกจากนั้นจังหวะในการสูดลมและการเป่ามีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน ผู้ควบคุมการตรวจ (technician) จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจ ความชำนาญ และประสบการณ์ ในการตรวจ ผลการตรวจจึงจะเป็นที่น่าเชื่อถือ

 

การตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธีสไปโรเมตรีย์ (Spirometry)

เป็นการตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอดโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Spirometer วิธีการนี้เป็นการทดสอบสมรรถภาพปอดที่ใช้บ่อยที่สุด เพราะทำได้ง่าย ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์เชื่อถือได้ดีและใช้เครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน กราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาตรและเวลาเรียกว่า Spirogram
เนื่องจากการตรวจวัดที่ได้จากการทำ Spirometry มีหลายค่าด้วยกัน ซึ่งค่าที่ตรวจวัดได้และมีความสำคัญหลักๆต่อการประเมินสมรรถภาพของปอดนั้นมีรายละเอียดดังนี้
1. FVC (Forced Vital Capacity ) คือปริมาตรของอากาศที่เป่าออกอย่างเร็ว แรง จนหมด หลังจากหายใจเข้าอย่างเต็มที่ ผลการประเมินค่า : ค่า FVC แสดงถึงปริมาตรอากาศที่จุอยู่ในปอดเกือบทั้งหมด ค่านี้จะลดต่ำลงเมื่อเนื้อเยื่อปอดมีการ เปลี่ยนแปลงเกิดเป็นพังผืด หรือปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ภาวะเช่นนี้เรียกว่า “ RESTRICTIVE ( มีการจำกัดการขยายตัวของปอด ) ” ค่าปกติ : มากกว่า 80 %
2. FEV 1 (Forced Expiratory Volume in one second) คือปริมาตรของอากาศที่เป่าออกอย่างเร็วแรงในวินาทีที่ 1 ซึ่ง FEV 1 นี้เป็นข้อมูลที่ใช้บ่อยที่สุดในการตรวจสมรรถภาพปอด ผลการประเมินค่า : ค่า FEV 1 นี้ ใช้คำนวณร่วมกันกับ ค่า FVC เพื่อหาค่า FEV 1 / FVC % ค่าปกติ : มากกว่า 80 %
3. FEV 1 / FVC % คือร้อยละของปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมาได้ในวินาทีที่ 1 ต่อปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมาได้มากที่สุดอย่างเร็วแรง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดที่แสดงถึงการอุดกั้นของหลอดลม ผลการประเมินค่า : ค่า FEV 1 / FVC % จะแสดงถึงความสามารถในการที่จะเป่าอากาศออกจากปอด ซึ่งขึ้นอยู่กับการออก แรงของผู้เข้ารับการทดสอบ และลักษณะของทางเดินหายใจ ถ้าทางเดินหายใจถูกอุดกั้น หรือมีความ ยืดหยุ่นตัวลดลง อากาศจะผ่านออกลำบาก ค่าดังกล่าวนี้จะลดน้อยลง ภาวะเช่นนี้เรียกว่า “ OBSTRUCTIVE ( มีการอุดกั้นหรือบีบของหลอดลม ) ” ค่าปกติ : มากกว่า 70 %

 

ความผิดปกติของปอดที่ตรวจพบ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

1. Obstructive หมายถึง มีการอุดกั้นของหลอดลม เช่น ในผู้ที่เป็นโรคหืด โรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง กลุ่มนี้จะตรวจพบค่า FEV1 / FVC ต่ำกว่า 70 % โดยค่า FVC จะปกติ
2. Restrictive หมายถึง ความยืดหยุ่นของปอดลดลง ทำให้ความจุของปอดลดลง เช่น ผู้ที่มีโรคของเนื้อปอด ผู้ที่โครงสร้างกล้ามเนื้อ หรือกระดูกที่ช่วยในการหายใจผิดปกติ กลุ่มนี้จะมีค่า FVC เมื่อเทียบกับมาตรฐานต่ำกว่า 80 % แต่ค่า FEV1 / FVC จะมากกว่า 70 %
3. Combine หมายถึง ผู้ที่ตรวจพบมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่างร่วมกัน

 

กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอด

  • ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ
  • มีอาการไอเรื้อรัง
  • สงสัยจะเป็นโรคหืด
  • สงสัยจะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง
  • อาชีพที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ทำงานภายในโรงงานที่มีฝุ่นควัน ทำงานเกี่ยวกับเหมืองแร่หรือปูน เป็นต้น

 

ภาวะแทรกซ้อนจากทำสไปโรเมตรีย์

แม้ว่าการตรวจสไปโรเมตรีย์เป็นการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้บ้างดังต่อไปนี้
  1. ความดันในกระโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำ ให้เกิดอาการปวดศีรษะ เป็นต้น
  2. เวียนหัว, มึนงง และในบางรายอาจมีอาการหมดสติได้
  3. อาการไอ
  4. หลอดลมตีบ โดยเฉพาะใน ผู้ป่วยหืด หรือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่ยังควบคุมอาการไม่ได้ดี
  5. เจ็บหน้าอก
  6. ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด
  7. ขาดออกซิเจน จากการหยุดให้ชั่วคราวระหว่างการตรวจ
  8. การติดเชื้อ

 

วิธีการดูแลรักษาสุขภาพของปอด

  1. รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายบริหารปอด พักผ่อนให้เพียงพอ ลด-เลิกสูบ บุหรี่
  2. เมื่อมีอาการหวัด/ไอเรื้อรัง/มีเสมหะมาก/หอบ/เหนื่อย /ภูมิแพ้… รีบตรวจรักษา หรือปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด มีฝุ่น ละออง ไอ ควัน ของมลพิษ หรือสารเคมี และการระบายอากาศไม่ดี
  4. ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับฝุ่น สารเคมี หรือสารอันตรายควรตรวจสุขภาพเอกซเรย์ปอด ทดสอบสมรรถภาพปอดประจำปี เมื่อพบความ ผิดปกติต้องรีบรักษาและป้องกัน ต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากฝุ่น หรือสารเคมีที่เหมาะสมถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ขณะ ทำงาน ควรมีความรู้ถึงอันตราย และวิธีการป้องกันสารอันตรายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  5. มีการดำเนินงานเพื่อควบคุม ปิดกั้น หรือลดปริมาณฝุ่นและสารอันตรายทั้งที่แหล่งกำเนิด และที่กระจายในอากาศด้วย

แชร์

Loading...
Loading...
Loading...